อนาคตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ระยะสั้นคือ Travel Bubble ระยะยาวคือ พาสปอร์ตสุขภาพ

Suvarnabhumi Airport สนามบินสุวรรณภูมิ
ภาพจาก Shutterstock

ท่องเที่ยวถูกกระทบหนักกว่าในช่วงวิกฤติการเงินปี 2008 ถึง 10 เท่า

อนาคตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอยู่ที่ไหน เมื่อในปัจจุบัน วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวชนิดที่ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่โดนกระทบหนักเบอร์ต้นๆ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการท่องเที่ยวที่สะดวกมากขึ้นนี้เองเป็นสาเหตุของการแพร่กระจายเชื้อไวรัสในครั้งนี้

ในปี 2020 อุตสาหกรรมบาดเจ็บหนักจากการที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงในระดับโลก 70% คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ พูดง่ายๆ ก็คือการท่องเที่ยวถูกกระทบรุนแรงกว่าในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 10 เท่า นอกจากนี้นักท่องเที่ยวกว่า 900 ล้านคนยกเลิกแผนการเดินทางที่จองไว้ล่วงหน้า

มีการคาดการณ์จาก Abhineet Kaul ผู้อำนวยการอวุโสฝ่ายภาครัฐสัมพันธ์ของ Frost & Sullivan บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจว่ากว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวถึงระดับก่อนการระบาดก็ต้องรอถึงปี 2024 

เอเชียแปซิฟิก อาการหนัก

Thailand Phuket 2020 ภูเก็ต
ภาพจาก Shutterstock

ที่น่าเป็นห่วงก็คือประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก มีรายงานจากองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติว่านักท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ลดลงถึง 82% ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคนี้อาศัยการท่องเที่ยวเป็นจักรกลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น

  • กัมพูชามีรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2018 คิดเป็น 17.8 % ของ GDP 
  • ไทยอยู่ที่ มีรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2018 คิดเป็น 11 % ของ GDP
  • 70% ของประชากรในบาหลีของอินโดนีเซียพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว 

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

  • เครื่องบินของ Malaysia Airlines กว่า 75% ไม่ได้ทำการบิน
  • Cathay Dragon และ NokScoot ล้มเลิกกิจการ
  • เที่ยวบินในอินเดียทำการแค่ 65% เทียบกับก่อนการระบาด (แม้อินเดียจะมีกำลังบริโภคภายในสูงก็ตาม)

การท่องเที่ยวภายในไม่ใช่ทางออก

บางประเทศพยายามเสาะหาลู่ทางเพื่อพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วยการผลักดันการท่องเที่ยวในประเทศ แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน เช่น จีนพยายามผลักดันการท่องเที่ยวภายใน จนปัจจุบันเที่ยวบินภายในฟื้นตัวจนมีเที่ยวบินทำการ 95.4% เทียบกับก่อนการระบาด และยังมีข้อมูลว่า 13 สายการบินในจีนให้บริการเที่ยวบินมากกว่าเดิม

แต่ประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้มีกำลังบริโภคภายในสูงแบบจีน จากคำกล่าวของ Wong King Yin ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวจาก Nanyang University ในสิงคโปร์ เขาให้ความเห็นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวภายในไว้ว่า “การท่องเที่ยวภายในไม่สามารถทดแทนการหายไปของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้ทั้งในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินที่สะพัด”

เมื่อการท่องเที่ยวภายในยังไม่ใช่ อะไรคืออนาคตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ในระยะใกล้ เราอาจพอมองเห็นทางออกที่เป็นไปได้อยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการทำ Travel bubble และการสนับสนุนการเดินทางเพื่อธุรกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่กำหนด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยยังสามารถควบคุมจำนวนและติดตามนักท่องเที่ยวต่างชาติได้สะดวกยิ่งขึ้น 

Japan Airport

การท่องเที่ยวในช่วงหลังหลังจากฟื้นตัวจากการระบาดต้องการความยืดหยุ่นมากขึ้น Nuno Guerreiro ผู้อำนวยการภูมิภาคของ booking.com กล่าวว่าเมื่อคนรู้สึกไม่มั่นใจในการท่องเที่ยวมากขึ้น ธุรกิจจะต้องมอบความยืดหยุ่นในการจองและยกเลิกทริปโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ มาตรการณ์กระตุ้นการท่องเที่ยวก็มีส่วนสำคัญ เช่น Go To Travel ของญี่ปุ่นที่รัฐบาลร่วมมือกับ booking.com สนับสนุนค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งโดยคนต่างชาติสามารถรับสิทธิการช่วยเหลือนี้ได้ เพื่อกระตุ้นให้การท่องเที่ยวระหว่างประเทศฟื้นตัวกลับมา

แต่หลายมาตรการณ์ก็เริ่มหยุดชะงักหลังจากโควิด-19 ระบาดเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมาทั่วโลก

มาตรฐานสาธารณสุขแบบใหม่ คืออนาคตระยะไกลของการท่องเที่ยว

Wong King Yin บอกว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อการท่องเที่ยวระหว่างประเทศหลังจากนี้คือ “ระบบการจัดการสาธารณสุขโลก” ซึ่งหมายถึงการจัดการเพื่อให้แน่ใจว่าการเดินทางระหว่างประเทศนั้นถูกต้องตามมาตรฐานสาธารณสุขโลก 

Suvarnabhumi Airport สนามบินสุวรรณภูมิ
ภาพจาก Shutterstock

เธอบอกว่าหลังจากนี้การแสดงพาสปอร์ตสุขภาพซึ่งระบุสถานภาพด้านสุขภาพและประวัติการรับวัคซีนของผู้คนจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ แบบเดียวกับที่การจัดการด้านความปลอดภัยในการเดินทางเข้มข้นขึ้นหลังเหตุการณ์ 9-11

นอกจากวัคซีนแล้ว Abhineet Kaul บอกว่ามาตรฐานระดับโลกด้านความสะอาดและสุขอนามัยจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญของการเดินทาง

อีกปัจจัยที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือสภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม แน่นอนว่าแม้เราสามารถยกระดับมาตรฐานทางสาธารณสุขในระดับโลกได้ แต่สิ่งที่จะทำให้ผู้คนออกไปจับจ่ายใช้สอยต่างแดนคือสุขภาพทางการเงิน Kaul ชี้ให้เห็นว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นมาได้มากเท่าไหร่

ที่มา – SCMP

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน