รู้จักเหล้าคูณ จากขอนแก่น: วิถีวัฒนธรรมคู่ชุมชน อย่าให้ความรู้ถูกปิดกั้น ด้วยกฎหมายและอำนาจ

รู้จัก “เหล้าคูณ” จากขอนแก่น เหล้าจากการคิดค้นและบุกเบิกโดยปราชญ์ชาวบ้าน พ่อสวาท อุปฮาด นักเคลื่อนไหวทางสังคม อดีตประธานสมัชชาคนจน ผู้ปลุกปั้นเหล้าพื้นบ้านให้ผู้คนเข้าใจวิถีชุมชนมากขึ้น 

Koon-Spirits

ทำความรู้จักพ่อสวาท

สวาท อุปฮาด หรือชื่อที่ผู้คนเรียกขานกัน “พ่อสวาท” ปราชญ์ชาวบ้าน ที่เกิดและเติบโตในพื้นที่ชนบท ห่างไกลจากตัวเมืองของจังหวัดขอนแก่น เล่าให้เราฟังว่า “เหล้า” ถือเป็นวิถีทางวัฒนธรรมที่อยู่กับเขามาตั้งแต่รู้ความ

พ่อสวาทเล่าว่าตนเองเป็นคนชายขอบ อยู่ในชนบทห่างไกล หาเมืองไม่เจอ สมัยตั้งแต่เกิดมา ไม่รู้ว่าสังคมคืออะไรด้วยซ้ำ ในช่วงที่เป็นเด็กก็รับรู้แต่วิถีชุมชน ช่วงเด็กๆ สักประมาณอายุ 4-5 ขวบ ช่วงปี 2509 เคยมีเครื่องบินของอเมริกา B52 บรรทุกอาวุธยุทโธปกรณ์ไปหนุนกองกำลังที่เวียดนาม ช่วงนั้นก็มองเห็นเครื่องบินขับผ่าน 2-3 ลำ จากนั้นเครื่องบินก็มาตกแถวข้างบ้าน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ห่างจากบ้านราว 60 เมตร เครื่องบินตกตัดต้นไม้และพื้นที่แถบนั้นลุกเป็นไฟ กระจายตามทุ่งนา เป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดมาก็เจอเลย ก็ถือว่ารอดตายมาได้ครั้งหนึ่ง

จากนั้นก็ได้เป็นเด็กคนแรกๆ ของชุมชนที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือในอำเภอ เรียนชั้นมัธยม หลังจากนั้นถ้าจะเรียนต่อก็ต้องเข้าไปหาเรียนเมือง ต้องมีทุนไปเรียน ก็เลยหมดโอกาสในการเรียนหนังสือ จึงค่อยๆ ผันตัวไปขายแรงงานช่วงวัยรุ่นประมาณ 16-18 ปี ทำงานอยู่ 10 กว่าปี จากนั้นมีครอบครัวและกลับมาบ้าน ก็ทำงานกับพี่น้องชาวบ้านมาเรื่อยๆ

จนได้มีโอกาสเห็นผลกระทบจากนโยบายหลายเรื่อง ซึ่งก็ไปร่วมกับพี่น้องในพื้นที่ตามเครือข่ายประเด็นงานร้อนๆ เช่น เครือข่ายปัญหาป่าไม้ที่ดินและรวมตัวเป็นสมัชชาคนจน จนตอนหลังก็อยู่ตรงนั้นมา 10 กว่าปี ก็ได้เป็นประธานคณะทำงานของสมัชชาคนจน ได้เรียนรู้ปัญหาพี่น้อง เป็นตัวแทนพี่น้อง 7-8 เครือข่ายปัญหาทั่วประเทศ ได้มีโอกาสเข้าสู่วงเจรจาทั้งระดับพื้นที่ ระดับนโยบาย ก็เริ่มเข้าใจเรื่องอำนาจ เรื่องสังคม การเมืองเพิ่มมากขึ้น

ก็ถือว่าในช่วงที่ทำก็เห็นบทเรียนมากมายหลายเรื่องที่ได้มีโอกาสใช้ความเป็นตัวแทนของชาวบ้านไปเรียนรู้ ทำให้เข้าใจปัญหาสังคมเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นประสบการณ์ชุดต้นๆ จากการขับเคลื่อนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายและชาวบ้านทั่วไป ปัจจุบันยังอยู่ในกลไกนี้อยู่ ยังทำหน้าที่ต่อเนื่อง แต่บทบาทกลับมาอยู่ในระดับพื้นที่เครือข่ายจังหวัดเล็กๆ 3-4 แห่ง คือขอนแก่น กาฬสินธิ์ สกลนคร อุดรธานี

ทำประเด็นปัญหาป่าไม้ที่ดิน เช่น พี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ ถูกประกาศทับที่อยู่อาศัยที่ทำกินชาวบ้าน และที่ดินคือพี่น้องที่อยู่นอกเขตพื้นที่ป่าไม้และยังไม่มีเอกสารและถูกไล่รื้อ ปัญหาที่ดินทับซ้อนหลายเรื่อง ทั้งพื้นที่ป่า จำแนกที่สาธารณะ ที่ราชพัสดุ ที่ชลประทาน ฯลฯ เราพยายามรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายเพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาและนำเสนอปัญหาทั้งระดับพื้นที่และนโยบายพเพื่อที่จะผลักดันให้เกิดการแก้ไข

คนที่ได้รับผลกระทบจะไม่สามารถมีโอกาสเท่าเทียมกับคนอื่นได้ เนื่องจากว่าสิทธิและเสรีภาพในการใช้ทรัพยากร ทำได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคนทั่วไป ถูกจำกัดสิทธิ ทำให้โอกาสของคนพวกนี้ที่จะก้าวทันคนในสังคมค่อนข้างยาก เข้าถึงทรัพยากรแทบไม่ได้เลย ที่อยู่ตรงนี้ก็เพื่อให้เขาได้มีที่ทำอยู่ทำกิน ทำให้เขาเติบโตหรือเท่าเทียมคนอื่น นั้นเป็นเรื่องยากมาก ถือเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนที่สุดแล้ว

ยุคนี้มีพรรคการเมืองหยิบประเด็นเหล่านี้มาพูดและขับเคลื่อนเพิ่มมากขึ้น ก็คิดว่าจะนำประเด็นนี้กลับมาได้ ก็ยังคงติดตามนโยบาย โครงสร้างการเมืองที่จะนำไปสู่การสร้างกลไกของภาคประชาชนเพื่อขับเคลื่อนสังคมต่อ ปัจจุบันก็ยังทำงานกับพี่น้อง ยังเห็นหลายประเด็นทางสังคมที่คิดว่าน่าจะนำมาผลักดันให้เป็นแนวนโยบายกับฝ่ายการเมืองต่อไป

ส่วนบทเรียนที่เคยผ่านมาคือการใช้สิทธิ เสรีภาพในการปกป้องเพื่อที่จะให้พี่น้องได้รับการดูแล การช่วยเหลือเยียวยา ช่วงที่ขับเคลื่อนประเด็น ก็เคยถูกทำร้าย ด้วยการพยายามเอาเราเข้าคุกด้วยการกล่าวหา เอาอาวุธสงครามไปซุกที่บ้านเราและจับกุมดำเนินคดี นี่คือบทเรียนที่เคยเจอ ครั้งแรกเลย

Koon Spirits เหล้าคูณ

กว่าจะเป็นเหล้าคูณ ไม่ง่าย

เหล้าคูณไม่ได้แตกต่างจากเหล้าอื่นที่มีอยู่ แต่เราอาจมีต้นทุนหรือฐานของการสะสมองค์ความรู้แตกต่างกัน ถือว่าเราเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ตัวผมเอง เติบโตจากเหล้า ช่วง 4-5 ขวบ ก็ต้มเหล้าเป็นแล้วเพราะว่าสมัยนั้นพ่อแม่ลักลอบต้มเหล้า 

มันเป็นการต้มเหล้าเพื่อเอาไปใช้ในงานพิธีกรรม เอาไปใช้ในงานจารีตประเพณีที่เป็นวิถีและวัฒนธรรมของชุมชน เนื่องจากเราเป็นชุมชนที่ห่างไกลจากเมือง อยู่อำเภอสีชมพู อยู่ในดง หาเหล้าจากตลาดไม่ได้ ในหมู่บ้านแทบไม่มีตลาดเลย ไปตลาดต้องเดินทางครึ่งวันกว่าจะได้เหล้ามา 1 ขวด

ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านไม่ได้เดือดร้อนเพราะว่า เขาสามารถทำเองได้ แม้จะมีกฎหมายหรือ พ.ร.บ. เหล้า หรือพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 แต่ช่วงก่อนหน้ามีการกวดขันน้อย หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการกวดขันเข้มข้นขึ้น ทำให้ผู้ที่ต้องใช้เหล้าในพิธีกรรมต้องแอบไปต้ม แอบไปกลั่น

เราก็เป็นคนที่มีโอกาสได้อยู่กับครอบครัว พ่อแม่ เขากลั่นเหล้า ใช้ในวิถีวัฒนธรรมชุมชน สมัยนั้นขวดละไม่กี่บาท แค่เพียง 4-5 บาท เราก็มีโอกาสได้ต้มกลั่น ได้เห็นการใช้เหล้าในส่วนของสังคมในชุมชน แทบไม่มีขี้เมาเลย แค่เป็นส่วนหนึ่งของการพบปะเพื่อนฝูง และเพื่อใช้ในงานพิธีต่างๆ จบพิธีก็แยกย้าย

อาจมีเพื่อนมิตรสหายที่มาเยี่ยมมาเยือนบ้าง สิ่งที่เขาต้อนรับกัน ก็คือการใช้เหล้าเพื่อแสดงความขอบคุณ เพื่อสังสรรค์ผูกสัมพันธ์กันแล้วก็จบไป

พ่อสวาทมองว่าเหล้าผูกพันเกี่ยวโยงกับจารีตประเพณีของชุมชนมาเนิ่นนาน อยู่มาวันหนึ่ง ก็เริ่มมีคนข้างนอก จากไหนไม่มีใครทราบได้ เข้ามาไล่รื้อ ไล่ค้น และตั้งศาลเตี้ยจับปรับ ทำให้คนต้องหลบหนี วิถีและวัฒนธรรมคนต้องเปลี่ยน จากเคยทำกินได้ ก็ต้องไปหาซื้อมา เป็นเหล้ายาที่ไม่ได้มาจากชุมชน ทำให้ความรู้และภูมิปัญญาในการถ่ายทอดหายไป 

ช่วงเด็ก มีคนเคยมองว่ามันคือเหล้าเถื่อน แต่หลังจากเราได้เรียนรู้สังคมมากขึ้น ถึงได้รู้ว่า เหล้าเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจ ส่วนหนึ่งของทุน เป็นฐานเศรษฐกิจ เป็นฐานอำนาจของไทย จนในที่สุดเมื่ออยากกินเหล้าก็ต้องควักเงินจ่าย

หลังจากที่ทำงานมาจน 30 กว่าปี พ่อสวาทก็เริ่มคิดที่อยากจะเรียกคืนความรู้จากชุมชนที่มีอยู่เดิม ไม่ได้เจตนาทำเพื่อขาย แต่ทำเพื่อจะรักษา รื้อฟื้นความรู้ท้องถิ่นให้มีตัวตนมากขึ้นในช่วงปี 2533-2534

จากนั้น ในปี 2544 มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราก็มีกลุ่มคนร่วมเคลื่อนไหวเยอะขึ้นตั้งแต่ปี 2534-2535 ตั้งแต่สมัยรัฐประหาร สมัย คจก. หรือโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม เมื่อมีเครือข่ายกว้างขวางมากขึ้น ก็ได้แลกเปลี่ยนกัน และพูดถึงภูมิปัญญาเหล้าพื้นบ้าน จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนเพื่อผลักดัน ซึ่งก็เป็นประเด็นนโยบายในรัฐบาลปี 2544

เหล้าคูณ ก่อนหน้านี้เริ่มจดทะเบียนจริงจังปี 62 ลองทำเหล้า เนื่องจากเราทำนา และไม่อยากขายข้าวให้โรงสี เราเห็นว่าข้าวน่าจะเพิ่มอะไรได้มากขึ้น สร้างทั้งงาน ทั้งเศรษฐกิจ รายได้ ให้กับชุมชน ก็ลองมาจดแจ้งและทำเหล้า เราใช้ข้าวที่เป็นข้าวอินทรีย์ อย่างน้อยก็มีเครือข่ายตลาด เรามีตลาดกรีนมาร์เก็ต เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกอีสานมาทำตรงนี้กัน ก็ทำให้เรามีพื้นที่ มีเครือข่าย พอทำก็มีคนจอง มีคนซื้อตั้งแต่ต้น แต่ทำได้ไม่มากเพราะเริ่มทำปี 2562 ก็ต้องเผชิญกับโควิดระบาด ปี 2562-2564 พอเจอโควิดก็หยุดชะงักไป ไม่มีพื้นที่ในการทำตลาด เราทำเพื่อรักษาสภาพ ถึงไม่ได้ขายก็ทำเพื่อรอโอกาส และให้มันคงอยู่ของวิสาหกิจของเรา 

สำหรับชื่อเหล้า เหล้าคูณ

ก่อนหน้านี้ชาวบ้านเขาเห็นเราทำเหล้าอยู่คนเดียว เขาบอกให้ใช้ชื่อสวาทเลย ผมบอกไม่ได้หรอก ไม่ควรเป็นเจ้าของเหล้า ควรใช้สัญลักษณ์พื้นที่เป็นหลัก ขอนแก่น มีสัญลักษณ์เป็นดอกคูณ จึงเป็นที่มาของคำว่าเหล้าคูณ

พ่อสวาทเคยทำการศึกษาในท้องถิ่น ได้สูตรสาโทกว่า 80 สูตร

จริงๆ แล้ว ช่วงปี 2545 ผมไปอยู่ในวงงานวิจัยของ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) พ่อสวาทในฐานะที่เป็นเครือข่ายทำเหล้า ก็อยากศึกษาวิจัยเรื่องเหล้า ว่าเหล้ามาจากไหน มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ยังไง ถ้าทำเอง คงได้ไม่เกิน 5-10 สูตร แต่พอดีทาง สกว. เขาสนับสนุนงบประมาณราว 1 แสนบาท ก็รวบรวมเครือข่ายพี่น้องที่สนใจเรื่องนี้มาทำงานวิจัยเล็กๆ 1 ชิ้น

คราแรก ตั้งใจจะค้นหาทั้งภาค ปรากฏว่าในปีเดียวทำอะไรไม่ได้ขนาดนั้น จึงตีกรอบมา 4 จังหวัดที่อยู่ รวบรวมและทำข้อมูลวิจัยขึ้นมา ปรากฏว่าไปได้ไม่กี่อำเภอ สูตรเหล้าเต็มไปหมดเลย แต่ว่าสูตรเหล้านั้น เขามีแล้วจะให้เราหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

พ่อสวาทเริ่มเดินทางไปตามรอยต่อเขตสี่จังหวัด มีสูตรเหล้าเป็นพันสูตร เข้าให้เรามา 80 สูตร เขาก็ให้ด้วยความตั้งใจ และทำเพื่อรักษาความรู้ของชุมชนไว้ ซึ่ง 80 สูตรที่ได้มา ใช้เวลา 6-7 เดือนในการรวบรวม มีตั้งแต่สูตรสมุนไพร 3-4 ตัวไปถึง 70-80 ชนิดในสูตรเหล้า มีรายละเอียดแตกต่างกัน มีพิธีกรรมในการปั้นแป้งแตกต่างกัน ใกล้เคียงกันบ้างก็มี

หลักๆ พอเป็นสูตรเหล้า สิ่งที่ได้มา ที่ไม่แตกต่างคือระดับดีกรี ยีสต์ที่ปั้นขึ้น ทำขึันหรือพัฒนามัน จะเมาไม่เมาอยู่ที่การปรุงสูตร หรือการผสมเหล้า จะเอาดีกรีเท่าไรเป็นเรื่องของชาวบ้าน ทุกสูตรเขาเน้นความปลอดภัย 

เขารู้ว่าสมุนไพรอะไรให้ความเมา และเมาแล้วมันสร่าง มันดื่มกินแล้วไม่เป็นพิษ เขาจะบอกว่าตัวไหนเป็นพิษหรือไม่เป็นพิษ หลายสูตรจะมีรายละเอียดแบบนี้ ก็ใช้วิธีเลือกเอามาหมักบ่มเป็นเหล้าที่เราต้องการ ตอนนี้เราก็ทำสูตรเดียว แต่ไม่ได้บอกว่ามาจากไหน เพื่อรักษาแหล่งที่มาให้กับพี่น้องด้วย

เหล้าคูณมีสมุนไพรหลัก 13 ตัว เป็นสูตรพี่น้องชาวบ้าน ถึงจะรู้ว่ามีอะไร แต่ไม่กล้าปั้นแป้งเอง ถ้าอยากได้ก็ขอซื้อจากชาวบ้าน พ่อสวาทไม่เคยขโมยสูตรใครมามาสร้างประโยชน์ ใช้วิธีซื้อวัตถุดิบ ซื้อลูกแป้งของเขามาทำต่อ บางสูตรอาจทำเป็น 20 หลังคาเรือน ทำสูตรเดียวกัน มาตรฐานเดียวกัน มีแรงงานรับจ้างทำ แต่ไม่ได้บอกว่าทำจากอะไรเพื่อรักษาสูตรใครก็สูตรมัน

โดยพ่อสวาทซื้อลูกแป้งมาจากเขา เอาข้าวที่เราผลิตเอง มีมาตรฐานการตรวจเรียบร้อย เป็นเครือข่ายตลาดเขียวหรือตลาดอินทรีย์​ เป็นกลไกในการควบคุมว่ากลุ่มนี้ทำอินทรีย์จริง

สามารถผลิตเหล้าได้ 1 เดือน ไม่เกิน 700-800 ขวด ในสภาพที่มีกำลังการผลิตที่เป็นกลุ่มเล็กๆ ก็ทำได้เท่านี้ โอกาสข้างหน้าจะพัฒนาได้ไหม ถ้ากระแสสังคมสนับสนุนและผู้บริโภคตอบรับดี ก็ค่อยมาว่ากัน ยอดออเดอร์ตอนนี้ก็ข้ามเดือนแล้ว ถ้าสั่งวันนี้ก็จะได้ 10-20 กว่าวัน เหล้าคูณมีไซส์เดียว 700 ml ตอนนี้ขายปลีก 560 บาท

ช่วงที่ขายตอนแรกคือปี 2562 ก่อนจะมีการพูดถึงสุราก้าวหน้ามากขึ้น ล็อตแรกเราผลิตแค่ 400 ขวด ผลิตแล้วมีคนจองหมดเลย พอขายแล้วจะทำต่อ โควิดระบาดก็หยุดไป ตอนนั้นส่งให้เขาปีหนึ่งได้ 100 ขวดที่เขาขายได้ ปีนี้หลังมีกระแสสุราก้าวหน้าบูม เหล้าที่เคยอยู่ในสต็อก เพียง 3 วันก็ขายได้หมดเลย ที่ผลิตอยู่ก็ขายได้ 2 วันหมด

รู้จักตลาดเขียว หรือ Green Market ที่มาของวัตถุดิบออร์แกนิกส์ของเหล้าคูณ

ตลาดเขียวเป็นการรวมตัวของผู้ผลิตที่อยากจะทำอาหารที่มีคุณภาพ ทำพืชผักเป็นทางเลือกให้คนรักสุขภาพ สมัยนั้นก็ประมาณต้นปี 2555-2556 เริ่มคุยกันและเริ่มเห็นฐานของคนผลิตไม่กี่รายราว 10 กว่าราย กระจายรอบขอนแก่น

จึงมีกลไกหนึ่งขึ้นมาเรียกว่ากรรมการตลาดเขียว สื่อสารหน่วยงานต่างๆ ในเมืองทั้งเทศบาล พาณิชย์ สาธารณสุข เกษตร ฯลฯ เพื่อสร้างพื้นที่สื่อสารกับคนเมืองขอนแก่น ในเรื่องทางเลือกอาหาร เรามองเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การรักษาทรัพยากรเพื่อสร้างความยั่งยืน

ช่วงต้น มีไม่กี่คนที่ให้ความสนใจ พอคนตั้งใจห้าหกเจ็ดคนที่เริ่มตั้งต้น ก็เริ่มเปิดตลาด ครั้งแรกมีแผงขายสินค้า 10 กว่าแผง 15-16 แผง ซึ่งมีผู้ผลิตอาหารครึ่งหนึ่ง นอกนั้นก็พวกเสื้อผ้า OTOP มาสมทบ สมัยแรกๆ ก็ขายได้ 500-600 ต่อแผง เราก็อดทน ขายอาทิตย์ละครั้ง ก็เพิ่มจำนวนคนขายเรื่อยๆ จบสิ้นปีแรก

ทำ 3-4 อาทิตย์ ปรากฎว่าคนเริ่มเห็นความสำคัญ เริ่มอยากได้ของมากขึ้น เราก็สรุปบทเรียน ขยายพื้นที่ผลิต ทำแผนสื่อสารกับคนในเมือง สื่อสารกับหน่วยงานรัฐและเอกชนมากขึ้น ก็กลายเป็นกระแส คนเริ่มให้ความสำคัญ ของไม่มีขาย ของไม่พอขาย ผลิตไม่ทัน จากทดลองก็เป็นกระแสต่อเนื่องจนติดตลาด

ปัจจุบัน ตลาดเขียวก็เป็นตลาดหนึ่งที่เป็นหน้าเป็นตาคนขอนแก่น ถ้าใครรักสุขภาพและมาขอนแก่น แต่ยังไม่ได้ไปเยือนตลาดเขียวก็ถือว่ายังเห็นความดี ความงามของขอนแก่นไม่ครบถ้วน เป็นเรื่องดีงามที่เกิดการรวมตัวทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ผลักดันให้ตลาดเขียวเติบโตต่อเนื่อง เชื่อว่าอนาคตจะเพิ่มพื้นที่และได้รับการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้ก็ต้องกวดขัน เข้มงวด การควบคุมมาตรฐานผู้ผลิตเพิ่มมากขึ้น

ตลาดเขียวอยู่ที่บึงแก่นนคร หน้าธนาคารชาติ ด้านทิศเหนือบึงแก่นนคร ซอยเล็กข้างอนุสาวรีย์พ่อเมืองขอนแก่น ทุกวันศุกร์จะมีตลาดหลายจุดทั้งแฟรี่ กระจายหลายวงที่เราไปทำตลาดให้ผู้บริโภคเข้าถึงมากขึ้น ทั้งห้าง ทั้งมหาลัยขอนแก่นด้วย มีงานอีเวนต์ที่หน่วยงานจัดแล้วให้พื้นที่กับเครือข่ายตลาดเขียวเราด้วย ซึ่งหลักๆ คือบึงแก่นนคร

ความท้าทายในการทำ “เหล้าคูณ” 

หนึ่ง เนื่องจากคำว่าเหล้า จะมีระเบียบข้อกฎหมายที่ทำให้เราลำบากในฐานะชาวบ้าน มีทำงานรายละเอียด บันทึก ยิบย่อย ซึ่งเป็นรายละเอียด ที่เราไม่มีองค์ความรู้เพียงพอ เป็นภาระที่เป็นปัญหาต่อเราเพื่อให้เราดำเนินการตามรายละเอียดให้ครบตามระเบียบที่กำหนดไว้ 100% ซึ่งเราต้องตระเวนไปพบปะสรรพสามิตร เอาข้อมูลไปให้ เพื่อให้เข้ากฎเข้าเกณฑ์ เป็นภาระลำบากอยู่

สอง ฐานการผลิตเป็นการผลิตแบบชุมชน แบบดั้งเดิม ใช้ฟืน ใช้ถังต้มพื้นบ้าน ระบบการผลิต ผลิตได้ค่อนข้างจำกัด เพราะไม่มีทุนและเครื่องมือที่ดำเนินการให้ได้เหมือนกับที่หลายฝ่ายคิด ทั้งคุณภาพและมาตรฐานที่หลายฝ่ายตั้งเหมือนอุตสาหกรรม เราคิดว่าแบบพื้นบ้านมีเสน่ห์ในตัว ถ้าทำเพื่อการค้าจะมีปัญหาเรื่องฐานการผลิตแบบดั้งเดิมโบราณ ทำให้ไม่ตอบสนองบางเรื่อง บางโอกาสของคนที่มีความต้องการแบบนี้ 

สาม คำว่าเหล้ามันจะมีระเบียบหลากหลาย มีความเห็นทั้งเห็นด้วยไม่เห็นด้วย เราคิดว่าเหล้าไม่ควรแยกออกจากวิถีวัฒนธรรม จารีตประเพณีที่มีมาตั้งแต่แรก แต่จารีตถูกตัดตอนด้วยผลประโยชน์ของใคร นี่คือข้อจำกัดในการสื่อสาร เราไม่ได้ต้องการสื่อสารแต่ควรมีพื้นที่ให้เห็นวิถีของท้องถิ่นว่ามีเรื่องราวของภูมิปัญญา น่าจะเป็นประเด็นที่ต้องอธิบาย ซึ่งเป็นเรื่องอธิบายยากในทางสังคม หลายคนมองว่าเป็นเรื่องมอมเมา อบายมุข ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถอธิบายได้ 

รัฐควรมีบทบาทในการคืนความรู้สู่ชุมชน

คิดว่ารัฐบาลที่ดีควรเอาเรื่องเหล่านี้มาพัฒนา ควรเอาความรู้เหล่านี้คืนให้กับชุมชนหรือแผ่นดิน ไม่เอาความรู้ไปให้ใครผูกขาดหรือทำหน้าที่เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ผ่านมา รัฐส่งเสริมพัฒนาส่วนของทุนอย่างเดียวไม่ได้สนับสนุนชาวบ้าน ถ้ามีการพัฒนา ยกระดับให้กลุ่มที่อยู่ในชนบท ในพื้นที่ ถือเป็นเรื่องความดี ความงาม

เป็นเรื่องที่ต้องทำและกำหนดเป็นนโยบายหลัก คืนความรู้ให้ทันสถานการณ์ ทันโลกที่เป็นอยู่ การควบคุมโลก แต่ควบคุมเฉพาะชาวบ้าน ไม่ได้ควบคุมกลไกที่มันข้ามโลก ข้ามแผ่นดินมา มันไม่ได้แก้ปัญหา เชื่อว่าถ้ามีการพัฒนาเรื่องนี้ องค์ความรู้ของไทยไม่แพ้ชนชาติใดในโลกนี้ 

ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ สามารถแก้ไขได้ด้วยการแปรรูปและเพิ่มมูลค่า

ราคาข้าวตกต่ำ สิ่งที่มีผลกระทบต่อคนผลิตข้าวหรือเกษตรกรคือหนี้สิน อยากให้สังคมเข้าใจว่าการทำเหล้า คือการแปรรูปเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ควรแยกให้ออกกับเรื่องการมอมเมา นี่คือวัฒนธรรม คือธรรมเนียมการไปมาหาสู่กัน คือจารีตที่มีมานานตั้งแต่โบราณ

ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ สังคมจะให้โอกาสกับผู้คน เรื่องพวกนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ ในสังคมโลก บ้านอื่น เมืองอื่น ก็สามารถผลิตได้ อยากเห็นความเข้าใจประเด็นพวกนี้ร่วมกัน

อยากให้ศึกษาลึกๆ ถึงคำว่าจารีตประเพณีของแต่ละท้องที่ ซึ่งความรู้ มันไม่ควรถูกจองจำ ความรู้เป็นเรื่องที่ควรถูกส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอด ความรู้เป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องมีโอกาสได้เรียนรู้ ไม่ใช่ว่าความรู้จะต้องถูกปิดกั้นด้วยกฎหมายและอำนาจ ถ้าเราไม่มีการปิดกั้นเรื่องตรงนี้ สังคมน่าจะดีขึ้น และการเรียนรู้ที่จะเคารพต่อวิถีวัฒนธรรมแต่ละชุมชนก็น่าจะดีขึ้น 

ติดตามเรื่องราวของเหล้าคูณได้ที่นี่: เหล้าคูณ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา