เปิดประวัติผู้ผลิตคุกกี้กล่องแดงในตำนาน: จากอิมพีเรียลถึงอาร์เซนอล

คุกกี้กล่องแดงในตำนาน ขนมที่หลายคนไม่อยากได้เมื่อถึงเทศกาลปีใหม่เพราะเป็นของขวัญที่คนมักจะเลือกมาแลกของขวัญ เลือกมาให้กันในช่วงเริ่มปีใหม่ เรียกได้ว่าเป็นคุกกี้ที่ได้รับความนิยมมากเกินไปและยังมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ หลายคนสับสน เข้าใจผิดคิดว่าคุกกี้กล่องแดงผลิตจากบริษัทเดียวกันด้วยซ้ำ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ แบรนด์หนึ่งคืออิมพีเรียล อีกแบรนด์หนึ่งคืออาร์เซนอล แต่ละแบรนด์มีที่มายังไง มาดูกัน

อิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค

ประวัติของบริษัทที่ผลิตบัตเตอร์คุกกี้กล่องแดง แบรนด์แรกคือแบรนด์อิมพีเรียล ผลิตจากบริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด สินค้าของบริษัท เคซีจี มีหลากหลายมาก มีทั้งบิสกิต วัตถุดิบในการทำเบเกอรี่ สินค้าประเภทนม เนย ชีส อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องดื่ม เนื้อและอาหารทะเล ซึ่งก็มีประวัติก่อตั้งยาวนานราว 63 ปี มีการก่อตั้งบริษัท โรงงาน ศูนย์กระจายสินค้า และยังขยายธุรกิจไปอีกหลากหลายสาขาด้วยกัน จากผลิตภัณฑ์นมเนย น้ำส้ม ไปยังอาหารต่างๆ และยังเป็นผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ทำเบเกอรี่และยังเปิดโรงเรียนสอนทำเบเกอรี่ด้วย

บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีที่มาดังนี้

  • เริ่มต้นจากการก่อตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊วพาณิชย์ในปี 2501 ทำธุรกิจนำเข้าและเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูปจากต่างประเทศ
  • ควบรวมบริษัทเป็นบริษัทเคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัดทั้งหมด 9 สาขา มีทั้งสำนักงานใหญ่, หน่วยธุรกิจนม, บางนา, เทพารักษ์, บางพลี สุขุมวิท 64, เชียงใหม่, ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี

โรงงาน

  • ปี 2515
    ตั้งโรงงานแห่งแรกบนถนนบางนา-ตราด ภายใต้ชื่อบริษัทยูไนเต็ด แดรี่ ฟูดส์ จำกัด ภายใต้การสนับสนุนเครื่องจักรจากประเทศออสเตรเลีย ผู้ผลิตเนย อลาวรี่ (Allowrie) ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาช่วงเริ่มผลิตและขยายสู่ผลิตภัณฑ์อาหารนมและขนมสำเร็จรูป
  • ปี 2528
    โรงงานแห่งที่ 2 ขึ้นในปี 2528 ขนาดพื้นที่ 42 ไร่ ที่อำเภอบางพลี สมทุรปราการ ภายใต้ชื่อบริษัท อิมพีเรียล เยนเนอรัล ฟู้ดส์ อินดัสทรี่ จำกัด รองรับธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่องทั้งการผลิตบิสกิต ขนมอบและน้ำตาลก้อน

ศูนย์กระจายสินค้า

  • ปี 2540
    ยังไม่หยุดเติบโต ตั้งศูนย์กระจายสินค้าที่เชียงใหม่ สาขาที่ 1 และขอนแก่น สาขาที่ 2
  • ปี 2557
    ตั้งศูนย์กระจายสินค้า จังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาที่สาม

ขยายธุรกิจ

  • ปี 2531
    ขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์ Dairy Foods ภายใต้ชื่อบริษัทยูไนเต็ด แดรี่ ฟาร์ม จำกัด และได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ผลิตน้ำสัมซันควิก ภายใต้ชื่อบริษัทอิมพีเรียล สเปเชี่ยลตี้ฟู้ดส์ จำกัด
  • ปี 2550
    เริ่มเป็นผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำเบเกอรี่
  • ปี 2551
    ตั้งไอบาฟ โรงเรียนศิลปการทำเบเกอรี่และอาหารอิมพีเรียล
  • ปี 2555
    ก่อตั้งบริษัทยูไนเต็ดแดรี่ฟูดส์ จำกัด (เทพารักษ์) พื้นที่ 20 ไร่ เป็นโรงงานแห่งที่สองของยูไนเต็ดแดรี่ฟูดส์ เพื่อผลิตสินค้าเนย มาการีน ชีสและเพิ่มฐานการผลิตเพื่อรองรับ AEC

สำหรับรายได้ของบริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ถือว่ามหาศาลมากระดับพันล้าน รายได้-รายจ่ายย้อนหลัง 3 ปี ดังนี้

ปี 2561

  • รายได้รวม 5,524,301,296 บาท เพิ่มขึ้น 9.50%
  • รายจ่ายรวม 5,206,038,762 บาท เพิ่มขึ้น 7.15%
  • กำไรสุทธิ 179,095,260 บาท เพิ่มขึ้น 163.43%

ปี 2562

  • รายได้รวม 5,654,566,278 บาท เพิ่มขึ้น 2.35%
  • รายจ่ายรวม 5,261,089,281 บาท เพิ่มขึ้น 1.05%
  • กำไรสุทธิ 250,966,564 บาท เพิ่มขึ้น 40.13%

ปี 2563

  • รายได้รวม 4,950,002,373 บาท ลดลง 12.46%
  • รายจ่ายรวม 4,542,520,400 บาท ลดลง 13.65%
  • กำไรสุทธิ 244,231,583 บาท ลดลง 2.68%

บัตเตอร์คุกกี้ อาร์เซนอล

สำหรับบัตเตอร์คุกกี้ ตราอาร์เซนอลนั้น ผลิตโดยบริษัท สยามร่วมมิตร จำกัด แบรนด์นี้ทำขนมขบเคี้ยวที่เรารู้จักหลากหลายมาก ทั้งฮานามิ ข้าวเกรียบรวยเพื่อน สแน็คแจ๊ค ทั้งคอร์นพัฟ และยังมีคุกกี้ อาร์เซนอลด้วย

บริษัทนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2519 แล้ว นับถึงตอนนี้ก็มีอายุกว่า 40 ปีแล้ว บริษัทตั้งอยู่ที่แถวถนนประมวล สีลมและมีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางชัน เป็นนิคมฯ แห่งแรกของไทย

บริษัทยังเคยร่วมทุนกับบริษัท โตฮาโต้ จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ บริษัท ฮานามิ โตฮาโต้ จำกัด ต่อมาบริษัทเข้าซื้อกิจการทั้งหมดและเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ฮานามิ ฟู้ดส์ จำกัด ปัจจุบันผลิตขนมถั่วลันเตาอบกรอบ ตราสแน็คแจ๊ค บริษัท ฮานามิ ก่อตั้งครั้งแรกปี 2528 และเริ่มดำเนินการเดือนธันวาคม 2530 บริษัท สยามร่วมมิตร จำกัด มีโรงงาน 3 แห่งบริเวณเสรีไทย คันนายาว, บริษัท ฮานามิ ฟู้ดส์ จำกัดมีโรงงาน 1 แห่งสำหรับรายได้ย้อนหลัง 3 ปีก็อยู่ในระดับหลักพันล้านบาทเช่นกัน

ปี 2561

  • รายได้รวม 2,033,473,522.46 บาท ลดลง 0.70%
  • รายจ่ายรวม 1,873,644,436.98 บาท ลดลง 3.49%
  • กำไรสุทธิ 142,607,589.88 บาท เพิ่มขึ้น 47.62%

ปี 2562

  • รายได้รวม 1,907,574,019.35 บาท ลดลง 6.19%
  • รายจ่ายรวม 1,778,511,806.42 บาท ลดลง 5.07%
  • กำไรสุทธิ 109,984,545.65 บาท ลดลง 22.87%

ปี 2563

  • รายได้รวม 1,858,466,337.90 บาท ลดลง 2.57%
  • รายจ่ายรวม 1,690,324,392.27 บาท ลดลง 4.95%
  • กำไรสุทธิ 145,830,103.37 บาท เพิ่มขึ้น 32.59%

จากประวัติคุกกี้บัตเตอร์ คุกกี้กล่องแดงในตำนานอยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน ขยายไลน์ผลิตสินค้าและแตกยอดกิจการออกไปหลากหลายรูปแบบ ทั้งเปิดโรงเรียนสอนทำเบเกอรี่ จนถึงขายอุปกรณ์ รวมทั้งรายได้ระดับหลักพันล้านนั้น สะท้อนให้เห็นว่าการทานขนมขบเคี้ยวของคนไทยนั้นเติบโตต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ช่วงที่เกิดโควิดระบาดก็ส่งผลกระทบจนทำให้รายได้และกำไรลดลงสอดคล้องกับงานวิจัยจาก Kantar ที่ระบุว่า ช่วงโควิดระบาดส่งผลกระทบให้เทรนด์ในการทานขนมลดลง มีการซื้อประเภท Snack and Beverage ลดลงกว่า 8 แสนครั้งต่อวัน ทั้งที่ก่อนแพร่ระบาดมีการซื้อขนมและเครื่องดื่มมากถึง 10.9 ล้านครั้ง อีกทั้งโควิดยังทำให้ราคาต่อหน่วยของขนมลดลงอีกด้วย ลดราคาต่อปริมาณมากถึง 52%

ที่มา – KCG, DBD, Hanami

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา