แพทย์โรคหลอดเลือดสมองแนะนำ 7 เรื่องที่ไม่ควรทำ
สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนอเมริกันคือโรคหลอดเลือดสมอง สำหรับไทยก็เช่นกัน โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุอันดับ 2 ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต และนี่คือคำแนะนำ 7 ข้อจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคหลอดเลือดสมองแนะนำว่า ไม่ควรทำ ดังนี้
หนึ่ง มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง หรือเรียกว่า Sedentary Lifestyle
Dr. Arthur Wang ผู้อำนวยการด้านศัลยกรรมระบบประสาทฯ จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย Tulane ระบุว่า หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองคือมีวิถีชีวิตแบบ Sedentary หรือการใช้ชีวิตอยู่กับที่ แทบไม่ขยับตัว นั่งมากไป นอนมากไป และไม่มีเวลาออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายที่เพียงพอ
เนื่องจากการออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยให้หลอดเลือดไม่อุดตัน และหยุดการสั่งสมของคราบพลัคในหลอดเลือดแดง เขาบอกว่า คำแนะนำโดยทั่วไปก็คือ ให้ออกกำลังกายระดับปานกลางประมาณ 30 นาทีหรือ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ อาจหมายถึงการออกไปเดินเล่น วิ่ง ปั่นจักรยาน ทำสวนหรือเข้าร่วมคลาสออกกำลังกาย
สอง เพิกเฉยต่อความดันโลหิตสูง
ถ้าดำเนินชีวิตดี มีสุขภาพดีจะลดความเสี่ยงทั้งโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ แต่ Dr. Anthony Kim ผู้อำนวยการ การแพทย์โรคหลอดเลือดสมองจากศูนย์โรคหลอดเลือดสมองมหาวิทยาแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบมากที่สุดของโรคหลอดเลือดสมองก็คือความดันโลหิตสูง มันคือภัยเงียบที่บ่อยครั้งผู้ป่วยไม่รู้ตัว จำเป็นต้องหมั่นตรวจเช็คร่างกายอยู่เสมอ
สาม เพิกเฉยต่อการตรวจสุขภาพตามปกติ
Dr. Wang กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงบ่อยครั้งมาจากการไม่รู้อาการที่แท้จริงของตัวเอง ผู้ป่วยไม่รู้ว่าพวกเขาความดันโลหิตสูง พวกเขาไม่รู้ตัวว่ามีคลอเลสเตอรอลสูง เว้นแต่จะมีการตรวจสอบคัดกรองเป็นประจำ เหล่านี้ หมายความว่าการไปพบแพทย์เป็นประจำคือเรื่องจำเป็น พวกเขาจะตรวจเช็คปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคลอเลสเตอรอลสูงและความดันโลหิตสูง ขณะเดียวกันก็ตรวจเช็คปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำหนักตัวของคนไข้
นายแพทย์ Wang มองว่า การให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพร่างกายเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็น เพราะปัจจัยเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมองยังมีความคลุมเครือ จึงจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองสุขภาพเป็นประจำตามปกติ จากประวัติคนไข้ที่ผ่านๆ มา พบว่ามักเกิดในผู้หญิงและคนผิวดำ
สี่ สูบบุหรี่
ทั้งนายแพทย์ Wang และนายแพทย์ Kim ต่างเห็นตรงกันว่า พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงก็คือการสูบบุหรี่ มันเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจได้ และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลอดเลือดตีบตัน และนำไปสู่การอุดตันของการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองด้วย ซึ่งท้ายที่สุดก็คือโรคหลอดเลือดสมอง
ห้า ดื่มแอลกอฮอล์มากไป
แอลกอฮอล์เชื่อมโยงกับโรคมะเร็งบางชนิด โรคตับ และโรคหลอดเลือดสมองด้วย คำแนะนำจาก CDC หรือศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ขนาดของการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปก็คือ สำหรับผู้หญิงคือดื่มแอลกอฮอล์ 4 แก้วในคราวเดียว ส่วนผู้ชาย ดื่ม 5 แก้วในคราวเดียว
ส่วนการดื่มต่อสัปดาห์ที่มากเกินไปก็คือ สำหรับผู้หญิง 8 แก้วและผู้ชาย 15 แก้วต่อสัปดาห์ นายแพทย์ Kim แนะนำว่า ผู้หญิงไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เกิน 1 แก้วต่อวัน และผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน 2 แก้วต่อวัน
หก ไม่ให้ความสำคัญกับโภชนาการที่ดี
การรับประทานอาหารที่เหมาะสมจะทำให้ความเสี่ยงน้อยลง แต่เราจำเป็นต้องคัดกรองอาหารที่เราทานด้วย อาหารที่เต็มไปด้วยไขมันอิ่มตัว น้ำตาล และเกลือ ล้วนสร้างปัจจัยเสี่ยง นายแพทย์ Kim แนะนำว่า การบริโภคเกลือสัมพันธ์กับความดันโลหิตสูง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง เขาแนะนำว่าควรจะทานอาหารโดยเน้นทานผักให้มาก แต่ไม่มากเกินไป ควรทานผลไม้และทานเนื้อสัตว์ด้วย
เจ็ด ยกเลิกการรักษาที่จำเป็น
นายแพทย์ Kim กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยมากในประเทศนี้และในโลกนี้ สิ่งสำคัญก็คือว่า คุณจะต้องตระหนักถึงสัญญาณต่างๆ และรีบเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองไม่ได้ทำให้เจ็บปวด และอาการของโรคก็มีหลากหลายแตกต่างกัน มันจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่คุณจะต้องจดจำอาการสำคัญของโรคให้ได้
อีกทั้งตัวย่อที่มีประโยชน์มากและทำให้คนจดจำอาการที่สำคัญได้ก็คือคำว่า FAST ที่มาจาก F Facial ใบหน้าตก A Arm แขนอ่อนแรง S Speech พูดลำบาก และ T คือ Time ที่ต้องโทรเรียกหมายเลขฉุกเฉินโดยด่วน สำหรับในไทยก็คือ 1669 เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ต้องการความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน ยิ่งได้รับการรักษาเร็ว ยิ่งดี
ข้อมูลด้านสถิติสาธารณสุข ปี 2021 (2564) ระบุว่า กลุ่มสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต มีดังนี้ 1. มะเร็งทุกชนิด 2. โรคหลอดเลือดสมอง 3. ปอดอักเสบ 4. โรคหัวใจขาดเลือด 5. อุบัติเหตจากการคมนาคมขนส่งทางบก 6. เบาหวาน 7. โรคเกี่ยวกับตับ 8. โรคทางเดินหายใจส่วนล่างเรื้อรัง 9. วัณโรคทุกชนิด 10. ภูมิคุ้มกันบกพร่องจากไวรัส (เอดส์)
โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอัมพาตได้ และภัยเงียบเหล่านี้มาจากการมีคลอเรสเตอรอลสูง มีความดันโลหิตสูง ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่นำไปสู่การก่อโรคได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น การออกกำลังกาย การควบคุมอาหาร
ที่มา – สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2564, BuzzFeed, HuffPost
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา