Food Passion ไม่ใช่แค่คนขายอาหาร เพราะเตรียมเดินหน้าส่งความสุขให้ผู้บริโภคโดยอาศัยมื้ออร่อยเป็นสื่อกลาง

ธุรกิจร้านอาหารที่ดี อร่อยอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องใส่ใจในทุกเรื่อง เพราะผู้บริโภคไม่ได้เข้ามาเพราะต้องการแค่อิ่ม แต่อยากได้ความสุขที่มากกว่านั้น ซึ่ง Food Passion เห็นจุดนี้ และเร่งเครื่องกลยุทธ์ใหม่ตามชื่อบริษัท

สร้างความสุขทุกมื้อ โดยมีอาหารเป็นสื่อกลาง

ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ และปัญหาภายในประเทศที่ยังไม่เคลียร์ซักที ทำให้ธุรกิจร้านอาหารกระทบไปเต็มๆ เพราะเมื่อความเชื่อมั่นไม่มี ผู้บริโภคที่ไหนจะมีอารมณ์มาจับจ่าย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าตลาดนี้เติบโตเพียง 1.9-2.7% เท่านั้น คิดเป็นมูลค่าราว 382,000-385,000 ล้านบาท ถือเป็นอีกข้อพิสูจน์ในเรื่องถึงอาหารจะอร่อยแค่ไหนก็ดึงดูดคนเข้าร้านได้ยาก และ Food Passion ก็เห็นถึงปัญหานี้ จึงปรับความคิดใหม่ โดยหันไปเน้นเรื่องความสุขของการรับประทานอาหาร นอกจากความอร่อยที่ต้องคงเอาไว้

ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เล่าให้ฟังว่า ปี 2559 คือปีแห่งการเปลี่ยนแปลง และปรับตัว เพราะมีปัจจัยลบในอุตสาหกรรมร้านอาหารเยอะ แต่ถึงอย่างไรบริษัทก็สามารถเติบโตในธุรกิจนี้ได้ในอัตรา 13% คิดเป็นรายได้ 3,380 ล้านบาท ผ่านการปรับแนวคิดจากธุรกิจขายอาหาร เป็นธุรกิจของคนเสิร์ฟอาหาร พร้อมกับเดินหน้ากลยุทธ์ Circle of Happiness หรือวงจรแห่งความสุขที่เริ่มจากพนักงานเสิร์ฟ ไปที่ลูกค้า และรายได้บริษัท ก่อนย้อนกลับมาพัฒนาเรื่องพนักงานเสิร์ฟอีกครั้ง และทั้งหมดมีมื้ออาหารเป็นสื่อกลาง

“ปี 2559 Food Passion ลงทุนกว่า 50 ล้านบาท เพื่อสร้างสวัสดิการที่จับต้องได้ให้กับพนักงาน ผ่านแนวคิด กินดี, พักสบาย, กายแข็งแรง และแบ่งปันความรู้  โดยเฉพาะเรื่องทุนการศึกษาของตัวพนักงาน และบุตรหลานด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้สร้างให้พนักงานเกิดความผูกพันธ์กับองค์กร และทำให้เขาทุ่มเทในการเสิร์ฟแต่ละครั้ง หรือเท่ากับส่งความสุขไปให้ลูกค้าที่เข้ามารับประทานอาหารในร้าน และทำให้ธุรกิจของเราเติบโตขึ้นโดยอัตโนมัติ แม้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมร้านอาหารจะเติบโตลดลง”

คิดแบบ Startup และอีก 3 ปีต้องโตเท่าตัว

ขณะเดียวกันกลยุทธ์ของ Food Passion ก็ยกระดับขึ้นหลังจากการปรับโครงสร้างองค์กร เพราะบริษัทต้องการเติบโตในระยะยาว ผ่านการรักษาเบอร์หนึ่งตลาดปิ้งย่าง 6,110 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ Bar B Q Plaza พร้อมกับสร้างแบรนด์ใหม่ๆ ให้ติดตลาด เช่น Hot Star Chicken ที่เข้ามาในตลาดไก่ทอดมูลค่า 12,000 ล้านบาท และอีก 3 แบรนด์ภายในปี 2563 ส่วนตลาดต่างประเทศเพิ่มเป็น 5 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และอีก 2 ประเทศใหม่ ภายในปี 2563 เพื่อสร้างรายได้ 6,500 ล้านบาท หรือเติบโตเท่าตัวจากตอนนี้

สำหรับ 4 กลุยทธ์ระหว่างการไปถึงปี 2563 ของ Food Passion ที่ยกระดับจากปีก่อน เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบ Active จะประกอบด้วย

1.จาก Business for People สู่ Strong Team Relationship ด้วยวิธีการคิดแบบ Outward เพื่อสร้างคามสัมพันธ์ระหว่างคน เพราะเขื่อว่าคนคือปัจจัยสำคัญในความสำเร็จขององค์กร

2.จาก Do It with Passion and Pride สู่ Startup Mentality and Entrepreneurship หรือ การใช้ทีมงานที่เล็กลง เพื่อคิดเร็ว, เริ่มเร็ว, ล้มเร็ว, ลุกเร็ว และขยายผลได้เร็ว คล้ายกับการทำ Startup ในปัจจุบัน เพื่ออยู่ในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.จาก Innovation for Customer Journey สู่ 10x Through Creative Synergy and Value Added เพราะเชื่อว่าการแข่งขันด้วยราคาคงไม่ทำตลาดให้ดีขึ้น คล้ายกับกรณีของการแข่งขันร้านปิ้งย่างแบบบุฟเฟ่ต์ที่เริ่มมีการทำสงครามราคา แต่จริงๆแล้ว การสร้างคุณค่าของสินค้าที่มากขึ้น น่าจะทำให้ธุรกิจยั่งยืนกว่า

4.จาก Speed to Market สู่ Adjust the Sails and Leverage Our Resource หรือการสร้างความยืดหยุ่นให้กับองค์กร เหมือนกับการปรับใบเรือที่รับลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ทุกเวลา ซึ่งการทำแบบนี้จะสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจโดยอัตโนมัติ

การเติบโตของ Bar B Q Plaza ในปี 2560

ส่วนเป้าหมายรายได้ของปี 2560 ตั้งไว้ที่การเติบโตของรายได้ 13% เช่นเดิม ผ่านการทำตลาด 4 แบรนด์ หรือ Bar B Q Plaza, Hot Star, จุ่มแซ่บฮัท และอีก 1 แบรนด์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นเอง โดยจะเปิดตัวในไตรมาส 2 ปีนี้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นธุรกิจอะไร และในปี 2560 จะใช้งบลงทุนที่ 810 ล้านบาท แบ่งเป็นการขยายสาขา และรีโนเวทร้าน Bar B Q Plaza อีก 20 แห่ง เป็น 149 แห่ง กับ Hot Star จำนวน 630 ล้านบาท และอีก 180 ล้านบาทในการทำตลาดแบรนด์ใหม่

สร้างความแตกต่างด้วยการออกพรีเมียมรีฟิลเป็นครั้งแรกของ Bar B Q Plaza

มองเกมปิ้งย่าง ผ่านสายตาเบอร์หนึ่งตลาดนี้

บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดูแลธุรกิจ Bar B Q Plaza มองว่า ปัจจุบันบริษัทถือส่วนแบ่งในตลาดนี้ 60% และถึงสิ้นปีนี้น่าจะถึง 62% ได้เพราะยังไม่มีคู่แข่งรายใดที่ Active เหมือน Food Passion จนทำให้ตลาดนี้เหลือผู้เล่นที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าเพียง 3-4 ราย ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวจริงของตลาดทั้งนั้น และด้วยตอนนี้ผู้บริโภคเริ่มไปสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้บริษัทเริ่มทำตลาดบางแคมเปญโดยใช้ออนไลน์เพียงอย่างเดียวมากขึ้น จากจุดนี้เองทำให้บริษัทมีสมาชิกเพิ่งเป็น 1.2 ล้านราย และเพิ่มจำนวนการจ่ายต่อบิลสูงเกิน 750 บาทด้วย

สรุป

ในธุรกิจอาหาร  Food Passion แสดงให้เห็นถึงความ Active และความหลงไหลในเรื่องการมอบความสุขให้กับลูกค้าตามชื่อบริษัทอย่างชัดเจน และตอนนี้การขยายตลาดออกไปในต่างจังหวัดมากขึ้น ผ่านการโหมเปิดสาขาอย่างต่อเนื่องของ Bar B Q Plaza ก็คงไม่แปลกที่ร้านอาหารครอบครัวอื่นๆ จะต้องกังวล และทำให้อุตสาหกรรมร้านอาหารกลับมาแข่งขันกันด้วยแนวคิด แทนที่จะมาดัมพ์ราคาแข่งกันอย่างเดียวอีกด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา