ใบอนุญาต Craft Beer ใบแรกในพม่า จุดเริ่มต้นปฏิวัติอุตสาหกรรมเบียร์

ช่วงเวลานี้ Craft Beer กำลังเป็นกระแสที่มาแรงมาในไทย มีความพยายามจากนักดื่มเบียร์กลุ่มหนึ่งที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น แต่เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น ลองไปดูโลกของ Craft Beer ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่ากันหน่อย

พม่า ประเทศที่ต้องยอมรับว่า รัฐบาลทหารยังกุมอำนาจอยู่เป็นส่วนใหญ่ แม้จะเปิดประเทศมากขึ้น แต่การจะทำธุรกิจ โดยเฉพาะที่ต้องขอรับใบอนุญาต ยังเป็นเรื่องที่ยากอยู่พอสมควร

กระนั้น พม่า ก็มีใบอนุญาต Craft Beer ใบแรกเกิดขึ้นแล้ว และเปิดตัวโรงเบียร์ไปเมื่อ 20 มกราคม ที่ผ่านมานี้เอง !!

ภาพจาก pixabay.com

กระแสแห่ง Craft Beer กำลังถาโถมเข้าสู่อาเซียน

จุดเริ่มต้นของพม่า ก็ไม่ต่างจากไทยนัก เริ่มมีการนำเข้า Craft Beer มาจำหน่ายในรูปแบบของพรีเมียมบาร์, ไมโครบริวเวอร์รี่ (microbreweries), และ บริวผับ (brewpubs) เป็นการสร้างทางเลือกให้กับนักดื่ม ที่ไม่ต้องจำเจอยู่กับเบียร์แบบเดิมๆ ไม่กี่แบรนด์ จนกระทั่งมีการเรียกร้องจากนักดื่มในการตั้ง Craft Beer ขึ้น

กระทั่งเดือนมกราคม 2017 รัฐบาลพม่าได้ให้ใบอนุญาตใบแรกสำหรับการทำไมโครบริวเวอร์รี่ หรือโรงเบียร์ขนาดเล็ก และผู้ที่ได้ไปคือ The Burbrit Brewery ชื่อมาจาก Burma ผสมกัน Britain ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงย่างกุ้ง

ภาพจาก pixabay.com

ปรับความเข้าใจเกี่ยวกับ โรงเบียร์ขนาดเล็ก

Htin และ Zaw คือผู้ก่อตั้ง The Burbrit Brewery บอกว่า ใครหลายคนคิดว่า โรงเบียร์ ต้องเป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีเครื่องจักร หม้อต้มหลายร้อยหลายพันลิตร แต่สำหรับ ไมโครบริวเวอร์รี่ ขอให้คิดใหม่ ที่คือ Craft Beer หรือเบียร์ที่ผลิตอย่างพิถีพิถันในลักษณะของ “แฮนด์เมด” อุปกรณ์ที่ใช้ มีขนาดเล็กแตกต่างจากโรงเบียร์ที่ทำเป็นอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน

The Burbrit Brewery ตั้งอยู่ในพื้นที่ทหาร ดังนั้นจึงไม่มีการก่อสร้างโรงงานถาวร แต่การเลือกตั้งโรงเบียร์เล็กๆ ในพื้นที่ของทหาร ก็เพราะเมื่อสำรวจความคิดเห็นแล้ว ไม่มีใครอยากให้มีโรงเบียร์อยู่ใกล้บ้าน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด

ดังนั้น ทางผู้ก่อตั้งได้ใช้เวลาทำความเข้าใจกับประชาชนอยู่พอสมควร เพื่อให้ที่ตั้งต่อไปสามารถอยู่ในพื้นที่ชุมชนได้ เป้าหมายคือ ส่งเสริมให้เกิดชุมชน Craft Beer ขึ้นในพม่า โดยการจัดสาธิตการทำเบียร์ ให้ความรู้เกี่ยวกับ เบียร์ระดับพรีเมียม ซึ่งถึงวันนี้มีผับและบาร์หลายแห่งที่อยากได้เบียร์จาก The Burbrit Brewery ไปขาย

ภาพจาก pixabay.com

4 ปีก่อนจะมาเป็น The Burbrit Brewery

Htin และ Zaw บอกว่า หลังจากที่ดื่ม Craft Beer ที่สิงคโปร์และในอีกหลายประเทศ จึงเริ่มคิดว่าจะดีแค่ไหนถ้าสามารถทำ Craft Beer ไว้ดื่มเองได้ในพม่า แต่ก็เป็นเรื่องยากและท้าทายที่จะทำให้สำเร็จได้ ทั้งเรื่องสถานที่ ใบอนุญาต และการขนส่งวัตถุดิบที่นำเข้ามาจากประเทศเยอรมนี

ยิ่งพม่าเป็นประเทศที่มีประวัติยาวนานโดยรัฐเข้ามาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเบียร์ โดยปัจจุบันผู้ที่อยู่ในตลาดเบียร์ ประกอบด้วย บริษัทจากต่างประเทศ, บริษัทที่รัฐและทหารเป็นเจ้าของ และครอบครัวหนึ่งที่ร่ำรวยและทำธุรกิจสุราอยู่ ดังนั้นใบอนุญาต Craft Beer จึงอยู่ใต้การควบคุมที่เข้มงวด และเมื่อมีคนยื่นขอใบอนุญาต ก็ถูกปฏิเสธอยู่หลายครั้ง

แต่ Htin และ Zaw ได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างหนัก พร้อมกับยื่นขอใบอนุญาตอีกหลายครั้งจนได้รับอนุญาตในที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นการเกิดขึ้นของ Craft Beer ในพม่า

ภาพจาก pixabay.com

สรุป

ขณะที่ Craft Beer ในไทยยังติดเรื่องของกฎหมาย และพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น Craft Beer ในพม่าก็กำลังเริ่มต้นขึ้นเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ การสร้าง ecosystem ให้เกิดขึ้น คือ มีทั้งโรงเบียร์ ร้านเบียร์ และชุมชนคนดื่มเบียร์ ซึ่งสำหรับในไทย คาดว่าจะเกิดขึ้นได้จริงในอีก 3 ปีข้างหน้า

ที่มา: new mandala

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา