บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เผยมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 12/2656 เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2565 พิจารณาอนุมัติให้บริษัท กัลฟ์ เวนเชอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GULF เข้าซื้อหุ้นสามัญในบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จากบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และซื้อหุ้นสามัญส่วนที่เหลือทั้งหมดของไทยคม โดยการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของไทยคมแลซื้อขายหุ้นสามัญผ่านตลาดหลักทรัพย์ รายละเอียด ดังนี้
บริษัท กัลฟ์ เวนเชอร์ส ซื้อหุ้นสามัญไทยคมจากอินทัช จำนวนทั้งสิ้น 450,870,934 หุ้น คิดเป็น 41.13% ของหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของไทยคม ในราคาหุ้นละ 9.92 บาท คิดเป็นจำนวนเงินรวม 4,472.64 ล้านบาท
ภายหลังซื้อหุ้นสามัญไทยคมจากอินทัชเสร็จสิ้น บริษัท กัลฟ์ เวนเชอร์ส จะดำเนินการซื้อหุ้นสามัญส่วนที่เหลือทั้งหมดของไทยคม โดยทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของไทยคมจำนวนทั้งสิ้น 645,231,020 หุ้น คิดเป็น 58.87% ของหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของไทยคม ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 12/2554 โดยราคาหุ้นละ 9.92 บาท คิดเป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 6,400.69 ล้านบาท
ธุรกรรมการซื้อขายหุ้นดังกล่าว มีมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 10,873.33 ล้านบาท
ไทยคมก่อตั้งเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2534 เป็นผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศระหว่างไทยคมกับกระทรวงคมนาคม ปัจจจุบันการดูแลสัญญาอยู่ เป็นสัญญาสัมปทานระยะเวลา 30 ปี สิ้นสุดเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564
ไทยคมได้ส่งมอบการครอบครองดาวเทียมและทรัพย์สินทั้งหมดตามสัญญาสัมปทานคืนแก่กระทรวงดิจิทัลครบถ้วนแล้ว ณ วันสิ้นสุดสัญญา กระทรวงดิจิทัลได้มอบสิทธิในการบริหารจัดการดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทานให้กับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT)
หลังสิ้นสุดสัญญา บริษัทย่อยของไทยคมได้เข้าทำข้อตกลงซื้อแบนด์วิธบางส่วนบนดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 6 กับ NT เพื่อให้บริการลูกค้ารายย่อยนับตั้งแต่ 11 กันยายน 2564 จึงให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมบนดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 กับลูกค้าบางส่วนของไทยคมต่อไป
ธุรกิจของไทยคมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1) ธุรกิจดาวเทียมและบริการต่อเนื่อง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือดาวเทียมแบบทั่วไป คือให้บริการสำหรับผู้ใช้บริการประจำที่ โดยสัญญาณจะถูกส่งจากสถานีภาคพื้นดินขึ้นสู่ดาวเทียมและส่งกลับมายังสถานีรับสัญญาณภาคพื้นดิน สามารถส่งและรับสัญญาณได้ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
ขณะที่ดาวเทียมบรอดแบนด์ ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต (แบบจุดต่อจุด) ด้วยเทคโนโลยีออกแบบดาวเทียมโดยใช้การจัดสรรคลื่นความถี่ขั้นสูง ออกแบบพื้นที่ให้บริการเป็นวงกลมแคบๆ หลายๆ วงเรียงติดกันในลักษณะรังผึ้ง ปัจจุบันไทยคมได้ซื้อแบนด์วิธบางส่วนบนดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 6 บางส่วนจาก NT และไทยคมยังมีช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 เป็นของไทยคมเอง
2) ธุรกิจอินเทอร์เน็ตและสื่อ ดำเนินการโดยบริษัท ไทย แอดวานซ์ อินโนเวชั่น จำกัด (ไทยเอไอ) ให้บริการแพลตฟอร์ม บอกรับสมาชิก จำหน่ายและให้เช่าแพลตฟอร์ม ให้บริการหลังการขายกล่องสัญญาณดาวเทียมดีทีวี และบริการให้คำปรึกษาและติดตั้งระบบสำหรับเครือข่ายบรอดแบนด์แบบครบวงจร เน้นสื่อดาวเทียมและสื่ออินเทอร์เน็ตอื่นๆ
3) ธุรกิจโทรศัพท์ในต่างประเทศ ให้บริการด้านโทรคมนาคมใน สปป. ลาว ผ่านการลงทุนในบริษัท เชนนิง ตัน อินเวสเม้นท์ส พีทีอี ลิมิเต็ด (เชน) เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ โดยบริษัทภายใต้การลงทุนของเชน ดังนี้
บริษัท ลาว เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์มหาชน (แอลทีซี) ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคมครบวงจรใน สปป. ลาว, บริษัท ทีพลัส ดิจิทัล จำกัด (ทีพลัส), บริษัท ลาวโมบายมันนี่ โซล จำกัด ให้บริการชำระเงินและโอนเงินดิจิทัล ภายใน สปป. ลาว ภายใต้แบรนด์ M-Money
ไทยคมยังมีธุรกิจร่วมทุนอื่นกับบริษัท เนชั่น สเปซ แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด ให้บริการดิจิทัลผ่านดาวเทียมเพื่อการสื่อสารทางทะเล และร่วมทุนกับบริษัท เอทีไอ เทคโนโลยีส์ จำกัด ภายใต้ความร่วมมือของบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (บริษัทย่อยของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน รวมทั้งให้บริการแบบครบวงจร มุ่งยกระดับผลผลิตด้านการเกษตร
ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับ GULF
เป็นการลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี มีโอกาสพัฒนาธุรกิจหลายรูปแบบต่อเนื่อง เป็นบริษัทไทยที่ประกอบธุรกิจในหลากหลายประเทศ ไม่ได้อิงรายได้จากภายในประเทศอย่างเดียว และมีโอกาสต่อยอดสู่ธุรกิจ New Space ที่มีศักยภาพเติบโตในอนาคต
แหล่งเงินทุนที่ใช้สำหรับธุรกรรมการซื้อขายหุ้นนั้นจะเป็นเงินหมุนเวียนภายในกิจการและ/หรือวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินและ/หรือการออกหุ้นกู้ และ/หรือตราสารหนี้อื่นๆ
ที่มา – SEC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา