เมื่อ “กูลิโกะ” เดินเกม Co – Branding ในตลาดไทย แล้ว Snack ท้องถิ่นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ถือเป็นอีกเหตุการณ์สำคัญในวงการณ์ Snack หรือขนมขบเคี้ยวในประเทศไทย เพราะ กูลิโกะ เตรียมประกาศแผนร่วมมือกับผู้เล่นรายอื่น หรือ Co – Branding เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับสินค้า และสร้างวาไรตี้ให้กับตลาดนี้ จนอาจสร้างความหนักใจให้กับคู่แข่ง แต่จะจริงหรือไม่นั้น ต้องไปรับฟังจากปากของผู้บริหารกัน

a-1
กฤษดา นุรักษ์เข ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป กลุ่มงานการขาย บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด และอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง

ครั้งแรกของไทย แต่ญี่ปุ่นทำมาเยอะแล้ว

กฤษดา นุรักษ์เข ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป กลุ่มงานการขาย บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด เล่าให้ฟังว่า ในประเทศญี่ปุ่นได้ใช้กลยุทธ์ Co – Branding มาระยะหนึ่งแล้ว เช่นการร่วมกับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และฟาร์มปลูกเมล่อน เพื่อปรุงรสชาติให้ออกมาแตกต่าง เพราะถ้าจะพึ่งแค่นวัตกรรมของบริษัทก็คงไม่ได้ ประกอบกับ Life Cycle ของขนมคบเคี้ยวบางรสชาติก็อยู่ได้เพียง 2 – 5 ปี ทำให้มันต้องมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาตลอด

“การ Co – Branding ก็ได้ประโยชน์ทั้งฝั่งคู่ค้า และเรา เพราะสามารถสร้างการเติบโตไปพร้อมกันได้ ประกอบกับการมีรสชาติใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนามาจากแบรนด์คู่ค้า เมื่อมารวมกับเอกลักษณ์ขนมของเรา ทั้ง Pocky, Collon และ Pretz ก็ทำให้สร้างสีสันให้กับตลาดขนมได้เรื่อยมา โดยในไทยจะนำกลยุทธ์ Co – Branding เข้ามาใช้ในปีนี้ หลังจากหารือกันมาตั้งแต่ต้นปี”

pretz

เริ่มต้นที่ “เถ้าแก่น้อย” ก่อนไปที่แบรนด์ท้องถิ่น

ทั้งนี้ Co – Branding รายแรกของ กูลิโกะ คือ เถ้าแก่น้อย ผ่านการนำรสชาติสาหร่ายต้นตำหรับของแบรนด์ เถ้าแก่น้อย ผสมเข้าไปในแป้งบิสกิตอัดแท่ง เกิดเป็นขนม Pretz รสชาติใหม่ คือรส Nori Seaweed (โนริสาหร่าย) โดยขนมตัวนี้จะจำหน่ายในรูปแบบจำกัดเวลา คือเริ่มจำหน่ายเดือนพ.ย. 2559 – ม.ค. 2560 และบริษัทจะรับผิดชอบช่องทางจำหน่ายโมเดิร์นเทรด ส่วน เถ้าแก่น้อย จะรับผิดชอบในช่องทางอื่นๆ

สำหรับเป้าหมายของ Pretz รสชาติใหม่นั้นวางไว้ที่ 32 ล้านบาทภายในระยะเวลาข้างต้น และคาดว่าจะช่วยขยายช่วงอายุกลุ่มรับประทาน Pretz จากเดิมเป็นวัยรุ่นช่วง 20 – วัยทำงานที่อายุไม่เกิน 30 ปี เพราะตัวสาหร่ายเถ้าแก่น้อย มีวัยทำงานตอนปลาย และผู้สูงอายุรับประทานอยู่จำนวนมาก ดังนั้นโอกาสที่กลุ่มดังกล่าวจะขยับเข้ามาซื้อ Pretz รสชาติอื่นๆ ก็มีสูง

ปัจจุบัน Pretz ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดคือ รสลาบ, Corn, Fried, ต้มยำ และ Pizza ตามลำดับ

pretz

ตลาด Snack และ Biscuit ยังซบ

กฤษดา ยอมรับว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และผู้บริโภคยังไม่กล้าจับจ่าย ทำให้ภาพรวมตลาด Snack หรือขนมขบเคี้ยวมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท ไม่เติบโต 10% เหมือนกับปีอื่นๆ แต่ถ้าเจาะไปที่ขนมประเภท Buscuit ภาพรวมจะเติบโตจากปีก่อนราว 4% คิดเป็นมูลค่า 12,000 – 15,000 ล้านบาท โดย กูลิโกะ มีส่วนแบ่งในตลาดนี้อยู่ 18% รายได้ปีนี้ปิดที่ 3,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15%

“ปีนี้เราทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ รวมถึงจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อปูพรมเรื่องการรับรู้ของแบรนด์เช่นเดิม แต่ถึงทำขนาดนี้บริษัทก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายรายได้ที่ตั้งไว้เมื่อต้นปีที่ 3,500 ล้านบาทได้ แต่เชื่อว่า Pretz รสใหม่ และการร่วมกับแบรนด์อื่นๆ ที่อยู่ระหว่างเจรจา เพื่อเดินหน้ากลยุทธ์ Co – Branding จะทำให้ภาพรวมบริษัทกลับมาเติบโตได้ตามเป้าหมายในปีหน้าอีกครั้ง”

สรุป

กลยุทธ์ Co – Branding เริ่มเห็นในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นการร่วมออกแบบสมาร์ทโฟนระหว่าง Leica กับ Huawei เพราะการร่วมกันพัฒนาโปรดักต์ย่อมสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ได้มากกว่าการคิดคนเดียว และถ้าจะให้คาดเดาว่า กูลิโกะ จะไปร่วมกับแบรนด์ไหน คิดว่าคงไม่พ้นกลุ่มขนมขบเคี้ยวด้วยกัน เพราะถ้าไปร่วมกับผลผลิตทางการเกษตรอาจยังไม่มีจุดเด่นเท่าเมล่อนญี่ปุ่น ที่มีสตอรี่ และรสชาติเป็นเอกลักษณ์

ส่วนการ Co – branding จะสร้างแรงกระเพื่อมในตลาด Snack อย่างไรบ้าง ก็คงตอบได้แค่ว่า คู่แข่งก็คงหวั่นๆ เพราะเมื่อยักษ์ใหญ่สองรายจับมือกัน มีครั้งแรก ก็ย่อมมีครั้งต่อๆ ไป และผู้เล่นรายเล็ก หรือผู้เล่นที่ไม่มีเอกลักษณ์ก็คงอยู่ลำบากหลังจากนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา