ภูมิรัฐศาสตร์โลกวันนี้: จีน-สหรัฐฯ เป็นปฏิปักษ์กัน จีนคุมด้านเศรษฐกิจ สหรัฐฯ คุมด้านทหาร

“ภูมิรัฐศาสตร์โลกวันนี้ ในด้านเศรษฐกิจ จีนคุมได้เกือบทั้งโลก ส่วนด้านความมั่นคง สหรัฐอเมริกามีฐานทัพอยู่ใน 56 ประเทศ ถือว่ามีศักยภาพที่แตกต่างกัน”

เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดประชุมประจำปี 2567 เรื่อง พลิกความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สร้างโอกาสประเทศไทย (Geopolitical Uncertainty: Navigating the Futre) ที่ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์

Geopolitics

ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ว่าที่จริงแล้วมันคือระเบียบโลกกำลังเปลี่ยนไป หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบียบโลกนำโดยอเมริกา แบ่งเป็น 4 ขา ดังนี้

ขาที่ 1 คือ ประเทศตะวันตกคุมเศรษฐกิจ สัดส่วนของ GDP ต่อเศรษฐกิจโลกสูงมากจนสามารถคุมได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว อำนาจทางเศรษฐกิจไปอยู่ที่เอเชียเยอะ

ขาที่ 2 ศักยภาพทางการทหาร ความมั่นคง อเมริกามีบทบาทนำ ทั้งปรัชญาด้านประชาธิปไตยก็เป็นคนชี้นำ เรียกว่า Unipolar World แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว มีจีนท้าทายด้วย World Order อีกแบบหนึ่ง

ขาที่ 3 จากที่เคยเปิดกว้างให้เกิดโลกภาภิวัตน์ ใครใคร่ค้าค้า ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว กลายเป็นอเมริกาและยุโรปมองความมั่นคงเชิงเศรษฐกิจ จีนก็มองเช่นเดียวกัน จาก Globalization กลายเป็น National Security and Industrial Policy ออกกฎหมาย มาตรการมาเพื่ออุ้มธุรกิจของตัวเอง เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่โลกาภิวัตน์แล้ว

ขาที่ 4 เดิม อเมริกามีความมั่นใจในตัวเองสูง พร้อมที่จะเปิดกว้าง เปิดความร่วมมือพหุภาคี Multilateral System ทุกคนมาร่วมกัน แต่ละคนมีเสียงเท่าๆ กัน ตอนนี้ อเมริกาแทบจะดอง WTO (World Trade Organization) ไม่คุย WTO มาเป็น 10 ปีแล้ว สิ่งสำคัญของเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ก็คือ 4 เรื่องนี้

วันนี้ สถานะจีนกับสหรัฐอเมริกาเป็นปฏิปักษ์ซึ่งกันและกัน

ในด้านความมั่นคง อเมริกามีฐานทัพ 56 ประเทศ
เยอรมัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฯลฯ ส่วน
จีนมีฐานทัพประเทศเดียวคือ เกาหลีเหนือ ศักยภาพด้านนี้ไม่เหมือนกัน

ในอีกด้านหนึ่ง
การค้าจีนคุมได้เกือบทั้งโลก เพราะมี 128 ประเทศค้ากับจีนมากกว่าอเมริกา จีนศักยภาพด้านเศรษฐกิจ จีนทำ Belt & Road ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานใน 140 ประเทศ ใช้เงิน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เครือข่ายด้านเศรษฐกิจจีนเหนือกับสหรัฐอเมริกามาก นี่คือภาพย่อของภูมิรัฐศาสตร์วันนี้

สำนักข่าวกรองสหรัฐฯ ประเมินว่าภัยคุกคามประจำปี มีจีนเป็นหลัก ตามด้วยรัสเซียและอิหร่าน ศัตรู และอเมริกาจะช่วงชิงอำนาจที่อเมริกาเป็นคนกำหนดระเบียบโลก

มีบทความจาก Financial Tiimes เผยแพร่ในวันเดียวกัน ด้านหนึ่งบอก สหรัฐฯ กำลังฝึกทีมที่เคยสังหารบิน ลาเดน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะเอามาช่วยไต้หวันแน่ แต่อีกด้านหนึ่ง เชิญผู้นำทางทหารจีนมาคุย

นโยบายอเมริกเป็นที่รู้กันว่ามักจะขัดแย้งกัน กล่าวคือ แม้จะมีความขัดแย้งกัน แต่ก็ยังอยากมีพื้นที่หารือกัน ทำให้คุยกันยาก

ส่วนในด้านเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจเอเชียใหญ่ขึ้นเยอะ แต่เราแบ่งแยกกัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้มีฐานทัพอเมริกา ฝั่งหนึ่งอยู่ข้างอเมริกา ฝั่งหนึ่งอยู่ข้างจีน

เศรษฐกิจจีนเป็นเศรษฐกิจที่ผิดปกติเยอะมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ขณะที่สหรัฐฯ มีการบริโภค 68% ไทย 55% แต่จีนบริโภคน้อยมาก อยู่ที่ 37%

จีนลงทุน 40% ของ GDP จีนผลิตเกินความต้องการแน่นอน พอ GDP 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ ผลิตเยอะ จนเรารับสินค้าไม่ไหว

ปัญหาคือจีนจะยิ่งผลิตเยอะขึ้นไปอีก เพราะรัฐบาลจีนตัดสินใจว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ ฟองสบู่เยอะไป มีการบี้จนฟองสบู่แตก พอผ่านโควิดไปแล้ว จากเดิมที่คนจีนลงทุนอสังหาฯ รัฐบาลไม่อุ้ม ไม่ขับเคลื่อนให้ไปต่อ จีนยังมีบ้าน 40 ล้านหลังที่มีปัญหาจากฟองสบู่อสังหาฯ ทำให้กำลังซื้อตก

Xi Jinping บอก ต้องการฟื้นเศรษฐกิจ ด้วยการผลิตสินค้า Hi-Tech ผลักดันให้สินค้าเทียบเท่าอเมริกา ตอนนี้บริษัทจีนในตลาดหลักทรัพย์มีขาดทุน 24.42% มีการแข่งขันรุนแรงมากจนต้องออกมาขายในต่างประเทศ จีนอาจจะแข่งขันในประเทศรุนแรงกว่าเอาเข้ามาขายในไทยอีก

PPI หรือ Producer Price Index (ดัชนีราคาผู้ผลิต) ของ
จีนเริ่มประสบปัญหาเงินฝืด จีนกดราคาสินค้า แต่จีดีพีไปถึง 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น จีนจะส่งออกภาวะเงินฝืดไปได้อีกนาน อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติของจีนบอกเอง

สาเหตุที่ทำให้มั่นใจว่ารัฐบาลจีนไม่อุ้มอสังหาริมทรัพย์ ก็เพราะ IMF เมื่อต้นปีบอกอสังหาจีนมีปัญหามากเลย จีนไม่รับข้อเสนอ หลัง IMF ให้ใส่เงิน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพื่ออุ้มอสังหาริมทรัพย์ จีนจะเดินนโยบายขายสินค้าอุตสาหกรรม ขายสินค้าไฮเทค ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากอสังหาฯ เป็นไฮเทค

อีกด้านหนึ่ง ประเทศตะวันตกอ่านเกมเป็น จึงลดการให้จีนขายของเข้าประเทศ จีนก็ขายของให้ประเทศที่เป็นพันธมิตรกับเขา ไม่กีดกันกับเขานัก

จีนหาประเทศเพื่อเชื่อมไปสู่ยุโรปคือฮังการี เม็กซิโก สิงคโปร์ และเวียดนาม (เวียดนามทำ FTA กับยุโรปและใกล้ชิดกับอเมริกาด้วย) จีนยอมค้าขายกับเขา บางประเทศที่จีนกล้ำกลืนค้าขายคือออสเตรเลีย ซึ่งเป็นพันธมิตร (AUKUS: ความร่วมมืออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา)

ออสเตรเลียซื้อเรือดำน้ำที่ดีที่สุดของสหรัฐฯ มา เพื่อไว้ปราบจีน จีนยอมค้าขายกับออสเตรเลียเพราะขาดสินค้าเกษตร จีนใช้ประเทศเชื่อมต่อ (Connector country)

สิงคโปร์ พึ่งพาใกล้ชิดอเมริกา มีการซ้อมรบ ส่วน
ไทยเราน่าจะยืดหยุ่นพอที่จะมีนโยบายปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง รัฐบาลจีนไม่เคยตั้งเป้าว่าจะเกินดุลไทย และสนับสนุนให้ไทยเข้มงวดในการกำกับดูแล (เป็นแถลงการณ์จากสถานทูต แม้จะอยากได้ระดับผู้นำจีนมาพูด แต่แถลงการนี้ก็สามารถเป็นฐานในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อปกป้องผลประโยชน์เราได้)

จีนกำลังปรับปรุงด้านการเกษตร แต่ถึงอย่างไรก็ผลิตไม่พอและไม่มีทางผลิตพอ จีนมีประชากรเท่ากับ 20% ของโลก แต่พื้นที่ผลิตเพียง 9% ของโลก
ไทยส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 4 ของจีน จีนจะแก่ตัวลงเรื่อยๆ และพยายามเพิ่มสินค้าอุตสาหกรรม ถึงอย่างไรไทยก็เป็นที่พึ่งได้ เป็นทั้ง connector country และเป็นซัพพลายด้านสินค้าเกษตรได้

อเมริกา ไม่ว่าใครชนะเลือกตั้ง ก็ส่งผลแย่กับไทยทั้ง 2 คน
แต่ทรัมป์แย่กว่า เพราะทรัมป์เป็นประเภท Transactional ก็คือหมูไปไก่มา ทรัมป์มีลักษณะ Unpredictable คือไม่รู้ว่าวันนี้คิดอย่างไร อีกวันคิดอย่างไร และทรัมป์มีแนวนโยบาย Protectionist ทรัมป์เตรียมขึ้นภาษีสินค้าจีน 60% ไทย 10% เขาจะเก็บภาษีการถือสินทรัพย์ของอเมริกาเพื่อทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าด้วย อเมริกาบริโภคมากไป ผลิตไม่พอ เงินดอลลาร์จึงอ่อน

ส่วน Kamala Harris มีแนวนโยบายเหมือน Joe Biden เป็นการสู้กับจีนไปด้วย แต่ก็หาทางคุยไปด้วย ไม่แน่ใจว่าดีแค่ไหน

อเมริกา มีปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะ 100% จีดีพี ขาดดุลงบประมาณ 6% GDP จะขาดดุลไปเรื่อยๆ

ดอกเบี้ยระยะยาวของอเมริกาจะ 3-4% ไม่ได้ จะอยู่ที่ 5% มันจะกระทบกับเราทุกคน เพราะดอกเบี้ยทั้งโลกอิงกับอเมริกาไม่มากก็น้อย นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งยกตัวอย่างในอดีตมหาอำนาจที่เริ่มตกต่ำ จะเริ่มตกต่ำตอนที่ใช้เงินขาดดุลงบประมาณ มีหนี้สาธารณะมากไปในระดับที่เมื่อต้องจัดสรรงบประมาณ ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่างบกลาโหม

อเมริกาถึงจุดนั้นพอดีเลยปีนี้ งบกลาโหมเท่าๆ กับดอกเบี้ย อเมริกาจะอุ้มทหารที่มีในหลายประเทศไม่ได้ต่อเนื่อง ทั้งจีนและอเมริกา มีจุดอ่อนและมีจุดแข็งที่ประเมินได้ยากว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ต้องประเมินให้ดี ไทยต้องมีจุดยืนที่เหมาะสม 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา