บุญรอดฯ ชักธงรบรุกธุรกิจอาหารยก FOOD FACTORS เป็น 1 ใน 6 PILLAR

หลังจากกลุ่มบุญรอดบริเวอรี่ ผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มของเมืองไทย ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ มุ่งแสวงหาโอกาสขยายธุรกิจใหม่ โดยมี 6 เสาหลัก ที่เป็นหัวหอกสร้างการเติบโตขององค์กร ประกอบด้วย 1.ธุรกิจเบียร์ โซดา และน้ำดื่ม 2.กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์บางกอกกล๊าส 3.ธุรกิจระดับภูมิภาค(รีจินัล)ภายใต้ สิงห์ เอเชีย โฮลดิ้ง 4.อสังหาริมทรัพย์ โดยสิงห์เอสเตท 5.ธุรกิจซัพพลายเชน ภายใต้บุญรอดซัพพลายเชน และ 6.ธุรกิจอาหาร โดยฟู้ด แฟ็คเตอร์ส

ปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากกลุ่มบุญรอดฯ ปรับโครงสร้างธุรกิจ ขยายสู่เสาหลักใหม่ ใน 1 ปีที่ผ่านมา ตนได้ทำหน้าที่ดูแล 2 เสาหลัก ได้แก่ ซัพพลายเชน และธุรกิจอาหาร โดยธุรกิจอาหารวางแผนบุกในการผลิตสินค้าคุณภาพ ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค เพื่อสร้างการเติบโตภายใน 3 ปี

สำหรับแผนธุรกิจเบื้องต้น มีการปรับโครงสร้างธุรกิจอาหาร เพื่อให้มีศักยภาพและความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยมีการรวบรวมบริษัทในเครือทั้งหมดที่เคยแยกกันบริหารงาน ผลิตสินค้าสร้างยอดขายประมาณ 400-500 ล้านบาทต่อบริษัท มาอยู่ภายใต้ “ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส” อาทิ ธุรกิจข้าวถุงพันดี,  ร้านอาหารเอส33, ร้านฟาร์มดีไซน์, ร้านอาหารญี่ปุ่น Kitaohji, โรงงานผลิตสินค้ากลุ่มอาหารเฮสโก ฟู้ด อินดัสทรี และเฮสโก โซลูชั่น, โรงงานผลิตเครื่องดื่มวราฟู้ดส์ เป็นต้น และรวมทีมงานให้มาอยู่ในศูนย์กลางประมาณ 150 คน เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในเชิงรุก

ทั้งนี้ การผนึกกำลังกันของกลุ่มธุรกิจอาหาร ส่งผลให้ขนาดของธุรกิจใหญ่ขึ้น และประมาณการรายได้รวม 4,500 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภายใน 3 ปีข้างหน้า บริษัทต้องการผลักดันรายได้ให้กลับไปยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งที่ระดับ 5,000 ล้านบาท มีอัตรากำไรสุทธิ 8-15% สอดคล้องกับมาตรฐานธุรกิจ และมุ่งทะยานสู่ระดับ 10,000 ล้านบาท จากนั้นจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน ต่อยอดการเติบโตธุรกิจต่อไป

สำหรับแผนในการมุ่งสร้างรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย บริษัทวางแผนในการวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดในหมวดหมู่สินค้าใหม่ๆ เช่น สินค้าพร้อมรับประทาน(Ready to eat :RTE) อาหารพร้อมปรุง(Ready to cook :RTC) เนื่องจากบริษัทมีการสร้างห้องปฏิบัติการด้านอาหาร(Food Lab) ไว้รองรับการพัฒนาสินค้าเรียบร้อยแล้ว ด้านโรงงานผลิตสินค้า ยังมีพื้นที่ในการขยายกำลังการผลิตสินค้าในเครือ และรับจ้างผลิตสินค้านอกเครือ(OEM)ให้กับแบรนด์ไทยและต่างประเทศ

บริษัทยังมองโอกาสในการซื้อและควบรวมกิจการ(M&A) การร่วมทุน(Joint venture) ถือหุ้นส่วนน้อยและส่วนมาก รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับธุรกิจอาหารแบรนด์อื่นๆเพิ่มเติมเพื่อขยายตลาด สร้างการเติบโต

“จากนโยบาย นายสันติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ต้องการให้เราขยายสู่ธุรกิจใหม่ๆมากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนระยะยาว ส่วนการขยายธุรกิจอาหาร ผมได้โจทย์สำคัญ คือต้องทำให้บริษัท Take off ให้ได้ภายใน 3 ปี โดยวิธีการจะไปให้ถึงเป้าหมาย เริ่มจากการปรับโครงสร้างองค์กรและสินค้า วางแผนพัฒนาสินค้าใหม่ ขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าให้กว้างขวางครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย วางแผนในการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับแบรนด์อื่นๆ ขณะที่หัวใจการของการทำธุรกิจอาหาร เบื้องต้นจะต้องผลิตสินค้าอร่อย มีคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค”

“ธุรกิจอาหารมีการเติบโตทุกเซ็กเมนต์ มากน้อยแตกต่างกันไป โดยตลาดที่มีมูลค่าระดับ 9 หมื่นล้านบาท อาจโตไม่มาก ส่วนตลาดที่มีขนาด 2-3 หมื่นล้านบาท สามารถเติบโตในอัตรา 2 หลัก เช่น กลุ่มอาหารพร้อมปรุงและพร้อมทาน อย่างไรก็ตาม

ปิติ กล่าวเสริมว่า ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส ก่อตั้งมาประมาณ 1 ปีเศษ การปรับโครงสร้างครั้งนี้ แล้วเสร็จ 95% โดยที่ผ่านมา บริษัทมีการขออนุมัติกรอบวงเงินเพื่อลงทุน 2,500 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจภายใน 3 ปี ซึ่งขณะนี้เหลือระยะเวลาอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง และการรุกหนักธุรกิจอาหาร บริษัทจึงมองกรอบการลงทุนขั้นต่ำประมาณ 5,000-8,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจในอนาคต และนอกจากนี้ยังจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมในการวิจัยและพัฒนาสินค้าด้านอาหาร(Food Innovation Center) โดยมีทีมงานวิจัยมืออาชีพในการคิดค้น นำเสนอสินค้าใหม่ ภายใต้การผลิตที่ใช้เทคโนยีทันสมัย รองรับความต้องการลูกค้าได้อย่างหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในแผนระยะยาว ยังมองการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอาหารบนพื้นที่ 2,000 ไร่ จังหวัดอ่างทอง เพื่อให้การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ครบวงจรในพื้นที่เดียว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา