สรุปง่ายๆ “ภาษีคริปโต” คิดยังไง? เสียเท่าไหร่? หลังสรรพากรผ่อนปรนหลักเกณฑ์

สรุปแนวทางยื่น “ภาษีคริปโต” คิดยังไง? เสียเท่าไหร่? หลังสรรพากรผ่อนปรนหลักเกณฑ์ นำขาดทุนหักลบกำไรได้ แบบครบ จบ ในที่เดียว ให้คำแนะนำโดยกสิกรไทย

วิธีเตรียมยื่น “ภาษีคริปโต” แนะนำโดยกสิกรไทย

นักลงทุนในตลาด คริปโต เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมามีจำนวนบัญชีผู้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลสูงถึง 1,979,847 บัญชี เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีที่มีจำนวนบัญชีเพียงหลักหมื่น 

ภาษีคริปโต จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด 

คำถามคือ นักลงทุนคริปโต ควรคำนวนรายได้จากการซื้อขายอย่างไร? หลังสรรพากรประกาศแนวทางผ่อนปรน ยกเว้นหักภาษี ณ ที่จ่าย และให้รวมผลกำไร-ขายทุนในปีภาษีเดียวกันสำหรับใช้คิดเงินได้เพื่อคำนวณภาษีไปเมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา 

2 ทริคคำนวนกำไร/ขาดทุน สำหรับยื่นเสีย “ภาษีคริปโต”

กสิกรไทย โดย K WEALTH แนะวิธียื่นภาษีสำหรับนักลงทุนคริปโต ด้วยการทำบัญชีกำไร/ขาดทุน ในการซื้อขาย (เทรด) การ Stake เหรียญ และทำบัญชีต้นทุนในการขุดเหรียญให้ละเอียดชัดเจน “เพื่อใช้คิดเงินได้รวมกับรายได้อื่นๆ สำหรับยื่นภาษีประจำปี”

วิธีการคิดต้นทุนสำหรับเสีย “ภาษีคริปโต” สามารถทำได้ 2 วิธี คือ 

1) คิดด้วยวิธี “เข้าก่อน-ออกก่อน” (First in, First out หรือที่เรียกว่า FIFO)

เช่น วันที่ 1 ก.พ. ซื้อคริปโต A จำนวน 1 เหรียญในราคา 10,000 บาท/เหรียญคริปโต ต่อมาในวันที่ 3 ก.พ. ซื้อเพิ่มอีก 1 เหรียญในราคา 12,000 บาท 

วิธี “เข้าก่อน-ออกก่อน” (FIFO) คือ ในการคิดต้นทุนเมื่อจะขายออก 1 เหรียญ จะใช้ราคาของเหรียญที่ซื้อเข้ามาก่อน นั่นคือ 10,000 บาท และเมื่อขายอีก 1 เหรียญ จะใช้ราคาของอีกเหรียญ คือ 12,000 บาท

2) วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) 

ยกตัวอย่างกรณีเดียวกัน คือ วันที่ 1 ก.พ. ซื้อคริปโต A จำนวน 1 เหรียญในราคา 10,000 บาท/เหรียญคริปโต ต่อมาในวันที่ 3 ก.พ. ซื้อเพิ่มอีก 1 เหรียญในราคา 12,000 บาท 

ถ้าใช้วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ ทั้งสองเหรียญจะมีต้นทุนเฉลี่ย 11,000 บาท คือนำราคาซื้อทั้งหมดมารวมกันหารด้วยจำนวนเหรียญ  

paypal cryptocurrency

สรุปแนวทางผ่อนปรนของกรมสรรพากร

สำหรับแนวปฏิบัติที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับ ภาษีคริปโต ในหลายประเด็นกรมสรรพากร สามารถสรุปได้ดังนี้ 

1. ยกเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เนื่องจากปัจจุบันการซื้อขาย คริปโต ผ่าน Exchange Platform ยังไม่สามารถระบุตัวตนของผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก จึงเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบความถูกต้อง และหักภาษีได้ถูกฝาถูกตัว ทำให้ไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้

2. สามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกำไรในปีภาษีเดียวกันได้ เพื่อใช้คิดเงินได้ในการคำนวณภาษี จากแต่เดิมที่ให้คิดเฉพาะรายการที่ได้กำไร ซึ่งได้รับเสียงวิจารณ์อย่างมากถึงความไม่เป็นธรรมสำหรับนักลงทุน

3. วิธีการคิดต้นทุนสำหรับเสีย “ภาษีคริปโต” สามารถทำได้ 2 วิธี คือ คิดด้วยวิธี “เข้าก่อน-ออกก่อน” (First in, First out: FIFO) และ วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost)

4. การวัดมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล ให้วัด ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ย 

ทั้งนี้ แนวปฏิบัติเรื่องการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายและการนำผลกำไรและขาดทุนรวมกันเพื่อคำนวณภาษี จะมีผลเฉพาะการซื้อขายผ่าน Exchange Platform ที่อยู่ภายใต้การดูแลของก.ล.ต. เท่านั้น 

และนักลงทุนยังคงต้องนำเงินได้จากคริปโต มารวมกับเงินได้อื่นๆ เช่น เงินเดือน เงินจากธุรกิจ นำมาหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ เพื่อยื่นภาษีประจำปี และจ่ายภาษีในอัตราก้าวหน้า 5-35%

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา