“คินสึงิ” เรียนรู้วิธีดึงตัวเองจากความล้มเหลวสู่ความสำเร็จสไตล์ญี่ปุ่น 

อย่างที่เรารู้กันดีว่าคนยุคนี้ ส่วนใหญ่มีอาการเหงา ซึมเศร้า หมดไฟ มีหัวใจที่บอบช้ำกันง่าย ความรู้สึกแบบนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว บางครั้งก็หายไปง่ายๆ บางครั้งก็ทำให้คนดำดิ่งจนไม่สามารถดึงตัวเองออกมาจากความทุกข์โศกในใจได้ 

ในญี่ปุ่นจะมีการใช้เทคนิค Kintsugi อ่านว่า คินสึงิ คือการผนึกเครื่องปั้นดินเผาที่แตกหักด้วยทองคำ หรือเรียกว่า Kintsukoroi การซ่อมแซมด้วยทองคำ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตและปลดปล่อยคนออกจากความเศร้าเหงาตรมได้ไม่ยาก คินสึงิ ปกตินำไปใช้ซ่อมแซมของใช้แตกหัก เช่น จาน ชาม ถ้วย แจกันที่เป็นเซรามิก และเจ้าของต้องการรักษาให้ใช้งานได้เหมือนเดิม จึงใช้ครั่งทองมาอุดรอยแตกบิ่นของภาชนะนั้นๆ 

Kintsugi, Image by Guggger, Wikimedia

คินสึงิ คือศิลปะในการซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผาด้วยครั่งทอง เป็นการใช้ครั่งผสมกับผงทองคำ ผงเงิน หรือผงทองคำขาวมาผสานรอยแตกร้าวของภาชนะนั้นๆ Kintsugi มาจากคำว่า Kin ที่แปลว่าทองคำ และคำว่า tsugi ที่แปลว่า ผนึก ร่วมกัน กลายเป็นการซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผาด้วยครั่ง เรซิน และผงทอง รวมทั้งกาวที่ทำจากยางรัก (Rhus) 

ประวัติความเป็นมาของคินสึงินี้ เริ่มมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 15 โชกุน Ashikaga Yoshimasa ส่งถ้วยชาที่แตกแล้วไปซ่อมที่จีน จากนั้นจีนก็ส่งถ้วยชากลับมายังญี่ปุ่นอีกครั้ง มันถูกซ่อมให้ดู น่าเกลียดกว่าเดิมด้วยการใช้ลวดเย็บแปะมาตามรอยแตกของถ้วยชานั้น (ดูภาพได้ที่นี่) ช่างฝีมือญี่ปุ่นจึงนำกลับมาซ่อมให้ดีขึ้นเสมือนเป็นถ้วยชาใบใหม่ด้วยเทคนิคคินสึงินั่นเอง 

คินสึงิ ถูกนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างไร

ชีวิตมนุษย์ทุกคนส่วนใหญ่ล้วนพบพานกับความผิดพลาด ล้มเหลวกันมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีประสบการณ์ใดที่สูญเปล่า ทุกๆ อย่างที่คุณได้ทำไปแล้วทั้งดีและร้าย ทั้งแย่ หรือเลวร้ายมาก มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตแล้ว มันคือบทเรียนที่ทำให้คนได้เรียนรู้มากกว่าจะทำให้ตัวเองทำผิดพลาดซ้ำซากหลายครั้ง 

ไม่มีชีวิตใดที่สมบูรณ์แบบ คินสึงิ มาช่วยทำให้เห็นความงดงามของชีวิตในแง่มุมของความไม่เพอร์เฟ็กต์นั้น คินสึงิ คือการทำให้ตัวเองเข้าใจถึงความแตกหัก เปราะบางภายในจิตใจของตัวเอง เป็นการสร้างความแข็งแกร่งจากภายในสู่ภายนอก ทำให้คุณมีสภาวะที่ดีขึ้นกว่าที่คุณเป็นอยู่ 

คินสึงิ คือหลักคิดที่ทำให้คนที่เคยตกอยู่ในสภาพเลวร้าย เมื่อเข้าใจสภาพจิตใจตัวเองอย่างถ่องแท้ ก็จะสามารถเด้งกลับคืนสู่สภาพที่ดีกว่าเดิมได้ ความล้มเหลวคือบทเรียนที่สำคัญที่ทำให้ผู้คนได้เรียนรู้ รู้สึกขอบคุณสิ่งที่ทำให้เจ็บปวดเพื่อที่จะทำให้เติบโตต่อไปได้ในวันที่บุบสลาย แต่มันต้องใช้เวลามากหน่อย ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป 

Kintsugi Wellness, ภาพจาก Candice Kumai

คินสึงิ ศิลปะแห่งการใช้ชีวิตและการเยียวยาบาดแผล

คินสึงิ คือเทคนิคซ่อมแซมเซรามิกที่พัฒนามาแล้วกว่า 400 ปี จุดเด่นของคินสึงิ คือร่องรอยแตกหัก บาดแผลของเครื่องถ้วยคือส่วนหนึ่งของการออกแบบ บางครั้ง กระบวนการในการซ่อมสิ่งของที่แตกหักผุพัง ก็สามารถสรรค์สร้างสิ่งใหม่ที่สวยงามไม่เหมือนใคร และยืดหยุ่นมากกว่าที่เคยได้ 

Candice Kumai ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Kintsugi Wellness: The Japanese Art of Nourishing Mind, Body, and Sprit” เธอเล่าเรื่องคินสึงิว่า แม่และยายเคยสอนให้เธอเรียนรู้เกี่ยวกับหลักการนี้ตั้งแต่เด็ก เธอได้ใช้มันตอนที่ชีวิตพบกับวิกฤติด้วย

เธอบอกว่า คินสึงิช่วยเผยให้เห็นว่า ผู้คนจะหาทางเยียวยาตัวเองและจะเผยให้โลกเห็นถึงรอยบิ่นแตกหักสีทองหลังเยียวยาว่า ชีวิตพวกเธอดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร 

คุมาอิเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น ใช้เวลาเขียนหนังสือยาวนานถึง 3 ปี ไปเยือนญี่ปุ่นเป็น 10 ครั้ง ใช้ชีวิตผ่านหลักคิดนี้ เธอบอกว่า ผู้คนจะไม่ตระหนักถึงศักยภาพที่ตัวเองมี จนกว่าจะสามารถผ่านช่วงเวลาที่สาหัสของชีวิตมาได้ หนังสือของเธอบอกโครงแนวคิดที่สำคัญเกี่ยวกับคินสึงิ ดังนี้ 

Candice Kumai ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Kintsugi Wellness: The Japanese Art of Nourishing Mind, Body, and Sprit

Wabi sabi สอนให้ผู้คนได้เรียนรู้ที่จะโอบกอดทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิต ความไม่สมบูรณ์แบบทั้งหลายนี้จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น 

Gaman คือความสามารถในการอดทน อดทนที่จะสงบจิตสงบใจได้ เป็นสิ่งที่ผู้คนควรจะต้องฝึกเรียนรู้ไปทุกๆ วัน เหมือนการทำสมาธิ ถ้ารู้จักอดทนให้มากก็จะเกิดความแข็งแกร่งจากภายในจิตใจได้มากเช่นกัน 

Yuimaru เป็นส่วนหนึ่งของคินสึงิ คือการแคร์ หรือการฟังเสียงภายในของตนเองอย่างถ่องแท้ ยูอิมารุช่วยให้คุณเยียวยาตัวเองได้ดีขึ้น คุมาอิบอกว่า เมื่อเราใส่ใจดูแลภายในจิตใจของเราเอง เราก็จะดูแลตัวเองได้ คุมาอิเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง และก็มองว่าตัวเองนั่นแหละที่เป็นเพื่อนของตัวเองได้ดีที่สุด

Eiyoshoku คือการดูแลร่างกายตัวเอง การทำให้ตัวเองสุขภาพดี ทำอาหารกินเอง นั่งสมาธิ มองโลกในแง่บวก เธอบอกว่า ช่วงที่เธออยู่ญี่ปุ่น เธอเห็นการใช้ชีวิตของพระ เธอพบว่าชีวิตของคนเราไม่ได้ต้องการการบำรุงบำเรอชีวิตมากมาย ร่างกายและจิตใจเชื่อมโยงสัมพันธ์กันผ่านอาหารที่เรากิน เมื่อร่างกายได้รับพลังงานที่ดี จิตใจก็จะได้รับเช่นกัน 

Kansha คือการเรียนรู้ที่จะขอบคุณอย่างจริงใจ ถือเป็นแนวคิดที่สำคัญที่สุดของคินสึงิ ให้รู้สึกแสดงความขอบคุณต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตไม่ว่าจะในแง่ดีหรือแง่ร้าย เป็นการปล่อยให้ ego ของตัวเองจัดการกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้น 

ที่มา – World Economic Forum (1), (2), NBC, Design Asia, Washington Post, คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา