มหาวิทยาลัย Harvard เผยมลพิษจากพลังงานฟอสซิลคร่าชีวิตมนุษย์นับล้านต้องตายก่อนวัยอันควร

ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Harvard พบ มลพิษจากพลังงานฟอสซิลเป็นต้นเหตุทำคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 8.7 ล้านรายในปี 2018 ยิ่งใช้พลังงานฟอสซิลมากยิ่งเสี่ยงมาก

ภาพจาก Shutterstock

เป็นที่รู้กันมานานว่าพลังงานฟอสซิล ซึ่งรวมถึงน้ำมัน ถ่านหิน และแก๊สธรรมชาติ เป็นพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดรูปแบบหนึ่ง แต่ในความจริงแล้วพลังงานฟอสซิลยังทำให้เกิดอันตรายกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์บนโลกอีกด้วย

8.7 ล้านคน เสียชีวิตจากมลภาวะจากพลังงานฟอสซิล

ผลการศึกษาที่มหาวิทยาลัย Harvard ทำร่วมกับ University of Birmingham, the University of Leicester และ University College London พบว่าในปี 2018 มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศที่เกิดจากพลังงานฟอสซิลกว่า 8.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 18% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกในปี 2018 ซึ่งตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตนี้นับว่ามากกว่าการศึกษาในครั้งก่อนหน้าที่ประเมินผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศที่เกิดจากพลังงานฟอสซิลไว้ที่ 4.2 ล้านคน

สำหรับทวีปที่มีมลพิษทางอากาศที่เกิดจากพลังงานฟอสซิลมากที่สุด คือทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในบริเวณนี้จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุด

นอกจากนี้ผลการศึกษายังระบุด้วยว่าหากประเทศจีนตัดสินใจลดการใช้พลังงานฟอสซิลลงครึ่งหนึ่ง จะช่วยชีวิตคนบนโลกได้กว่า 2.4 ล้านคน โดย 1.5 ล้านคน เป็นคนที่อยู่ในประเทศจีนเอง

สำหรับวิธีในการวิจัยครั้งนี้ นักวิจัย Harvard ใช้แบบจำลอง 3 มิติ เพื่อตรวจจับประเภทของสิ่งที่ลอยปะปนอยู่ในอากาศ ว่าเป็นมลพิษชนิดใด ซึ่งแตกต่างจากการวิจัยในครั้งก่อนๆ ที่มักใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมที่ไม่สามารถแยกได้ว่ามลพิษในอากาศที่เห็นอยู่ คือฝุ่น ควัน หรือมลพิษที่เกิดจากพลังงานฟอสซิล

ยิ่งใช้พลังงานฟอสซิลมาก ยิ่งเสี่ยงตายมากขึ้นเท่านั้น

Karn Vohra ผู้ร่วมทำการวิจัย เปิดเผยว่า ทีมวิจัยต้องการที่จะค้นหาว่ามลพิษทางอากาศอยู่ที่จุดใด และคนอยู่อาศัยที่จุดใด จะได้รู้ว่าสิ่งที่คนในบริเวณนั้นหายใจเข้าไปคืออะไรกันแน่ ส่วน Eloise Marais ผู้ร่วมทำการวิจัยอีกคนหนึ่ง ก็เปิดเผยว่า ประเทศที่มีมลพิษทางอากาศที่เกิดจากพลังงานฟอสซิล จะมีความอันตรายในการอยู่อาศัยมากกว่าประเทศอื่นๆ โดย Marais ได้ยกตัวอย่างด้วยว่า “ประเทศที่มีการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลมาก ก็จะยิ่งมีอัตราการเสียชีวิตของคนมากเท่านั้น รวมถึงประเทศจีน และอินเดียด้วย”

อย่างไรก็ตามในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายๆ ฝ่าย คาดการณ์กันว่ามลภาวะทางอากาศจะมีน้อยลง และคุณภาพอากาศจะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การวิจัยนี้ก็ได้ไขคำตอบด้วยว่า “มลภาวะทางอากาศลดลงจริงในช่วงล็อคดาวน์ แต่เป็นเพียงผลในระยะสั้นๆ เท่านั้น”

ที่มา – cnbc, Harvard.edu

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา