Garmin รีเฟรชแบรนด์ใหม่ บุกตลาดสายสุขภาพ ส่งสารไปยังผู้บริโภคว่าใครก็ใช้สมาร์ทวอทช์ของ Garmin ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสายอาชีพหรือนักกีฬา มั่นใจสู้คู่แข่งในตลาดได้แม้ไม่มีสมาร์ทโฟนของตัวเอง แต่มีเทคโนโลยีและแบตอึด
Garmin ทุบสถิติรายได้ไตรมาสแรก
มิสซี่ ยาง ผู้อำนวยการประจำ การ์มิน ประเทศไทย เผย ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก Garmin ยังทำรายได้ได้อย่างเข้มแข็ง ทุบสถิติรายได้ทั่วโลกในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 1,380 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 49,680 ล้านบาท เติบโตกว่า 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว
ส่วนในไทย ยังได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 25% สะท้อนว่าสมาร์ทวอทช์ของ Garmin ยังได้รับความนิยมในหมู่คนไทยและผู้ใช้ยังมีกำลังซื้อ
นอกจากนี้ สถิติการทำกิจกรรมที่เก็บได้จากแอปพลิเคชัน Garmin Connect เฉลี่ยต่อเดือนยังเติบโตขึ้นกว่า 39% ตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ฉายภาพให้เห็นว่าผู้ใช้ยังสนใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพียงแต่ต้องการอุปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ด้วย
จากพอร์ทสินค้าของ Garmin ที่แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ สายสุขภาพ (Wellness) กิจกรรม Outdoor และกีฬาเฉพาะด้าน (Speciality) พบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สินค้ากลุ่ม Outdoor ได้รับความนิยมสูงที่สุดในหมู่คนไทย มีสัดส่วน 48% รองลงมาเป็นกลุ่มกีฬาเฉพาะด้าน 32% และสินค้ากลุ่ม Wellness 20%
เปิดกลยุทธ์รีเฟรชแบรนด์ขยายธุรกิจแนวดิ่ง รุกตลาดสุขภาพ
สำหรับกลยุทธ์หลักในปี 2024 นี้ Garmin มุ่งขยายธุรกิจในแนวดิ่ง หมายความว่าจะดำเนินการเองในทุกขั้นตอน ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาด้านวิศวกรรม การผลิต การตลาด การให้บริการ เพื่อควบคุมคุณภาพและเพิ่มความสามารถในการปรับตัวของอุตสาหกรรมและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค
การเปลี่ยนแปลงหนึ่งจากกลยุทธ์นี้ คือ ลูกค้าที่ซื้อสินค้าของ Garmin ตั้งแต่เดือนมกราคมของปีนี้จะได้รับการคุ้มครองสินค้าเป็นระยะเวลา 2 ปี จากเดิมที่คุ้มครอง 1 ปี นอกจากนี้ สมาร์ทวอทช์ Garmin ยังได้รับใบอนุญาตการใช้งานเครื่องมือแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจบนแอปพลิเคชัน ECG ที่จะเปิดตัวในไตรมาส 3 ของปีนี้
หรรษา อาภานุกูล ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การตลาด การ์มิน ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญทางการตลาดในปีนี้ คือ การรีเฟรชแบรนด์ใหม่ที่มุ่งทำการตลาดให้ตรงกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มมือใหม่ (Beginner) กลุ่มที่เริ่มสนใจหันมาดูแลสุขภาพและเริ่มออกกำลังกาย
- กลุ่มรักสุขภาพ (Health Concern) กลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- กลุ่มนักกีฬา (Athlete) กลุ่มที่มุ่งมั่นกับการทำเป้าหมายใหม่ ๆ และทุบสถิติในการเล่นกีฬา
จากการที่สัดส่วนการใช้สมาร์ทวอทช์ด้านสุขภาพยังมีเพียง 20% ในหมู่คนไทย ทำให้ Garmin มีโจทย์ใหม่ในการทำลายภาพจำของแบรนด์ว่าไม่ได้เป็นสมาร์ทวอทช์สำหรับนักกีฬาและมืออาชีพเท่านั้น แต่จะบุกตลาดสุขภาพที่ยังเป็นความท้าทายของแบรนด์และเป็นเทรนด์ที่มาแรงในช่วงหลังโควิด-19 ให้เพื่อให้แบรนด์ใกล้ชิดกับผู้ใช้คนไทยมากขึ้น สามารถส่งสารไปได้ว่าทุกคนสามารถใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นมืออาชีพเท่านั้น ผ่านการย้ำจุดแข็งของแบรนด์ใน 3 มิติ คือ
- ระบบการมอนิเตอร์ข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง จากอายุแบตเตอรี่ของสมาร์ทวอทช์ที่อยู่ได้นานในการชาร์จแต่ละครั้งทำให้สามารถมอนิเตอร์ข้อมูลได้ตลอดเวลาทั้งระหว่างวันและในช่วงการนอนหลับ
- ระบบการดูข้อมูลที่สะดวกสะบาย ทำได้ผ่านแอป Garmin Connect ที่มีผู้ใช้มากกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน ทำให้เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เข้าถึงง่ายและสะดวก
- เทคโนโลยีน่าเชื่อถือในการบันทึกข้อมูล มีเซนเซอร์บนนาฬิกาที่ช่วยแปลงข้อมูลมาเป็นการวัดค่าสุขภาพในรูปแบบของ Sleep Score และ Body Battery มี FIRSTBEAT ที่ให้ผลวิเคราะห์ความเครียด การฟื้นตัว และการออกกำลังกาย มีงานวิจัยความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจ
ส่วนการแข่งขันในตลาดสมาร์ทวอทช์ Garmin ยังมั่นใจว่าจะเป็นผู้เล่นในตลาดที่สู้กับแบรนด์อื่นได้แม้ไม่มีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง เพราะมองว่า การใช้กับสมาร์ทโฟนทั้งระบบปฏิบัติ iOS และ Android ได้หมดเป็นข้อได้เปรียบมากกว่า รวมกับจุดแข็งที่สมาร์ทวอทช์ของ Garmin มีอยู่แล้วอย่างความอึดของอายุแบตเตอรี่และการเติบโตที่มาจากความแม่นยำทางเทคโนโลยียิ่งช่วยให้แข่งขันได้ในตลาด
ที่มา – Garmin
อ่านเพิ่มเติม
- คุยกับผู้บริหาร Garmin Health จุดเริ่มต้นและความท้าทายของผู้เล่นที่เข้ามาทีหลัง กับจุดขายสำคัญที่แบตอึด
- Garmin ชูโปรเจค Health Tech ใหม่ ตรวจจับอาการพาร์คินสัน แจ้งเตือนง่วงขณะขับ อัปเกรดมาตรวัดอัตราการเต้นหัวใจแม่นกว่าเดิม
- Garmin จัดงาน Health Summit เผยภารกิจ Polaris Dawn ใส่สมาร์ทวอร์ชสำรวจอวกาศ พร้อมประกาศรางวัลโซลูชันด้านสุขภาพ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา