นักวิเคราะห์สถาบันวิจัยเศรษฐกิจมอง: เยอรมนีกลายเป็นคนป่วยของยุโรปไปซะแล้ว

เยอรมนี กลายเป็นคนป่วยของยุโรปไปซะแล้ว

Hans-Werner Sinn ประธานกิตติคุณแห่งสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจของเยอรมนี (Ifo: Institute for Economic Research) ให้ความเห็นว่า ยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของเยอรมันในปัจจุบันอาจทำให้ความนิยมของพรรคการเมืองฝ่ายขวาหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีกำลังประสบภาวะไม่คล่องตัว และเยอรมันยังต้องแบกรับราคาพลังงานที่สูง

Olaf Scholz

ฉายา คนป่วยของยุโรปนี้ จริงๆ มีมาตั้งแต่สมัยปี 1998 ในช่วงที่เยอรมนีต้องการรวมประเทศ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจสูงตามไปด้วย ซึ่ง Sinn ประธานกิตติคุณแห่ง Ifo กล่าวว่า นี่ไม่ใช่สถานการณ์ระยะสั้น เรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนตร์ที่เป็นหัวใจหลักของอุตสาหกรรมประเทศ โดยในปีที่ผ่านมา รถยนต์ถือเป็นสินค้าส่งออกหลักๆ ของเยอรมัน คิดเป็น 15.6% ของสินค้าที่จัดจำหน่ายในต่างประเทศ

เยอรมนีขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ มูลค่าราว 1 พันล้านยูโรหรือประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาทในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2022 ที่ผ่านมา เยอรมันเองก็เปลี่ยนจากภาวะเกินดุลการค้าไปเป็นการนำเข้ามากกว่าส่งออก และกลับมาเกินดุลการค้าราว 1.87 หมื่นล้านยูโรหรือประมาณ 7.11 แสนล้านบาทในช่วงเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา ขณะที่การส่งออกก็ยังทรงตัว

รัฐบาลเยอรมันตั้งเป้าจะกลายเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) หรือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2045 แผนนี้ก็มาจากความต้องการให้ยุโรปแยกตัวออกจากการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียด้วย ซึ่งก็เป็นมาตรการที่ตั้งใจทำจริงจังนับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา

Sinn มองว่า การพึ่งพาเทคโนโลยีหมุนเวียน เช่น ลมและพลังงานจากแสงอาทิตย์จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องความผันผวน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้ ในขณะที่คุณต้องเติมเต็มช่องว่างระหว่างพลังงานแบบเดิม มันก็ยากที่จะเพิ่มปริมาณให้มากเป็นสองเท่า ในขณะที่คุณก็อยากใช้พลังงานแบบยั่งยืนเพื่ออนาคต เหล่านี้มันจะเพิ่มต้นทุนมากขึ้นเป็นสองเท่า ต้นทุนด้านพลังงานสูงขึ้น ไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรม

เยอรมนีอาจเสียกำลังการผลิตทางอุตสาหกรรมราว 2% ถึง 3% ส่งผลให้บริษัทต่างๆ อาจย้ายออกไปทำธุรกิจในประเทศที่มีค่าก๊าซ ค่าไฟฟ้า หรือค่าพลังงานต่างๆ ในการทำอุตสาหกรรมในระดับราคาที่ต่ำกว่า เช่น ในสหรัฐอเมริกา หรือในซาอุดิอาระเบีย ความไม่แน่นอน ความผันผวนของราคาพลังงานมีผลสำคัญต่อธุรกิจ นโยบายที่ไม่แน่นอนเหล่านี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจเยอรมันถอยหลัง

อันที่จริง ฉายา “คนป่วยของยุโรป” ไม่ใช่เพิ่งมี แต่มีมานานแล้ว!

เรื่องนี้ Hans-Werner Sinn ได้เขียนบทความเผยแพร่ใน Project Syndicate ตั้งแต่ปลายปีแล้วว่า จริงๆ แล้ว ฉายา Sick man of Europe นี้ ถูกประทับตราให้เยอรมันมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว สาเหตุที่ถูกเรียกเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องพลังงานที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักแบบในปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องอัตราการว่างงานสูง ความต้องการบริโภคภายในประเทศต่ำ รวมถึงเรื่อง GDP ที่เติบโตค่อนข้างช้าด้วย

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ปัจจุบันพลังงานที่มีในประเทศของเยอรมนีก็เรียกว่าแทบไม่พอใช้อยู่แล้ว แถมยังต้องการลดการพึ่งพิงรัสเซีย ผู้ให้การพึ่งพาด้านพลังงานหลัก เพื่อคว่ำบาตรกรณีบุกยูเครน และจะหันไปใช้พลังงานจากธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้มีต้นทุนสูงทุกช่องทาง ในที่สุดก็จะส่งผลให้เยอรมนีกลายเป็นคนป่วยของยุโรป

ที่มา – CNBC, Project Syndicate, Hans Werner Sinn

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา