ส่องภาษีคริปโทสหรัฐ: จ่ายเท่าภาษีหุ้น ขาดทุนหนักใช้หักภาษีเงินได้ ขาดทุน-กำไรลบกันได้

รู้จัก 4 สิ่งที่ภาษีคริปโทฯ สหรัฐ ต่างจากประเทศไทย เปิดมุมมอง capital gains tax ของต่างประเทศ หลังสรรพากรไทยประกาศเก็บภาษีคริปโทฯ

ประเด็นร้อน ภาษีกำไรคริปโทฯ

เป็นที่พูดถึงกันอย่างมากสำหรับกรณีที่กรมสรรพากรเดินหน้าเก็บภาษีกำไรจากการขายคริปโทเคอร์เรนซี 15% หลังจากเริ่มต้นปีใหม่ 2565 มาได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์

สิ่งที่ทำให้ประเด็นการเก็บภาษีกำไรจากคริปโทเคอร์เรนซีไปกว่านั้น คือการที่นายสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี และโฆษกกรมสรรพากร ระบุในรายการ The Morning Wealth ว่าจะมีการเก็บภาษีจากกำไรใน ‘ทุก’ ธุรกรรมที่เกิดขึ้น แม้ยอดรวมการซื้อขายทั้งปีจะขาดทุนก็ตาม

วันนี้ Brand Inside จะพาผู้อ่านไปพบกับ 4 สิ่งที่ภาษี คริปโทฯ สหรัฐ ต่างจากประเทศไทย เปิดมุมมองเกี่ยวกับ Capital gains tax ของต่างประเทศ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการแสดงความคิดเห็น ตั้งข้อถกเถียง และสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานกำกับดูแลต่อไป

1. อัตราภาษีกำไรคริปโทฯ เท่ากับหุ้น

กระทรวงการคลัง

ก่อนหน้าจะมีข่าวการเก็บภาษีกำไรคริปโทเคอร์เรนซี 15% ออกมา ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส (ASPS) เผยผ่านบทวิเคราะห์ว่า กระทรวงการคลังอาจพิจารณากลับมาเก็บภาษีรายรับจากการขายหลักทรัพย์ (Capital gains tax) ในอัตรา 0.1% สำหรับนักลงทุนที่มีมูลค่าซื้อขายเกิน 1 ล้านบาท/เดือน

สิ่งที่น่าสนใจก็คือภาษีจากการซื้อขายหุ้นและคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศไทยไม่เท่ากัน

แต่รู้หรือไม่ว่า ในสหรัฐอเมริกา ภาษีรายรับจากการซื้อขายหลักทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือคริปโทเคอร์เรนซีมีอัตราเท่ากัน คือที่อัตรา 10-37% สำหรับการถือครองสินทรัพย์ระยะสั้น และ 0-20% สำหรับการถือครองสินทรัพย์ระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) 

ทั้งนี้ เป็นเพราะสินทรัพย์ทั้งสองชนิดอยู่ภายใต้ข้อกำหนดเดียวกัน ถูกปฏิบัติเสมอเหมือนกันในแง่ของกฎหมาย

2. ขาดทุนก็คือขาดทุน ไม่ใช่ขาดทุนคือกำไร

สิ่งที่สร้างความฮือฮาในคอมมูนิตี้ของนักลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีในไทยคือการที่โฆษกกรมสรรพากรชี้แจงว่าจะมีการ เก็บภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นในทุกๆ ธุรกรรม รายการที่มีกำไรก็คิดภาษี 15% รายการที่ขาดทุนก็ไม่ต้องคิดภาษี

paypal cryptocurrency

เช่น นาย ก. มีการลงทุนในคริปโทฯ ในไทยทั้งปี 3 ธุรกรรม คือ

  • ครั้งที่ 1 ลงทุน 1 ล้านบาท กำไร 2 แสนบาท (คิดภาษี 15%)
  • ครั้งที่ 2 ลงทุน 1 ล้านบาท กำไร 1 แสนบาท (คิดภาษี 15%)
  • ครั้งที่ 3 ลงทุน 1 ล้านบาท ขาดทุน 5 แสนบาท (ไม่คิดภาษี)

ดังนั้น แม้นักลงทุนขาดทุนทั้งสิ้น 2 แสนบาท แต่นักลงทุนจะต้องระบุเงินได้จากการลงทุนเพื่อเสียภาษี 3 แสนบาท

อย่างไรก็ตาม หลักการคำนวณกำไรเพื่อคิดภาษีของสหรัฐฯ แตกต่างจากประเทศไทย คือผู้ลงทุนจะต้องระบุทั้งกำไรและขาดทุน พูดง่ายๆ คือสามารถนำกำไรขาดทุนมาหักลบกันได้ 

ถ้านำตัวอย่างของ นาย ก. (ข้างบน) มาประกอบการอธิบาย นายก. ก็จะไม่ต้องเสียภาษีกำไรคริปโทฯ เลยสักบาท เพราะในสายตาของสรรพากรสหรัฐฯ นาย ก. มีเงินได้จากการลงทุนทั้งสิ้น -200,000 บาท 

ส่วนสรรพากรไทยมองว่ามีเงินได้ 300,000 บาท (?)

และที่สำคัญคือสามารถนำจำนวนเงินที่ขาดทุนส่วนนี้ไปหักออกจากเงินได้สำหรับภาษีเงินได้ได้อีกต่างหาก!

3. คริปโทฯ ขาดทุน เอาไปหักรายได้ที่เอาไปใช้คิดภาษีเงินได้ก็ได้

สิ่งที่ประเทศไทยไม่มีแน่ๆ คือการนำส่วนที่ขาดทุนในคริปโทเคอร์เรนซีไปหักลบออกจากเงินได้พึงประเมินสำหรับภาษีเงินได้ (หรือภาษีจากเงินเดือนที่เราจ่ายๆ กันปกติ)

Introducing Broker Agent

ทั้งนี้ ในสหรัฐฯ 26 U.S. Code § 1211 ระบุว่าในกรณีที่ไม่มีเงินได้จากการขายหลักทรัพย์ (ทั้งคริปโทเคอร์เรนซีและหุ้น) สามารถนำผลขาดทุนไปหักลบกับรายได้พึงประเมินที่ใช้คิดภาษีเงินได้ โดยไม่เกิน 3,000 ดอลลาร์/ปี (ประมาณ 100,700 บาท)

ที่สำคัญ หากขาดทุนมากกว่า 3,000 ดอลลาร์ ในปีนั้น ก็สามารถทบไปหักในปีถัดไปได้อีกด้วย 

4. รายได้ สถานภาพสมรส ถือสั้น-ยาว ส่งผลต่ออัตราภาษี

ในสหรัฐ นักลงทุนจะจ่ายภาษี Capitals gains tax ในอัตราแตกต่างกันไปตามสถานภาพสมรส และระยะเวลาที่ถือครองสินทรัพย์ นอกจากนี้ ยังกำหนดอัตราภาษีแบบขั้นบันได ยิ่งมีรายได้มากยิ่งเสียมาก เช่น

  • อัตราภาษีสำหรับการถือครองระยะสั้น (น้อยกว่า 1 ปี) อยู่ที่ 10-37% (ตามรายได้และสถานะสมรส)
  • อัตราภาษีสำหรับการถือครองระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) อยู่ที่ 0-20% (ตามรายได้และสถานะสมรส)

ในที่นี้ จะยกตัวอย่างแค่อัตราภาษีสำหรับการลงทุนระยะยาวพอให้เห็นภาพ

อัตราภาษี Capital gains tax โสด สมรส (คำนวณรวม)

0%

$40,400 หรือน้อยกว่า $80,800 หรือน้อยกว่า

15%

$40,401 – $441,850 $80,801 – $501,600

20%

$445,851 หรือมากกว่า $501,601 หรือมากกว่า

ที่มา – Forbes, Finance Yahoo, Fidelity, taxbit (1)(2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา