ผลวิจัยเผย คนอายุ 20-30 ปีขึ้นไปมักมีความทุกข์ มีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าวัยอื่นๆ

คุณคิดว่า คนเราจะมีความสุขมากที่สุดในช่วงอายุเท่าไร?

งานวิจัยล่าสุดออกมาเปิดเผยว่า ยิ่งอายุมากเท่าไร ยิ่งมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำ สิ่งที่ตัวเองเป็นมากขึ้น และมันส่งผลต่อความสุขของผู้คน ช่วงวัยที่มีความสุขมากที่สุดจากงานศึกษานี้ก็คือช่วงที่คุณอายุ 60 ปี งานนี้ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 331 ตัวอย่าง จากข้อมูลผู้เข้าร่วมสำรวจจำนวน 164,868 ราย โดยวัดผลกระทบความเปลี่ยนแปลงความมั่นใจในตัวเองที่มีอายุตั้งแต่ 4 ปีถึง 94 ปี

happiness

มาดูความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงวัยกัน

จากการศึกษา พบว่า self-esteem หรือความเคารพในตนเอง ความภูมิใจในตัวเองจะเพิ่มขึ้นในช่วงวัย 4-11 ขวบ จากนั้นระดับ self-esteem จะคงที่ในช่วงวัย 11-15 ปี และจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจนถึงอายุ 30 ปี จากนั้นจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปี ความเคารพในตนเองจะพุ่งสูงที่สุดในช่วงนี้และจะคงที่ในระดับนี้จนอายุ 70 ปี จากนั้นระดับของ self-esteem จะค่อยๆ ลดลงจนอายุ 90 ปีและลดลงอย่างมากจนอายุล่วงเข้าสู่วัย 94 ปี

ถ้าวิเคราะห์จากช่วงวัย อาจรู้สึกได้ว่าผลของความสุขนั้นเกิดจากความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ แต่ช่วงวัย 4 ขวบขึ้นไป เป็นช่วงวัยเด็กที่มี self-esteem สูงมากก็เพราะเด็กยังไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่างความจริงกับเรื่องที่อยู่ในอุดมคติ นอกจากความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้แล้ว ในวัยที่โตขึ้นมาหน่อยก็ยังต้องเรียนรู้การสร้างปฏิสัมพันธ์กับสังคมที่แวดล้อมตัวเอง ไปจนถึงวัยที่เริ่มโตเป็นหนุ่มสาวก็ค่อยๆ เพิ่มความสามารถในการควบคุมตนเอง การเลือกคบเพื่อน ไปจนถึงการเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ การเริ่มวัยทำงาน การมีความสัมพันธ์แบบคู่รัก ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการหล่อหลอมผู้คนตั้งแต่วัยเด็กจนสู่วัยผู้ใหญ่ แน่นอนว่า เคล็ดลับที่จะทำให้เคารพในตนเอง ภูมิใจในตนเองหรือมั่นใจในตนเองนั้นไม่มี เพราะต้องอาศัยหลายปัจจัยในชีวิตประกอบกันซึ่งมีความซับซ้อน ละเอียดอ่อนมากกว่าจะอาศัยปัจจัยใดเพียงปัจจัยเดียว แต่ผลการศึกษาพบว่า คนที่ยิ่งอายุมากขึ้น ก็ยิ่งมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีงานศึกษาในปี 2016 ที่ผ่านมา นักวิจัยได้ทำแบบสำรวจผู้คนกว่า 1,500 คน ซึ่งมีหลายปัจจัยแตกต่างกัน ทั้งช่วงวัย ทั้งเรื่องทางกายภาพ กระบวนการรับรู้ และสุขภาพจิต พวกเขาพบว่าคนที่อยู่ในช่วงวัย 20-30 ปี เป็นกลุ่มคนที่มีภาวะซึมเศร้าในระดับสูงที่สุด มีทั้งความกังวล ความเครียด และมีระดับความสุขที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคนที่มีช่วงอายุมากกว่านับสิบปี

เรื่องนี้ Dilip Jeste จิตแพทย์ที่เคยเขียนบทความวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ ก็เคยสรุปแบบเดียวกันว่า ยิ่งคุณอายุมากขึ้น ชีวิตคุณก็ยิ่งมั่นคงหรือมีเสถียรภาพมากขึ้น ดังนั้น มันจึงส่งผลให้คุณมีความสุขมากขึ้นด้วย ด้านนิตยสาร TIME เคยสัมภาษณ์ Jeste ถึงงานศึกษาดังกล่าวที่เผยแพร่ใน Journal of Clinical Psychiatry วิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,546 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีถึง 99 ปีในซานดิเอโก

Jeste เล่าว่า มันเคยมีแนวคิดที่ว่า อายุมากเป็นสิ่งที่แย่ มีภาวะซึมเศร้า มีความทุกข์ แต่จากการศึกษาแล้วพบว่า ความสุขและสวัสดิภาพในชีวิตนั้นมีลักษณะเป็นเส้นกราฟแบบตัว U มีช่วงที่หม่นเศร้าในช่วงวัยกลางคนและค่อยๆ พุ่งสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงที่อายุค่อยๆ เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี Jeste กล่าวว่าเธอไม่ได้ติดตามผลของผู้ร่วมสำรวจตลอดทั้งชีวิต มันเป็นเพียงการสำรวจระยะหนึ่งเท่านั้น แต่ก็พบว่า ยิ่งอายุเพิ่มขึ้น หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตก็ค่อยๆ ดีขึ้น แถมสุขภาพจิตก็ดีขึ้นด้วย ขณะที่คนอายุช่วง 20-30 ปีมีความเครียด ความกังวลมากที่สุด มีความสุขน้อยที่สุดและพอใจในการใช้ชีวิตต่ำที่สุด แต่คนที่อายุมากกว่ากลับมีความสุขในการใช้ชีวิตมากที่สุด

กว่าจะเป็นผู้ใหญ่มันเจ็บปวด

Jeste เปิดเผยถึงเรื่องน่าเศร้าของคนหนุ่มสาวก็คือ..หลังจากที่ชีวิตของพวกเขาเพิ่งเริ่มต้น มันจะมีช่วงวายป่วงที่เรียกร้องจากพวกเขาหลายด้าน ทั้งเรื่องการเงิน การศึกษา ความสัมพันธ์แบบโรแมนติกหรือความสัมพันธ์แบบคู่รัก ไปจนถึงหน้าที่การงาน

ความน่าเศร้าที่ว่าก็คือ พวกเขาไม่เพียงต้องทำตามสิ่งที่เรียกร้องจากชีวิตในทุกโหมดแล้ว แต่ยังต้องคอยเฝ้ามองคนอื่นด้วยความรู้สึกที่ย่ำแย่เสมอว่า .. ตัวเองไม่ประสบความสำเร็จแบบคนอื่นๆ พวกเขามีทางเลือกมากมายให้ทำ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ลงมือเลือกทำหนทางเหล่านั้นจริงจัง

ขณะที่คนที่มีอายุมากกว่าเครียดกับชีวิตน้อยลงและยังสั่งสมประสบการณ์ จนทำให้อารมณ์ของพวกเขาเสถียรมากกว่า ไม่ปั่นป่วนง่าย รู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และยังมีการตัดสินใจทางสังคมที่ดีกว่า ทั้งนี้ คนที่มีช่วงวัย 60 ปีขึ้นไป นอกจากจะมีความมั่นใจในการใช้ชีวิตของตัวเองมากกว่าแล้ว พวกเขายังมีสภาพแวดล้อมที่เป็นสุขมากกว่า พวกเขาสั่งสมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยาวนาน เหล่านี้มันช่วยส่งเสริมให้ใช้ชีวิตได้อิสระมากขึ้น คนที่มีอายุมากกว่าจึงมีความรู้สึกมีความสุขมากกว่า สงบสุขกว่า หรือผ่อนคลายมากกว่า

อย่างไรก็ดี อายุไม่ใช่ตัวชี้วัดหลักที่จะเป็นเส้นตายและจำกัดให้คุณรู้สึกได้ว่า คุณจะมีความสุขได้มากมายเพียงใด หรือคุณจะมีความสุขได้เมื่อไร ที่จริงแล้วนอกเหนือจากปัจจัยด้านอายุก็คือพฤติกรรมที่คุณเลือกที่จะทำต่างหากที่จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความสุขของคุณด้วย และข้อเท็จจริงเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ คนมักจะมองภาพลบเกี่ยวกับอายุที่มากขึ้น มากกว่าประสบการณ์ที่สั่งสมจนท้ายที่สุดมันกล่อมเกลา บ่มเพาะให้คนที่อายุมากกว่ามักจะมีความสุขมากกว่าคนอายุน้อยกว่านั่นเอง

ที่มา – Yahoo, TIME, Psycnet

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา