โควิด-19 ระบาด ส่งผลให้มีการจำกัดการเดินทาง ทำให้แรงงานที่ทำหน้าที่เก็บผลไม้ขาดแคลนทั่วโลก เหล่าเกษตรกรเจ้าของฟาร์มผลไม้ก็ถูกบีบให้ต้องปล่อยผลไม้เหล่านั้นเน่าคาต้นหรือร่วงหล่นลงมาเอง ล่าสุด มีการนำ AI มาช่วยทำโดรนเพื่อเก็บผลไม้ นอกจากจะประหยัดเงินสำหรับค่าใช้จ่ายแล้ว ยังลดการสูญเสียได้ด้วย
ในช่วงก่อนที่โควิดระบาด มีรายงานช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2019 จากสมาพันธ์เกษตรกรรมแห่งชาติอเมริกา (AFBF) พบว่า มีการรับสมัครคนงานเพื่อทำหน้าที่เก็บผลไม้เพิ่มสูงขึ้นมาก ทางสมาพันธ์ฯ ออกมาเตือนว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน
ปีที่ผ่านมา มีการจำกัดการเดินทางทั่วโลก ฟาร์มในยุโรปต้องควบคุมและจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้เกิดแรงงานขาดแคลน ขณะเดียวกันเจ้าของฟาร์มก็กังวลเรื่องผลผลิตที่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ หลายประเทศพยายามแก้ปัญหานี้ เช่น อังกฤษใช้โครงการ Pick for Britain เพื่อให้คนมาทำงานด้วยในระยะสั้น ขณะที่เยอรมนีและฝรั่งเศสก็ใช้โครงการที่ทำให้คนตกงานมีงานทำในช่วงที่เกิดโรคระบาดด้วย ในสเปนและอิตาลีก็เคยระบุว่าจะรับคนทำงานต่างด้าวที่เป็นแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาทำงานในช่วงที่ขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น
ล่าสุด บริษัท Tevel Aerobotics Technologies ของอิสราเอลคิดค้นโรบอตเก็บผลไม้ขึ้นมา เรียกว่า FAR (Flying Autonomous Robots) โดยใช้ AI ประมวลผลและยังสามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมงต่อวัน นวัตกรรมชิ้นนี้คิดค้นเพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน
บริษัท Tevel ระบุว่า ฟาร์มผลไม้ต้องสูญเงินนับพันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในแต่ละปี เพราะสูญเสียผลผลิตจากการปล่อยให้ผลไม้เน่าคาต้น นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา โลกสามารถผลิตผลไม้สดได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 400 ล้านตัน จนปี 2019 อยู่ที่ราวๆ กว่า 800 ล้านตัน คิดเป็นเงินกว่าครึ่งล้านล้านเหรียญสหรัฐ
Jon White CEO จาก Marom Orchard หนึ่งในฟาร์มผลไม้แห่งแรกๆ ที่ใช้โรบอตเก็บผลไม้ ระบุว่า เราจำเป็นต้องพึ่งพาคนเก็บผลไม้จำนวนมาก เราต้องจ่ายค่าแรง การจัดการวีซ่า ค่าบ้าน ค่าอาหาร ค่าสาธารณสุข และค่าขนส่ง ต้นทุนเหล่านี้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ต้องแบกรับต้นทุนค่าแรงในแต่ละฤดูเพิ่มขึ้น คนหนุ่มสาวทั่วโลกต่างก็หลีกเลี่ยงที่จะทำงานเกษตรหันไปทำงานประจำในเมืองที่มีรายได้สูงขึ้นกันทั้งนั้น
โรบอต FAR นี้จะใช้ AI เพื่อคำนวณอัลกอริธึมและช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บผลไม้แต่ละชนิดได้ บริษัท Tevel คาดการณ์ว่า การประดิษฐ์ FAR เครื่องเก็บผลไม้นี้มา ก็เพื่อจะทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนที่คาดว่าปี 2050 จะขาดแคลนมากถึง 5 ล้านคน ทั้งองค์การสหประชาชาติและสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ต่างมองว่าการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะช่วยทำให้เกิดผลิตภาพที่ดีทางการเกษตร ลดความสูญเสียมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีบริษัท Kubota อีกรายที่เข้าไปลงทุนร่วมทุนกับบริษัท Tevel เป็นการรวมทุนราว 20 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 600 ล้านบาท ข้อมูลจาก Kubota ระบุว่า เป็นการลงทุนกับนวัตกรรมแห่งอนาคตและหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
ทุกๆ ปีมีผลไม้จากทั่วโลกราว 800 ล้านตัน จากพื้นที่ราว 70 ล้านเฮกตาร์หรือประมาณ 437 ล้านไร่ มีมูลค่าราว 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 30 ล้านล้านบาท เกษตรกรต้องจ่ายเงินต่อปีราว 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3 ล้านล้านบาทสำหรับค่าเก็บผลไม้และรับสมัครคนเข้ามาทำงานราว 10 ล้านคนเป็นการชั่วคราวเพื่อมาเก็บผลไม้ เป็นแรงงานตามฤดูกาลที่ค่อนข้างจะหายาก กว่าจะหาได้ก็ต้องมาฝึกงานเพื่อให้สามารถจ้างทำงานได้ในระยะเวลาสั้นๆ
วิกฤตโควิดสร้างผลกระทบเสียหายค่อนข้างมาก ทั้งในแง่ขาดแคลนแรงงานและผลผลิตไม่ได้เก็บเกี่ยว ส่งผลให้บริษัท Tevel จึงคิดหาทางออกแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น โดยบริษัท Tevel นี้ก่อตั้งในปี 2017 เป็นบริษัทในอิสราเอลที่พยายามพัฒนาโรบอตที่บินได้เพื่อให้เก็บผลไม้ผสมผสานกับ AI ให้สามารถคำนวณข้อมูลที่เหมาะสมในการเก็บผลไม้ในแต่ละประเภทได้
ที่มา – WEF, Reuters, Tevel, Kubota
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา