ธนาคารโลกเผย เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเศรษฐกิจโตดี จับตาโลกชะลอ-ความเสี่ยงจีน-ภูมิรัฐศาสตร์

วันนี้ (2 ต.ค.) ธนาคารโลก เปิดเผยรายงานอัพเดตเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) ต.ค. 2566 ระบุว่า ปี 2566 นี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะขยายตัวที่ 5% ซึ่งขยายตัวสูงการคาดการณ์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ (EMDEs) อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตนี้ยังต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในครั้งก่อนหน้า (เดิม 5.1%) ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 5.1% และเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ไม่รวมจีนจะอยู่ที่ 4.6%  ในขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกคาดว่าจะอยู่ที่ 5.2%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เริ่มฟื้นตัวขึ้นที่เจอผลกระทบหนักในช่วงปี 2563 และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องแม่จะชะลอลงบ้าง โดยเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง 0.8% (q/q) ในไตรมาส 2 ปี 2566 หลังจากไตรมาสแรกเติบโตราว 2.2% (q/q) แต่ในภาพรวมของภูมิภาคยังเติบโตขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายนอกที่ยังคงท้าทายต่อประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก คือ เศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัว โดยปี 2566 นี้คาดว่า การเติบโตจะลดลงมาอยู่ที่ 2.1% จากปี 2565 ที่อยู่ 3.1% ซึ่งแม้ว่าเงินเฟ้อจะเริ่มลดลงในประเทศหลัก โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในสหรัฐ และยุโรป ยังคงอยู่ในระดับสูง และตลาดแรงงานยังคงตึงตัว ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ในระดับสูง นอกเหนือจากนี้ด้านการค้ายังมีกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ด้านในปี 2567 ธนาคารโลกประเมินว่าศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเติบโตที่ 4.5% และมองว่าสถานการณ์ภายนอกที่ดีขึ้นจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

ยกเว้นการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่คาดวก่าจะชะลอตัวลงเหลือ 4.4% ในปี 2567 เนื่องจากยังคงมีปัญหาภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

  • การฟื้นตัวหลังการกลับมาเปิดประเทศที่ชะลอตัวลง
  • ภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น
  • ความอ่อนแอของภาคอสังหาริมทรัพย์
  • ปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เหลือในภูมิภาคคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.75% ในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายลง ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและมาตรการด้านนโยบายการค้าของประเทศอื่น ๆ

ทั้งนี้ความเสี่ยงด้านลบที่อาจกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาค ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น และความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว 

“ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและมีพลวัตมากที่สุดในโลก แม้ว่าการขยายตัวจะชะลอตัวลงก็ตาม” มานูเอลา วี. เฟอร์โร รองประธาน ธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว 

นอกจากนี้ยังมีมุมมองว่า ในระยะปานกลาง การรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับสูง จะต้องมีการปฏิรูปเพื่อคงความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม สร้างความหลากหลายของประเทศคู่ค้า และยกระดับศักยภาพเพื่อเพิ่มผลิตภาพและการสร้างงานในภาคบริการ

ทั้งนี้ ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภาคบริการมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่พึ่งพาภาคการผลิตเป็นหลัก เพราะส่งผลต่อขยายตัวของผลิตภาพแรงงาน, การส่งออกบริการขยายตัวเร็วกว่าการส่งออกสินค้า, และการขยายตัวของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในด้านบริการอยู่ในระดับที่สูงกว่าด้านการผลิตถึง 5 เท่า ปรากฎให้เห็นทั้งในประเทศจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับด้านนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ล่าสุดของธนาคารโลก มองว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นี้จะอยู่ที่ 3.4% โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวและการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง รวมถึงการส่งออกที่ดี ขณะที่ปี 2567 คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะอยู่ที่ 3.5% และ ปี 2568 อยู่ที่ 3.3%

ที่มา – ธนาคารโลก1

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา