ความท้าทายใหม่ๆ ของ FinTech กับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME ไทย

เสวนาจากงาน Bangkok FinTech Fair 2018 ซึ่ง SME ของไทยจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนทางการเงินถูกลงได้อย่างไร โดยการวิเคราะห์จากข้อมูลของ SME เอง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับ SME และ FinTech ที่จะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย

ภาพโดย วัชรวิชญ์ ภู่ดอก

SME ในประเทศไทยเป็นตลาดขนาดใหญ่มาก แต่ก็มีข้อจำกัดในการเข้าถึงเงินทุนใหม่ๆ เพื่อที่จะขยายกิจการ หรือแม้แต่การใช้ FinTech เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของกิจการด้วย หาก FinTech สามารถแก้ไขเรื่องพวกนี้ได้ จะเป็นโอกาสให้ FinTech เจ้านั้นๆ โตได้ไวมากด้วย

เรื่องใหญ่ 3 เรื่องที่สำคัญที่ต้องจับตามองของ FinTech

Michael Araneta รองประธานของ IDC Financial Insights ได้เสนอ 3 เรื่องสำคัญของ FinTech ที่จะต้องจับตามองในปีนี้

  1. เข้าใจลูกค้าได้ดีขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อที่จะได้เข้าใจลูกค้ามากขึ้น และรวมไปถึงความสามารถในการที่จะเข้าใจลูกค้าด้วย
  2. ความเร็ว โดยเฉพาะความเร็วในการวิเคราะห์ข้อมูล
  3. ใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น เช่นการหาช่องทางใหม่ๆ ในการเข้าถึงลูกค้า หรือแม้แต่เรื่องของ Open Banking อีกด้วย

3 ข้อดังกล่าว เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกันสำหรับ FinTech เพื่อที่จะได้เข้าใจในลูกค้า SME ที่ในไทยมีเยอะมาก

โอกาสของ SME ในการเข้าถึงเงินทุน

ในประเทศไทยเราจะเห็นว่า SME มีจำนวนมาก แต่ลงทะเบียนจริงๆ แค่หลักแสนเท่านั้น แต่ปัญหาของ SME ในประเทศไทยคือการเข้าถึงเรื่องของเงินทุนซึ่งถ้ากู้ธนาคารแบบเดิมๆ จะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูง ฉะนั้นทำอย่างไรที่จะช่วยให้ SME ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนทางการเงินที่ถูกลง

ซึ่งผู้ร่วมเสวนามองว่าเรื่องของ Credit Score จะเป็นโอกาสใหม่ๆ ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME รวมไปถึงเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลอื่นๆ ซึ่ง FinTech อาจช่วยได้ เช่นเรื่องของการทำบัญชี หรือเรื่องของภาษีที่ไทยประสบปัญหามาก

ปัญหาใหญ่คือเรื่องของข้อมูล

เรื่องของการเก็บข้อมูลที่จะนำมาเป็น Credit Score สำหรับลูกค้า SME เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าแต่ละรายแตกต่างกัน ซึ่งการมี Credit Score จะช่วยทำให้อุดช่องโหว่เรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่ SME แต่ละรายที่ควรจะได้รับ ซึ่งถ้ารายไหนที่มีคะแนนที่ดี แปลว่ามีความน่าเชื่อถือ ก็จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง แต่ถ้ารายไหนคะแนนไม่ดีก็จะได้รับอัตราดอกเบี้ยทั่วไป

ส่วนนี้ธนาคารอาจมาช่วยอุดช่องโหว่ในเรื่องของข้อมูล เพราะว่าทางธนาคารสามารถวิเคราะห์ข้อมูลของทาง SME ที่จะมาขอกู้ได้ โดยวิเคราะห์จากเรื่องของการหมุนเวียนธุรกรรมทางการเงินของลูกค้า ซึ่งแต่ละรายไม่เหมือนกัน

เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ ข้อมูลความเป็นส่วนตัว หากมีการเก็บข้อมูล หน่วยงานที่กำกับดูแลจะต้องมีแนวทางที่กำกับเรื่องของการเก็บข้อมูลก่อนนำไปวิเคราะห์ข้อมูลว่าอะไรเก็บได้หรือไม่ อย่างไร กระทบความเป็นส่วนตัวหรือไม่

เรื่องที่น่าคิดต่อไป

ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับ FinTech ที่จะเข้ามาในส่วนให้การสนับสนุนแก่ SME เช่น เรื่องของเงินกู้ ฯลฯ หรือแม้แต่เรื่องของหน่วยงานกำกับดูแลที่จะจัดทำแนวทางสำหรับเรื่องนี้ในอนาคต

  • ข้อมูลที่เก็บต้องเป็นข้อมูลที่ดี เพราะถ้าหากเก็บข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไปแล้วจะมีปัญหาภายหลัง
  • เรื่องของระบบโครงสร้างพื้นฐานในการเก็บข้อมูลต้องพร้อมรองรับ
  • แนวทางของหน่วยงานกำกับดูแลการเก็บข้อมูล และเรื่องอื่นๆ
  • การปรับตัวไปสู่เรื่องของ Credit Score ของทาง SME ซึ่งยังเป็นเรื่องยาก
  • ไม่ใช่แค่การเก็บ Credit Score อย่างเดียว อาจรวมไปถึงเรื่องของการออก Invoice ด้วย ต่อยอดไปถึงการเก็บภาษีที่โปร่งใสในอนาคต
  • ธนาคารหรือบริษัทต่างๆ อาจ Open Data ร่วมกันได้ เพื่อได้ข้อมูลที่ใหญ่มากขึ้น

ทั้งเป็นแนวทางการทำให้ SME ในประเทศไทยเข้าถึงเรื่องของเงินทุน หรือแม้แต่ช่องทางใหม่ๆ ทางการเงิน หรือการที่ผู้ประกอบการจะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ