“ถ้าเป็นตัวจริงต้องตอบได้นะ” รู้จัก Gatekeeper คนชอบกีดกัน เมื่อเจอคนมีความชอบแบบเดียวกับตัวเอง

หากได้ไปทำความรู้จักเพื่อนใหม่สักคน การหาจุดร่วมอย่างความชอบ งานอดิเรก มาเป็นหัวข้อสนทนา ดูเหมือนจะเป็นไม้ตายที่ใช้แล้วได้ผลเสมอ อย่างน้อยถ้ามีความชอบเหมือนกัน หรือได้รู้ความชอบของอีกฝ่าย ก็น่าจะทำให้บทสนทนาลื่นไหล ห่างไกลความกระอักกระอ่วนไปได้ 

แต่วันดีคืนดี ตัวละครลับโผล่มากางแขนแล้วยิงคำถามวัดความเป็นตัวจริง อย่างเช่น “เป็นผู้หญิงดูบอลด้วยหรอ? ดูบอลหนือดูนักบอลล่ะ? ดูล้ำหน้าเป็นหรือเปล่า” “ชอบดื่มกาแฟหรอ? ชอบเมล็ดอะไร สายพันธุ์ไหน? ถ้าแค่กินไปเรื่อย ๆ ยังไม่เรียกว่าเป็นคอกาแฟหรอกนะ” “อยากดูหนังเรื่องนี้ ถ้าไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์มา ก็ดูไม่อินเท่าไหร่หรอก” “ฟังแค่เพลงฮิต ๆ ของวงนี้ล่ะสิ”

พอจะเห็นเค้าลางของคนประเภทนี้กันบ้างแล้วใช่มั้ย นั่นแหละ เราเรียกคนแบบนี้ว่า ‘Gatekeeper’ คือ คนที่ชอบขัดขวางเวลาคนที่มีความชอบแบบเดียวกัน เพราะเชื่อว่าตนเองมีความรู้ในเรื่องนั้นมากกว่า และไม่อยากให้ความชอบของตัวเองนั้นกลายเป็น mainstream ที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ 

บอกเลยว่า Gatekeeper กระจายตัวอยู่ในทั่วทุกวงการ ไม่ว่าจะภาพยนตร์ ดนตรี หนังสือ กีฬา เกม แฟชั่น ฯลฯ แทนที่จะยินดีเมื่อเจอคนที่มีความชอบในสิ่งเดียวกัน แล้วคุยกันได้ลื่นไหล กลับกลายเป็นสายตรวจความชอบ ว่าคุณนั้นเป็นตัวจริงในเรื่องนี้แค่ไหน ยิงคำถามสุดลึก ที่มีแต่สายลึกแบบเดียวกันเท่านั้นที่จะตอบได้ จบท้ายด้วยการบอกว่าคุณยังไม่ใช่ตัวจริง (แบบเขาคนนั้น) หรอกนะ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้วงสนทนากร่อยยิ่งกว่าเดิม

แล้วคนเราทำแบบนั้นไปทำไมกัน? มาทำความเข้าใจไปกับ Steve Byrne นักจิตวิทยา รองศาสตราจารย์ด้านการให้คำปรึกษา และแฟนเพลงเมทัลมากว่า 25 ปี อีกหนึ่งคอมมูนิตี้ที่เกิดกรณีนี้อยู่บ่อย ๆ ถ้านึกไม่ออกก็ต้องเป็นเคสคลาสสิกอย่าง การเข้าไปถามคนใส่เสื้อ Nirvana ว่ารู้จักเพลงของเขาไหม แม้ในปัจจุบันสิ่งนี้จะจางหายไปมากแล้ว แต่เรามาทำความเข้าใจไว้ก็ไม่เสียหายอะไร

ความเปราะบางเป็นเหตุสังเกตได้

Steve Byrne กล่าวว่า มันเป็นเพียงธรรมชาติของมนุษย์เนี่ยแหละ ที่เราทุกคนค่อนข้างเปราะบาง เราทุกคนต่างพยายามพิสูจน์ตัวเองและคนอื่นๆ ว่าเราดีพอ กลยุทธ์หนึ่งในการทำเช่นนั้น คือ การแปะป้ายให้คนที่ไม่เหมือนเรา หากคนอื่นมีรสนิยมไม่ได้เรื่อง ทั้งในด้านดนตรี เสื้อผ้า รายการทีวี งานอดิเรก หรืออะไรก็ตาม มันช่วยให้เรารู้สึกว่า อย่างน้อยเราก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น

แต่บางครั้งมันก็เกิดขึ้นจากทักษะการสื่อสารที่ไม่ได้เรื่องแค่นั้นเอง อาจจะอยากถาม อยากชวนคุย ว่าความชอบของเราอยู่ในระดับเดียวกันหรือเปล่า จะได้ชวนคุยได้ตรงรุ่น แต่พูดมาพูดไป กลายเป็นไอ้ขี้อวดโดยไม่ได้ตั้งใจก็เป็นได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความรู้สึกอยากลองภูมิลึก ๆ ข้างใน เกิดจากการที่ผู้คนกำลังพยายามพิสูจน์ว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งบางอย่าง พวกเขารู้บางสิ่งบางอย่าง และคุณควรมองว่าเขาเนี่ย เจ๋งนะ เป็นตัวจริงของเรื่องนี้เลยล่ะ 

คนพวกนี้มักรู้สึกดีกับตัวเองเมื่อเขาสามารถเกทับหรือรู้สึกมีอำนาจเหนือใครบางคนได้ บางครั้งมันเลยแสดงออกมาด้วยการบอกคุณว่าคุณไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับพวกเขา เพราะการแบ่งกลุ่มแบบ in-group และ out-group ในเชิงจิตวิทยา ทำให้เรามุ่งความสนใจไปที่การแปะป้ายบุคคลที่ไม่เหมือนเรา แม้ว่าพวกเขาจะแทบไม่ได้อยากจะเหมือนเราก็ตาม

Protection of Identity

“เพลงนี้พี่ฟังมาตั้งนานแล้ว เพิ่งได้ฟังหรอ?” การกีดกันทางรสนิยมเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบมาก นอกจากจะเป็นสายตรวจรสนิยมแล้ว อาการ Before It Was Cool ก็เข้าข่ายเช่นกัน บางคนอาจมองว่าความสนใจหรืองานอดิเรกเป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ บ่งบอกตัวตน และยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ในอ้อมอกอย่างเหนียวแน่น ว่าความเท่แบบนี้มันมีอยู่ที่ฉัน และฉันจะไม่ปล่อยมันไปให้ใครง่าย ๆ เมื่อความเท่ที่มีกลายเป็นกระแสหลัก Gatekeeper จะรู้สึกเหมือนอีโก้ตัวเองพังลง ความชอบของฉันไม่ใช่เรื่องเท่ขนาดนั้นอีกต่อไปแล้ว จนเป็นภัยคุกคามต่อความรู้สึกของตนเอง เลยพยายามปกป้องอีโก้ในใจตัวเองให้ดำรงอยู่ได้ด้วยการเป็นตัวจริงมากกว่าคนอื่น 

สุดท้ายแล้ว เรื่องความชอบ รสนิยม เป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ หากใครจะชื่นชอบอะไร ไม่ใช่หน้าที่อะไรของเราที่จะต้องไปเป็นสายตรวจรสนิยมเช่นกัน ปล่อยให้ความชอบนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตเสียจนจะมีใครมาซ้ำไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะเป็นเราเองที่ต้องแตกสลายให้กับเรื่องราวเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

 

อ้างอิง

Not Metal Enough – A Psychological Perspective on Gatekeeping (loudwire.com)

What is Gatekeeping? (happiful.com)

Our Common Strive for Originality: Why Do We Gatekeep? (theteenmagazine.com)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา