นับเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของ GROHE สำหรับการขยายโรงงานในไทย เพื่อนำเอาเทคโนโลยีมาลง หวังเพิ่มการผลิตเป็น 2 เท่าจากเดิม เพื่อพร้อมแข่งขันในตลาดระดับโลก เพราะตอนนี้ทำตลาดในยุโรปได้ดี เลยขอลุยหนักฝั่งเอเชียบ้าง ตลาดกำลังไปได้สวย
ลงทุนครั้งใหญ่ เน้นเทคโนโลยี ขยายการผลิตเพิ่ม 2 เท่า
GROHE (โกรเฮ่) บริษัทผู้ผลิตสินค้าผู้ก๊อกน้ำ ฝักบัว และสินค้าสุขภัณฑ์ในห้องน้ำระดับพรีเมี่ยมรายใหญ่ของโลกและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทลิกซิล (LIXIL Group Corporation) จากญี่ปุ่น ตัดสินใจขยายโรงงานในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง หลังจากที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2005
- โดยครั้งนี้จะเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของแบรนด์ คิดเป็นเงินมูลค่า 30 ล้านเหรียญ (1 พัน 65 ล้านบาท)
- และสัญญาว่าจะจ้างงานเพิ่ม 800 ตำแหน่งภายใน 5 ปีนับจากนี้
- พร้อมทั้งจะขยายการผลิตขึ้น 2 เท่า แต่เดิมผลิตได้ 6 ล้านชิ้นต่อปีเป็น 12 ล้านชิ้นต่อปี
กว่า 1 พันล้านบาทกับการขยายโรงงาน โกรเฮ่จะใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ พูดอีกอย่างก็คือ เงินทุนจะลงไปที่การลงทุนเทคโนโลยีเป็นหลัก เป็นต้นว่า การใช้พลังงานจากโซล่าเซลล์ถึง 1 ใน 3 ของโรงงาน นอกจากนั้นยังเน้นไปที่ความยั่งยืน โกรเฮ่เรียกโรงงานแห่งใหม่ในระยองของตัวเองนี้ว่าเป็น “โรงงานที่ยั่งยืนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
แม้ว่าจะตั้งโรงงานในไทย แต่โกรเฮ่บอกว่า สัดส่วนสินค้าที่จะจำหน่ายออกไปจะคิดเป็น 80% ส่งขายนอกเอเชีย ส่วนใหญ่ก็จะไปยุโรป เพราะยุโรปเป็นตลาดใหญ่ของโกรเฮ่ โดยเฉพาะบ้านเกิดอย่างเยอรมนี รวมถึงฝรั่งเศสที่โกรเฮ่ก็ครองตลาดเป็นเบอร์ใหญ่ของสินค้าสุขภัณฑ์
“เทคโนโลยีอยู่ใน DNA ของเรา”
ในงานแถลงวันนี้ ไมเคิล เราแทรคุซ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโกรเฮ่ เล่าให้ฟังถึงการขยายโรงงานและอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับแบรนด์ สรุปได้ว่า
“การขยายโรงงานครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญของการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต เพราะสิ่งที่สำคัญที่เป็นปรัชญาพื้นฐานของเราคือเทคโนโลยี เทคโนอยู่ใน DNA ของเรา”
“การคงมาตรฐาน MADE IN GERMANY มาได้หลายทศวรรษไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราทำได้ เวลาผู้คนซื้อสินค้าเหล่านี้ เขาคิดอยู่ 2 อย่างคือ เทคโนโลยีและความแตกต่าง นี่คือสิ่งสำคัญที่เราทุ่มเทมาโดยตลอด”
“ในท้ายที่สุดแล้ว (at the end of the day) ลูกค้าซื้อของเราเพราะดีไซน์ (design) หลังจากที่บริษัทลิกซิล บริษัทญี่ปุ่นซื้อเราแล้ว หลังจากนั้นเราทำตลาดได้ดีอย่างเหลือเชื่อ มาตรฐานจากญี่ปุ่น ดีไซน์โดยเยอรมัน ใครจะไม่ชอบ”
ไทยมีศักยภาพ : “เรามองเห็นอนาคตของตลาดเอเชีย”
ผู้บริหารของโกรเฮ่บอกว่า ถ้าว่ากันตามตัวเลข ขณะนี้ตลาดใหญ่ของเรายังเป็นยุโรป เอเชียเป็นอีกตลาดที่ยังตามหลังอยู่ แต่สิ่งที่เรามองเห็นคือศักยภาพของตลาด ตลาดเอเชียโตไวมาก (fast growing) ส่วนมาในไทยก็ชัดเจนว่า เราได้สร้างโรงงานมาก่อนหน้าแล้วในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ผ่านไป 22 ปี ครั้งนี้จึงเป็นการขยายโรงงานครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มฐานการผลิต และพร้อมมากขึ้นที่จะเข้าแข่งขันในระดับโลก อีกอย่างคุณภาพของเราพร้อมแล้ว เหลือแต่การผลิตให้ทันความต้องการเท่านั้น
MADE IN THAILAND ด้วยแรงงานไทย + วิศวกรเยอรมนีและญี่ปุ่น
การขยายโรงงานครั้งนี้จะทำให้โกรเฮ่สามารถผลิต “ก๊อกผสมก้านโยก” ได้เต็มรูปแบบในไทย (สินค้าตัวนี้) ด้วยเนื้อที่กว่า 12,000 ตารางเมตรประกอบกับเทคโนโลยีมาตรฐานเยอรมนีที่จะขนเข้ามาเต็มสูบ พร้อมทั้งวิศวกรชาวเยอรมันและญี่ปุ่น นี่จึงถือเป็นการเสริมศักยภาพของโรงงานแห่งนี้ในไทยอย่างมาก
นอกจากนั้น โกรเฮ่แอบเปรยว่าจะบุกไปทำในส่วนของสินค้าในห้องครัวมากขึ้น แต่โดยตัวธุรกิจยังเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำหรือสุขภัณฑ์เป็นหลักก่อน
สรุป : มองไทยในฐานะประเทศที่กำลังจะก้าวไปเป็น Thailand 4.0?
โกรเฮ่ลงทุนกว่า 1 พันล้านบาทเพื่อขยายโรงงานผลิตในระยอง ถือเป็นข่าวดีระดับหนึ่งในการลงทุนจากต่างชาติ เพราะจะทำให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น ส่วนตัวโกรเฮ่เองก็ได้ฐานการผลิตที่เข้มแข็ง เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีศักยภาพในภาคการผลิต
ที่ต้องตระหนักคือ คนไทยจะถูกจ้างงานในภาคการผลิตไปอีกนานเท่าไหร่? เพราะประเทศไทยในฐานะที่ (ภาครัฐประกาศว่า) จะเดินไปเป็น Thailand 4.0 ในอนาคตต้องหันมาขบคิดเรื่องนี้ให้ดี เพราะภาคการผลิตเป็นภาคส่วนของงานที่ไม่ใช่อนาคต แจ๊ค หม่า เจ้าพ่อแห่ง Alibaba ก็พูดย้ำเรื่องนี้มาเสมอ ว่าภาคการผลิตต้องไม่ใช่ภาคส่วนของการจ้างงานหลัก เพราะในท้ายที่สุดหุ่นยนต์ AI ทำแทนเราได้หมด
ถ้าจะมีข้อดีสำหรับประเทศไทย นั่นก็คือ เราควรจะใช้ประโยชน์จากการลงทุนของต่างชาติเพื่อเรียนรู้และสะสมข้อมูลองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี แล้วอาจจะถึงวันที่ไทยจะมีแบรนด์เป็นของตัวเอง ทิ้งให้ภาคการผลิตของไทยเป็นส่วนหนึ่งของการจ้างงาน ไม่ใช่พลังหลัก จากนั้นก็พาประเทศเข้าสู่ยุค 4.0 กันจริงๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าความคิดที่ว่ามานี้ แลว่าจะเป็นภาพวาดในฝันจางๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศ แล้วก็พร้อมจะมลายหายไปได้ทุกเมื่อเชื่อวัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา