ทำความรู้จัก Revenge Bedtime Procrastination ถึงเวลานอน ไม่ยอมนอน เลื่อนเวลานอนไปเรื่อยๆ

รู้จัก “Revenge Bedtime Procrastination” ถึงเวลานอนแล้วไม่ยอมนอน เอาแต่เลื่อนเวลาไปเรื่อยๆ เพื่อพักผ่อน..? 

หลายๆ คนเมื่อทำงานมาเหนื่อยทั้งวัน หรือดูแลลูกหรือพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่จนไม่มีเวลาส่วนตัว เมื่อถึงเวลานอน อาจจะมีพฤติกรรมที่ชอบเลื่อนเวลานอนออกไปเรื่อยๆ เพียงเพราะต้องการใช้ชีวิตหลังจากทำงานหนักมาทั้งวัน ไม่ว่าจะดูหนังหรือซีรีส์เรื่องโปรดจากสตรีมมิงที่ชอบ หรือคุยกับเพื่อน เล่นเกม หรือทำกิจกรรมที่ชอบ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ขยับเวลานอนออกไปเรื่อยๆ  

Sleep

ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “Revenge Bedtime Procrastination” หรือ “Sleep Procrastination” คือการผัดเวลาในการนอนหลับออกไปเรื่อยๆ เพื่อจะใช้เวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น เขาบอกว่า มันคือความรู้สึกดีที่เราได้รับในช่วงเวลานั้น แม้จะทำให้เรานอนดึกมากขึ้น หรือจำเป็นต้องตื่นเช้าในวันถัดไปก็ตาม เราก็จะยังยอมนอนดึกต่อไปอยู่ดี

ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้คนที่ทำผิดจากการเลื่อนเวลานอนออกไปเรื่อยๆ ยังเป็นกลุ่มเดียวกับคนที่เลื่อนเวลาในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตัวเองรับผิดชอบออกไปเรื่อยๆ เช่นกัน หมายความว่า บางครั้งคนที่มีนิสัยที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งก็คือคนกลุ่มนี้

นอกจากนี้ ยังมีงานศึกษาอีกว่า กลุ่มคนที่ชอบผัดเวลานอนให้ดึกขึ้นเรื่อยๆ ก็มักจะเป็นผู้หญิงและนักเรียนที่มักมีปัญหากับการนอนและเลื่อนเวลาออกไปให้ดึกขึ้นเช่นกัน ในที่นี้ยังรวมทั้งคนที่อยู่ในวัยที่เป็นพ่อแม่หรือผู้ที่ทำงานเข้ากะ ก็มักจะอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย พวกเขายินดีที่ตัวเองจะนอนให้ดึกขึ้น เพื่อจะให้ตัวเองได้มีความสุขกับการใช้เวลาส่วนตัวกับตัวเองมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การเลื่อนเวลานอนออกไปเรื่อยๆ กับการอดนอนนั้นแตกต่างกัน เพราะถ้าเลื่อนเวลานอนออกไปบ้าง แต่นอนได้เพียงพอก็อาจไม่ได้สร้างปัญหาได้เท่ากับการอดนอน การอดนอนคือการนอนไม่พอ นอนน้อย และการอดนอนก็สามารถทำให้เกิดโรคต่างๆ ดังนี้ โรคซึมเศร้า โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคอ้วน และโรคหลอดเลือดสมอง

อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาจาก Harvard Medical School พบว่า ใครก็ตามที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืน ก็อาจจะกลายเป็นโรคสมองเสื่อมได้ ถ้าเทียบกับคนที่นอนได้ 6-8 ชั่วโมงต่อคืน

มาดูจิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลัง Bedtime Procrastination กันบ้าง

ข้อมูลจาก Sleep Foundation รายงานว่า คนที่เลื่อนเวลานอนออกไปจากเวลาเดิมที่ต้องนอนเป็นปกตินั้น เรื่องนี้ยังมีข้อถกเถียงทางจิตวิทยาอยู่บ้าง เพราะคนที่มีความสมัครใจที่จะนอนน้อยลงต่างก็รู้ดีอยู่แล้วว่า แม้จะนอนให้น้อยลงเพราะเลื่อนเวลานอนออกไป ก็ต้องนอนให้เพียงพอ

คำอธิบายสำหรับคนที่นอนน้อยลงและรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วว่าร่างกายต้องนอนให้เพียงพอนั้น จากงานศึกษาด้านจิตวิทยาระบุว่า พวกเขาล้มเหลวที่จะควบคุมตัวเอง ศักยภาพในการควบคุมตัวเองลดลงต่ำที่สุดในช่วงใกล้หมดวัน ทำให้ต้องเลื่อนเวลานอนออกไป

อย่างไรก็ดี คำอธิบายดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะเห็นด้วย เพราะคนบางกลุ่มคือกลุ่มที่เรียกว่า Night Owls หรือกลุ่มคนที่มีพลังงานในช่วงค่ำคืน คนกลุ่มนี้ได้พยายามปรับตัวให้เป็นกลุ่ม Early Birds แล้ว (กลุ่มที่มีพลังงานสูงในช่วงเช้า กลุ่มคนตื่นเช้า) ดังนั้น เมื่อหมดวันเขาจึงใช้เวลาเพิ่มไปกับการ Revenge Bedtime Procrastination คือเลื่อนเวลานอนออกไป เพราะเขามีพลังงานมากในช่วงนี้ มันจึงไม่ใช่ความล้มเหลวในการควบคุมตัวเอง แต่เป็นการพยายามชดเชยเวลาให้ตัวเองเพื่อตอบสนองความเครียดที่ตัวเองรับมืออยู่

จากการศึกษาระบุว่า การเลื่อนเวลานอนออกไปเรื่อยๆ นี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะโควิดระบาดและทำให้ผู้คนเครียดมากขึ้น อยู่บ้านนานขึ้น ผลสำรวจพบว่า การทำงานจากบ้านทำให้ขยายเวลาในการทำงานนานขึ้น ปัจจัยที่ทำให้เครียด และเลื่อนเวลานอนออกไปส่งผลกระทบต่อผู้คนเกือบ 40% และมีปัญหาเรื่องการนอนในช่วงโควิดระบาด

แม้เราจะบอกว่าการเลื่อนเวลานอนออกไปเรื่อยๆ ไม่เท่ากับ อดนอน ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะแยกขาดออกจากกัน เพราะคนที่เลื่อนเวลานอนออกไปเรื่อยๆ มักจะนำไปสู่ภาวะการอดนอน การนอนไม่พอ ทำให้ร่างกายและจิตใจไม่ได้ชาร์จพลังงานใหม่และส่งผลลบต่อสุขภาพ การนอนไม่พอดังกล่าว ส่งผลให้คิดได้ช้าลง ความจำแย่ลงและตัดสินใจได้ไม่ดีเหมือนเก่า

นอกจากนี้ มนุษย์มีความต้องการจำนวนชั่วโมงสำหรับนอนแตกต่างกัน ต้องหาสมดุลตัวเองให้เจอ รู้จักพักเมื่อรู้สึกเพลียด้วยการงีบหลับสั้นๆ 20 นาที 

Sleep

อดนอนทั้งสัปดาห์ ใช้นอนชดเชยไม่ช่วยอะไร?

การนอนชดเชยช่วงสุดสัปดาห์อาจไม่ได้สร้างผลบวกเสมอไป เช่น หากคุณนอนวันจันทร์-ศุกร์น้อย แล้วไปนอนชดเชยวันเสาร์-อาทิตย์นั้น พบว่า ร่างกายไม่สามารถชดเชยชั่วโมงการนอนที่สูญเสียได้ทั้งหมด

หมายความว่าถ้าทั้งสัปดาห์ นอนน้อยรวมกัน 10 ชั่วโมง วันหยุดจะนอนเพิ่มขึ้นวันละ 5 ชั่วโมง แต่ร่างกายไม่สามารถชดเชยได้ขนาดนั้น อย่างมากก็ได้เพียง 2-3 ชั่วโมงเอาจริงๆ แล้วการนอนน้อยเกินไป การอดนอนส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว

นอกจากนี้ การอดนอนจะทำให้สมองบกพร่องและนำไปสู่การหลับในได้ คนที่นอนไม่ถึง 4 ชั่วโมงมีแนวโน้มประสบอุบัติเหตุมากกว่าคนนอน 8 ชั่วโมงถึง 11 เท่า มีงานวิจัยพบว่า พ่อแม่มือใหม่และแพทย์จบใหม่จะต้องเผชิญกับปัญหานี้ และแพทย์จบใหม่ที่เข้าเวรต่อเนื่อง 34 ชั่วโมง ทำการวินิจฉัยพลาดถึง 460%

การนอนส่งผลต่อเศรษฐกิจด้วย

การนอนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย หรือเรียกว่า Sleep Economy คือการรวมสินค้าและบริการที่ส่งเสริมให้คนนอนหลับได้ง่ายขึ้น รวมทั้งแก้ปัญหาคนนอนไม่หลับด้วย ซึ่งเศรษฐกิจเกี่ยวกับการนอนนี้ ในปี 2567 ในระดับโลก มีแนวโน้มเติบโตสูงถึง 5.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 20.8 ล้านล้านบาท 

ขณะเดียวกัน การอดนอน การนอนน้อย ทำให้คนสูญเสีย Productivity ในการทำงาน สหรัฐอเมริกาเคยประเมินแล้วพบว่า มันส่งผลเสียต่อต้นทุนทางเศรษฐกิจมากถึง 4.11 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ถ้าเทียบเป็นการทำงานก็ถือว่าเสียเวลาในวันทำงานมากถึง 1.23 ล้านวัน

ทำอย่างไรจะป้องกันตัวเอง ไม่ให้เลื่อนเวลานอนออกไปเรื่อยๆ ได้อีก

1) พยายามรักษาระยะเวลาในการนอนหลับและการตื่นนอนให้เป็นเวลาเดิมเสมอ แม้ไม่ใช่วันทำงาน หมายความว่า จันทร์-อาทิตย์ ควรนอนและตื่นในเวลาเดิมทุกวัน

2) หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน ในยามบ่ายและช่วงเวลากลางคืน

3) หยุดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต อย่างน้อยครึ่งชั่วโมงขึ้นไปก่อนจะเตรียมตัวนอนหลับ

4) พยายามกำหนดเวลาให้เป็นกิจวัตรประจำวัน ทำให้สม่ำเสมอ และหากิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอน อาทิ การอ่านหนังสือ การนั่งสมาธิ การยืดตัวเพื่อผ่อนคลาย ฯลฯ

ที่มา – USA Today, Sleep Foundation, The Science of Living, Brand Inside, RAND

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา