อย่าซ้ำรอยจีน บทเรียนจากญี่ปุ่น-อิตาลี กักกันโรคอย่างไร ถ้าในบ้านมีคนติดเชื้อโควิด-19 

ขณะนี้ คนติดเชื้อโควิด-19 ทั้งโลกรวม 2,159,450 คน เสียชีวิต 145,568 คน (คิดเป็น 6.7%) รักษาหาย 549,996 คน (คิดเป็น 25.4%)

  • ในอิตาลี คนติดเชื้อรวม 168,941 คน เสียชีวิต 22,170 คน (13.12%) รักษาหาย 40,164 คน (23.7%)
  • ในญี่ปุ่น คนติดเชื้อรวม 9,231 คน เสียชีวิต 190 คน (2.05%) รักษาหาย 935 คน (10.1%)

อิตาลีกำลังผลิตซ้ำความผิดพลาดจากจีน Liang Zong’An หัวหน้าแผนกระบบทางเดินหายใจโรงพยาบาล West China แห่งมหาวิทยาลัยเสฉวน พูดถึงการติดเชื้อของอิตาลีที่มีการรับมือแบบเดียวกับจีนในช่วงที่โควิด-19 ระบาดใหม่ๆ

Microscopic illustration of the spreading 2019 corona virus that was discovered in Wuhan, China. The image is an artisic but scientific interpretation, with all relevant surface details of this particular virus in place, including Spike Glycoproteins, Hemagglutinin-esterase, E- and M-Proteins and Envelope.

เขาแนะนำว่า อิตาลีต้องปรับมาตรการกักกันโรคผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อย ดีกว่าจะปล่อยให้อยู่ลำพังในบ้านแทน อย่างที่ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า ผู้ป่วยที่มีอาการหนักมักจะต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแต่สำหรับคนที่มีอาการเล็กน้อย แพทย์มักจะแนะนำให้อยู่ในบ้านเพื่อกักกันโรค แต่กลายเป็นว่าคนที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่มีอาการเพียงเล็กน้อยกลับเป็นบุคคลที่สร้างความเสี่ยงให้สมาชิกในครอบครัวติดเชื้อต่อจากตัวเอง

ขณะที่ Mike Ryan หัวหน้าหน่วยฉุกเฉินแห่งองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ในช่วงที่มีการใช้มาตรการ lockdown การแพร่ระบาดของไวรัสก็ยังไม่หยุดทำงาน และยังเกิดขึ้นในหลายประเทศ เกิดขึ้นภายในครอบครัว สิ่งที่ต้องทำขณะ lockdown ด้วยคือการค้นหาผู้ป่วยในครอบครัว และแยกให้ผู้ป่วยอยู่ลำพัง 

เรื่องนี้ Xiao Ning ซึ่งเป็นนักวิจัยศูนย์ควบคุมโรคระบุว่า เราไม่สามารถบอกได้ว่าการกักกันโรคของอิตาลีผิดหรือถูกเพราะแต่ละประเทศก็มีกลไกในการจัดการโรคแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เขาพบตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น มันเป็นปัญหา เรื่องกักกันโรคที่ญี่ปุ่นทำขณะที่มีคนติดเชื้อภายในครอบครัว ก็มีวิธีที่ดีและน่าสนใจดังนี้

ภาพโดย Darko Stojanovic จาก Pixabay

การปฏิบัติตัวต่อผู้ป่วย

  • ให้แยกคนป่วยให้อยู่ตามลำพัง และพยายามให้อยู่ห่างจากคนในครอบครัวที่เหลือโดยมีระยะห่างจากกันราว 2 เมตร เพื่อจะหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายสารคัดหลั่งจากคนป่วยสู่คนอื่นๆ
  • พยายามทำความสะอาดพื้นผิววัสดุที่สามารถแพร่เชื้อระบาดต่อกันได้ให้มากที่สุด เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได
  • ให้คนป่วยใส่หน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่กระจายสารคัดหลั่งขณะไอ หรือจาม
  • สมาชิกในครอบครัวผู้ที่ต้องดูแลคนป่วยจะต้องใส่หน้ากากและถุงมือ นำไปทิ้งหลังใช้เสร็จ
  • ล้างมือบ่อยๆ หลังจากให้ความดูแลคนป่วย
  • อยู่ให้ห่างจากผู้สูงวัย
  • ไม่ใช้เสื้อผ้า เครื่องนอน (ผ้าปูเตียง ผ้าห่ม) ผ้าขนหนูร่วมกับผู้อื่น
  • ทำความสะอาดเสื้อผ้าด้วยน้ำร้อน อย่างน้อย 80 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้น อย่างน้อย 10 นาทีขึ้นไป เพื่อฆ่าไวรัส (กรณีที่คนป่วยอาจมีอาการอาเจียนหรือท้องเสีย)
  • ปล่อยให้มีอากาศไหลเวียนเข้ามาในบ้านบ่อยๆ
  • ทิ้งขยะที่อาจมีสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ โดยมัดปากถุงขยะอย่างแน่นหนาและนำไปทิ้ง
  • ทำความสะอาดส้วมและห้องน้ำบ่อยๆ
  • แม้ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการดีขึ้นหรือต้องนำส่งตัวไปโรงพยาบาล ก็อย่าได้วางใจ ให้เช็คอุณหภูมิร่างกายสมาชิกในครอบครัวสม่ำเสมอทั้งตอนเช้าและตอนค่ำ วันละ 2 ครั้ง ทำยาวนานราวสัปดาห์ เพราะไวรัสมีระยะฟักตัว และอย่าลืมใส่หน้ากากเมื่อต้องออกนอกบ้าน
ภาพจาก Pixabay (ต้องแยกอาหารทานจานใครจานมันไปก่อน)

การทานอาหารที่ทำเหมือนก่อนมีโรคระบาดไม่ได้แล้ว

  • ให้ทุกคนในครอบครัวใช้จาน มีด ช้อนส้อม แยกกันใช้ ไม่ใช้รวมกัน
  • ล้างมือก่อนทานอาหารทุกมื้อ
  • ไม่ทานอาหารร่วมกันเหมือนเดิม ให้แยกอาหาร จานใคร จานมัน
  • ให้เจือจางโซเดียม ไฮโปคลอไรด์ (มีมากในน้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์) ขนาด 2 ฝา กับน้ำเปล่าราว 2 ลิตร ทำความสะอาดผ้าขนหนู
  • แช่จาน ชาม อุปกรณ์สำหรับทานอาหารในน้ำยาฆ่าเชื้อตามที่กล่าวมาข้างต้น อย่างน้อย 10 นาทีก่อนล้างออก และใช้แอลกอฮออล์เช็ดโต๊ะบ่อยๆ

ที่มา – CSSE JHU, Bloomberg, Nikkei Asian Review, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์