รู้จัก Temu อีคอมเมิร์ซจีน ที่ขยี้คู่แข่งด้วยราคา จนอเมริกายังกลัว ตอนนี้เข้าไทยแล้ว

เริ่มจากเรื่อง Temu อีคอมเมิร์ซน้องใหม่ที่อยู่ดีๆ ก็โผล่ขึ้นมา กลายเป็นแอปที่มียอดดาวน์โหลดสูง Top 1 ในหมวด Shopping ของไทย แซงหน้า Shopee

คำถามคือ Temu คือใคร ทำไมมาแรง แล้วเข้ามาในไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ มีเป้าหมายในการทำธุรกิจอย่างไรบ้าง Brand Inside จะอธิบายทั้งหมดในบทความนี้

Temu e-commerce China

Temu อีคอมเมิร์ซจีนที่กำลังบุกตลาดโลก จนหลายคนเริ่มกลัว

ถ้าไปเปิดดูข้อมูลจาก Temu ว่าเขาคือใคร ในหน้าเว็บไซต์บอกว่า เขาคือบริษัท e-commerce สัญชาติจีน ที่ต้องการเชื่อมต่อกับลูกค้า คู่ค้า ผู้ผลิต และหลากหลายแบรนด์ โดยมีภารกิจว่า “ต้องการทำให้ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

ด้วยเหตุนี้เอง Temu จึงชูหลักการในการนำเสนอสินค้าให้ลูกค้าในราคาที่จับต้องได้ ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่า Temu เอง ก็มีความหมายว่า รวมทีมและลดราคาซะ!

แต่อันที่จริงแล้ว บริษัทแม่ของ Temu คือยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจากจีนที่ชื่อว่า ‘Pinduoduo’ อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีนที่ก่อตั้งในปี 2015 และเป็นเบอร์ 3 ของจีนรองมาจาก Taobao และ Douyin

ส่วน Temu คือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เอาไว้เล่นในตลาดนอกจีนเป็นหลัก ซึ่งเท่าที่มีข้อมูล พบว่า เมืองแรกที่ Temu เข้าไปบุกคือ เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 2022

นอกจากนั้น ข้อมูลจาก Pandaily รายงานว่า Temu ก็บุกต่อเนื่อง โดยขยายไปเปิดให้บริการในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในเดือนมีนาคมปี 2023

จากนั้นไม่นาน Temu ก็ไปเปิดตัวในฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน และสหราชอาณาจักร

เรียกได้ว่า เน้นบุกตลาดฝั่งตะวันตก และอีกภาพที่เริ่มเห็นคือ ตอนนี้ Temu ก็เริ่มบุกตลาดละตินอเมริกาด้วยแล้ว..

ต้นปี 2024 ที่ผ่านมา Temu เริ่มเปิดตัวในแอฟริกาใต้ ถ้าเรานับรวมแล้ว ตอนนี้ Temu สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วในกว่า 49 ประเทศ ครอบคลุมทั้งเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ โอเชียเนีย และแอฟริกา

ปัจจุบันแอป Temu มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 200 ล้านครั้ง

ข้อมูลจาก SimilarWeb รายงานว่า

  • เมื่อปลายปี 2023 ที่ผ่านมา Temu มี unique customer กว่า 467 ล้านแอคเคาท์ ส่งผลให้ Temu ไต่ขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลกได้ ตามหลังแค่ Amazon ที่มีผู้เยี่ยมชมอยู่ที่ 2,345 ล้านแอคเคาท์ และ Shein ที่อยู่อันดับ 3 มีผู้เยี่ยมชมอยู่ที่ 172 ล้านแอคเคาท์

ปัจจุบัน Pinduoduo บริษัทแม่ของ Temu มีทราฟฟิกของคนเข้าเยี่ยมชมแพลตฟอร์มรายเดือนอยู่ที่ 354.4 ล้านต่อเดือน ถือว่าเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งเกิดเมื่อปี 2015 แต่ก็กลายเป็นบริษัทที่โตเร็วที่สุดในโลก มีอัตราการเติบโตที่สูงมากถึง 50% จำนวนของฐานผู้ใช้งานแพลตฟอร์มก็ไล่ทันทั้ง Alibaba และ JD แล้ว

Temu download

Pinduoduo และ Temu มาแรง จนยักษ์ใหญ่จากอเมริกาและจีนสะเทือนกันไปหมด

ข้อมูลจาก Nikkei Asia เคยรายงานไว้เมื่อปลายปี 2023 ที่ผ่านมาว่า Pinduoduo หรือ PDD ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Temu เคยเป็นบริษัทที่ Jeff Bezos มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของโลก เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่แห่งอเมริการู้สึกกังวลกับการทะยานขึ้นมาอย่างรวดเร็วของบริษัทจีน แน่นอนว่าก่อนหน้านี้ย่อมรวม Alibaba ไปด้วย

การเติบโตอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจของ Temu นั้น เห็นได้จากการที่ Temu ขึ้นแท่นเป็นแอปพลิเคชันที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา และบางประเทศในยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร

แถมยังครองแชมป์แอป shopping ที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ถือเป็นการต้อนรับอย่างถล่มทลายโดยใช้เวลาไม่กี่เดือนหลังเปิดตัว

เรื่องนี้ โฆษกจาก Temu กล่าวไว้ว่า “เราได้พยายามที่จะเสนอประสบการณ์ในการ shopping ออนไลน์แบบใหม่ ที่มันช่วยทำให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น”

ปลายปีที่ผ่านมา มูลค่าตลาดของ Pinduoduo ก็เติบโตแซงหน้า Alibaba ไปแล้วเรียบร้อย กลายเป็นบริษัทจีนที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ ที่มีมูลค่ามากที่สุด

การเติบโตดังกล่าวของ PDD ย่อมส่งผลสะเทือนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซออนไลน์โดยเฉพาะในจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนทำให้ทั้ง Jack Ma แห่ง Alibaba ถึงกับให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลง ส่วน JD นั้น ผู้ก่อตั้งอย่าง Richard Liu ก็ยอมรับว่า JD ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

Temu e-commerce platform

และในที่สุด Temu ก็บุกไทยแล้ว เปิดตัวเงียบๆ แต่หลายคนขนลุก

รายงานจาก The Low Down ระบุว่า Temu เข้ามาเปิดตัวเงียบๆ ในไทยเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นประเทศอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามหลังมาเลเซียกับฟิลิปปินส์ไปเกือบปี

The Low Down อ้างข้อมูลจากรายงานของ Ecommerce in Southeast Asia 2024 report ระบุว่า ไทยมีขนาดตลาดอีคอมเมิร์ซใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย และมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากเวียดนาม อัตราเติบโตปีต่อปีอยู่ที่ 34.1%

สินค้าสามารถนำขึ้นรถบรรทุกส่งตรงจากกวางโจวถึงกรุงเทพฯ ได้แบบ Door to Door Delivery (หมายความว่า ผู้ให้บริการจะรับพัสดุจากต้นทางส่งยังปลายทางให้ถึงมือผู้รับ โดยผู้ส่งแค่เตรียมพัสดุเท่านั้น) ใช้เวลาน้อยกว่า 5 วันและราคาต่ำกว่าขนส่งทางทะเล

ปี 2023 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ครองตลาดไทยอันดับ 1 คือ Shopee ส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 49% ตามด้วยอันดับ 2 คือ Lazada อยู่ที่ 30% และอันดับ 3 TikTok Shop อยู่ที่ 21%

มีการวิเคราะห์ว่า การขยายตลาดของ Temu นี้ เป็นความพยายามที่จะเจาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงอินโดนีเซียด้วย

China
เคล็ดลับ Temu ขายสินค้ายังไง ทำไมขายได้ถูกขนาดนี้?
ดูวิธีบุกตลาดในชาติอื่นของ Temu ก่อนที่ไทยจะเป็นรายต่อไป..

ขอดูเคล็ดลับหน่อย ขายยังไง ทำไมขายได้ถูกขนาดนั้น?

เรื่องขายของได้ถูกแสนถูก ไม่ใช่แค่เราที่สงสัย แต่ใครๆ ก็สงสัย ข้อมูลจาก ZDNet ตั้งคำถามแบบเดียวกัน ทำไม Temu ขายของได้ถูกขนาดนั้น

นอกจาก Temu จะเป็นแอปฟรีที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดทั้งใน Google Play และ App Store แล้ว ยังมีคนรุ่นใหม่ที่พร้อมซื้อสินค้าเพื่อเอาไปรีวิวที่ช่วยโปรโมต Temu ไปในตัวผ่านแพลตฟอร์ม TikTok ด้วย

ก่อนจะบุกไทย Temu เคยบุกสหรัฐอเมริกามาก่อน เขาใช้วิธีแบบไหนถึงครองตลาดสหรัฐอเมริกาได้?

ยึดหลักแห่งการยกเว้นภาษี

ZDNet อ้างถึงรายงานจาก U.S. House Select Committee on the Chinese Communist Party (คณะกรรมาธิการกลั่นกรองแห่งสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์จีน) ระบุว่า Temu นั้นใช้วิธีพึ่งหลักแห่งการยกเว้นภาษี เพื่อที่จะสามารถส่งสินค้าไปยังศุลกากรสหรัฐอเมริกาได้ในราคาต่ำ

การขนส่งที่มีมูลค่าต่ำกว่า 800 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 28,000 บาท จะไม่ได้รับการตรวจสอบจากศุลกากร หรือไม่ต้องเสียภาษี

ต้นทุนสินค้าต่ำ

อ้างข้อมูลจาก Wired สินค้าที่มีราคาต่ำนี้ไม่ใช่แค่เพราะสินค้าราคาต่ำด้วยตัวเอง แต่มันมีการอุดหนุนราคาจากแบรนด์ Temu ด้วย

วิธีการก็คือ Temu ยอมเสียเงิน 30 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1,000 บาทต่อออเดอร์ เพื่อให้สามารถครองตลาดสหรัฐอเมริกาได้ด้วยการเสนอสินค้าในราคาที่ต่ำกว่า

(เช่น สินค้าอาจจะมีราคา 60 บาท แต่ทาง Temu ยอมจ่ายแทนลูกค้า 30 บาท ดังนั้น ลูกค้าจะซื้อสินค้าได้ในราคา 30 บาท แน่นอนอยู่แล้วว่าลูกค้ามักจะเลือกซื้อสินค้าที่ราคาต่ำกว่าหากมีคุณภาพที่ไม่แตกต่างกันมาก)

Temu ยอมเสียเงินประมาณ 588 ล้านเหรียญสหรัฐถึง 954 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 20,000 ล้านบาทถึง 34,000 ล้านบาทต่อปีเพื่อเอามาอุดหนุนสินค้าให้ราคาถูกลง

Temu จะกดดันให้ผู้ผลิตขายสินค้าในราคาต่ำ บวกกับต้องพยายามลดราคาให้ลูกค้าด้วย ทำให้ผู้ผลิตที่ขายสินค้ากับ Temu มักจะได้กำไรน้อย บ้างก็ไม่ได้กำไรเลย

จากนั้น Temu ก็จะพยายามทำให้ลูกค้าซื้อสินค้ากับ Temu บ่อยขึ้น ถี่ขึ้น เพื่อที่จะชดเชยส่วนต่างที่ Temu ต้องจ่าย (Temu จ่ายเงินอุดหนุนส่วนต่างแทนลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลง)

Temu มีจุดขายที่ผลิตสินค้าได้เร็ว ทันสมัย จึงสามารถขายสินค้าที่กำลังอินเทรนด์ได้มหาศาล

ความสามารถในการผลิตสินค้าได้เหมือนแบรนด์จริง

Temu มีความสามารถในการผลิตสินค้า ผลิตได้เก่ง ผลิตได้ดี ผลิตได้เหมือนสินค้าแบรนด์เนมของแท้ สินค้าส่วนใหญ่ของ Temu มักเป็นสินค้าไร้แบรนด์และมักเป็นสินค้าที่ผลิตได้เป็นจำนวนมาก

คุณสามารถหาสินค้าใน Temu ที่เหมือนสินค้าแบรนด์เนมได้หลากหลายและเหมือนจริงมาก

คุณจะสามารถหาซื้อแก้วน้ำ Stanley หรือหูฟัง AirPods Max ได้ในราคาต่ำกว่า 15 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 500 กว่าบาทเท่านั้น ขณะที่ราคาจริงนั้นต่างกันลิบลับ

ลูกค้าได้ประโยชน์เพราะของถูก แต่ประเทศไทยได้อะไรกลับไปบ้าง?

จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ มักจะมีบทวิเคราะห์จำนวนมากจากนักเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันวิจัยของธนาคาร ที่มักจะมองว่า ตลาดไทยกำลังกลายเป็นแหล่งระบายรถยนต์ EV ของจีนซึ่งมีสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่มีสัญญาณว่าจะฟื้นตัวและยอดขายก็เริ่มชะลอตัวลงแล้ว

แน่นอนว่า อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็จะพบว่า ไม่ใช่แค่รถยนต์อีวีสัญชาติจีนที่รอระบายแล้ว แต่ยังมีสินค้าที่ผลิตจากจีนอีกมหาศาลที่กำลังรอระบายด้วย ล่าสุด โรงงานในไทยหลายแห่งทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กก็เริ่มทยอยปิดตัว ผลกระทบส่วนหนึ่งก็มาจากการบุกตลาดของทุนจีน

ทั้ง KKP Research และ CIMB ต่างเห็นตรงกันว่า ไทยกำลังกลายเป็นแหล่งระบายสินค้าจากจีน และการนำเข้าสินค้าราคาถูกมากในจำนวนมากจากจีนดังกล่าว ส่งผลให้ในที่สุดผู้ประกอบการไทยจะสู้ไม่ได้และค่อยๆ ปิดตัว

นี่ไม่ใช่แค่การนำเข้าเท่านั้น แต่เป็นการเปิดตัวของพ่อค้าแม่ค้าจีนที่พร้อมลุยขายในตลาดไทยเอง ในมุมนี้จะนำไปสู่การตัดหน้าที่พ่อค้าคนกลางที่เป็นคนไทยที่เคยนำเข้าสินค้าจีนมาขาย แต่เป็นการขายตรงจากไทยได้เอง อาชีพที่เคยนำเข้าสินค้าจีนก็จะค่อยๆ หายไปจากตลาดด้วย

ที่มา – Nikkei Asia, The Low Down, Pad Daily, Temu, TMO Group, ZDNet

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา