ผลสำรวจชี้ คนไทยกว่าครึ่งมีเงินเก็บเพียง 3 พันบาท เรียนรู้วิธีใช้เงินรับมือโควิด-19

ในช่วงเวลาที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 กำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ภาพที่เริ่มเห็นคือ ผู้คนจำนวนมากต่อคิวจ่ายเงินในห้างสรรพสินค้า เพื่อกักตุนอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน แต่ความจริงแล้วการบริหารจัดการเงินให้พร้อมรับมือกับภาวะวิกฤตก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน

dept
สถิติพบว่าคนไทยกว่าครึ่งหนึ่ง มีเงินฝากในบัญชีไม่ถึง 3,142 บาท ภาพจาก Shutterstock

จากผลสำรวจของ American Payroll Association ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าชาวอเมริกันมากกว่า 70% มีเงินเดือนไม่พอใช้ หรือใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน และกว่า 3 ใน 10 ของชาวอเมริกัน ไม่มีเงินเก็บอย่างเพียงพอเพื่อใช้ชีวิตในยามฉุกเฉิน

ส่วนสถิติของไทยก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ เพราะจากการเก็บข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า คนไทยกว่า 56.04% มีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร แต่มีเงินในบัญชีน้อย กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ฝากเงินมีเงินในบัญชีไม่ถึง 3,142 บาท และกว่า 32.8% มีเงินในบัญชีไม่ถึง 500 บาท

ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่มีความจำเป็นมากกว่าการเตรียมของใช้ อาหาร ให้พร้อม การเตรียมเงินให้พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในยามฉุกเฉินก็สำคัญเช่นกัน โดยปกติแล้วคุณควรมีเงินที่เก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เป็นจำนวนที่มากพอสำหรับการใช้ชีวิตในระยะเวลา 3 เดือน

เตรียมความพร้อมเรื่องเงินอย่างไร ในช่วงโควิด-19 ระบาด

มองภาพรวมการเงินของคุณ หลายครั้งคุณอาจไม่ได้มองเห็นภาพรวมใหญ่ๆ ของสถานะการเงินของคุณเอง เพราะคุณอาจมีหลายบัญชี มีบัตรเครดิตหลายใบ มีหลายค่าใช้จ่ายที่ใช้เงินจากหลายบัญชี แนะนำว่าคุณควรยอมเสียเวลาสักหน่อยในการจดบันทึกว่าในแต่ละเดือนคุณมีรายรับจากที่ไหนบ้าง มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นประจำเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายอะไรที่ไม่จำเป็นและสามารถตัดทิ้งออกไปได้ เพราะบางครั้งค่าอาจมีค่าใช้จ่ายที่คุณจ่ายเงินไป แต่ไม่เคยสนใจ ทำให้คุณสามารถเก็บเงินได้มากขึ้น

การมีบัตรเครดิตหลายใบ อาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็น ภาพจาก pixabay.com

ใช้บริการจ่ายบิลบัญชีอัตโนมัติ เมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ แทนที่จะจ่ายด้วยตัวเองทุกๆ เดือน ลองเปลี่ยนไปใช้บริการตัดบัญชีอัตโนมัติดู เพราะจะช่วยให้คุณไม่ลืมจ่ายเงิน ไม่โดนค่าธรรมเนียมแพงๆ เมื่อเกินกำหนดวันจ่าย

ส่วนในช่วงนี้คุณอาจไม่อยากเดินทางไปธนาคาร เพราะเสี่ยงที่จะต้องอยู่ในสถานที่ๆมีคนจำนวนมาก การใช้บริการจ่ายบิลอัตโนมัติก็สามารถช่วยคุณได้เช่นกัน นอกจากนี้จะลองตั้งเวลาโอนเงินอัตโนมัติไปยังบัญชีที่ใช้เก็บเงินทุกๆ เดือนด้วยก็ได้ เป็นการบังคับให้ตัวเองเก็บเงินทันทีที่เงินเดือนออก

เปิดอกเรื่องเงินกับคนในครอบครัว บางครอบครัวมีหัวหน้าครอบครัวเพียงคนเดียวที่ดูแลค่าใช้จ่ายในบ้าน ทำให้คนอื่นๆ ไม่รู้ว่าสถานะการเงินในขณะนี้เป็นอย่างไร จนบางครั้งคนในครอบครัวอาจใช้จ่ายเกินตัวแบบไม่รู้ตัว แต่ภาระความเครียดกลับไปตกอยู่ที่คนๆ เดียว การพูดคุยอย่างเปิดอกจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อแชร์รายละเอียดให้ทุกคนได้รับรู้ ช่วยกันประหยัด และเตรียมพร้อมรับมือกับการใช้เงินที่อาจเปลี่ยนไป

การเตรียมหาความคุ้มครองคนในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ ภาพจาก Shutterstock

เตรียมหาความคุ้มครอง ค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลปัจจุบันมีแนวโน้มแพงขึ้นเรื่อยๆ หลายๆ คนใช้เงินที่เก็บมาทั้งชีวิตไปกับค่ารักษาพยาบาล ดังนั้นการเตรียมมองหาประกันเพื่อคุ้มครองสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะอย่างน้อยเวลาป่วย ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล ซึ่งแน่นอนว่าการจ่ายเงินเพื่อซื้อประกันย่อมถูกกว่าการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว

หยุดไว้ก่อน อย่าเพิ่งลงทุน การลงทุนในช่วงเวลานี้คงไม่ใช่เรื่องเหมาะสมเท่าไหร่ เพราะดูเหมือนว่าภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งการลงทุนในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน ก็เหมือนกับการเดินไปในที่มืดโดยไม่มีไฟฉายติดตัว พยายามเก็บเงินสดเอาไว้ให้มากที่สุด เพราะคุณอาจจำเป็นต้องใช้เพื่อซื้อ อาหาร และยารักษาโรคที่จำเป็น

ทำเป็นลืมว่าได้เงินมา บางครั้งคุณอาจจะได้เงินมาจากความโชคดี เช่น ถูกรางวัลล็อตเตอรี่ หรือแม้แต่การได้โบนัส จากที่ทำงาน ลองเก็บเงินที่ได้มาพวกนี้ทันที และไม่ต้องเอามาใช้ จะช่วยให้คุณเก็บเงินได้เพิ่มขึ้นจากส่วนที่เก็บเป็นประจำทุกๆ เดือน

ที่มา – Fast Company, PIER, the balance, economictimes

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา