เล่าเรื่องภาวะผู้นำของรัฐมนตรีคลังว่าสำคัญไฉน ตอนที่ 1

ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขอแสดงความยินดีกับรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เข้ามารับไม้ต่อจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารของประเทศไทยเป็นระยะเวลานานกว่า 9 ปี แต่แม้ว่าคำขับขานกล่าวต้อนรับจะกระหึ่มเซ็งแซ่ แต่รัฐบาลเศรษฐาก็มิได้มีเวลาที่จะดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์มากนัก เพราะปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพได้กลายเป็นความท้าทายที่รอรัฐบาลอยู่อย่างไม่ให้หายใจหายคอ 

รมต. คลัง

แต่ผู้เขียนก็เกิดความงวยงงระคนสงสัยว่า เหตุใดรัฐบาลจึงว่างเว้นตำแหน่งรัฐมนตรีคลังแบบเต็มเวลา แต่กลับยกให้นายกรัฐมนตรีผู้มีภารกิจรัดตัวนั่งถ่างขาคร่อมเก้าอี้ใหญ่อีกตัวหนึ่ง หรือรัฐบาลเห็นว่า เก้าอี้นี้ไม่ได้มีความสลักสำคัญอันใด หรือหาผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมมารับตำแหน่งไม่ได้ คำตอบนี้ก็คงมีตัวนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่รู้

อย่างไรก็ดี คำกล่าวโบราณว่าไว้ว่า “กงล้อประวัติศาสตร์อาจหมุนซ้ำทับรอยเดิม” ดังเช่น “การยิงธนูนั้น ผู้ยิงต้องน้าวสายคันธนูไปข้างหลังก่อนจึงจะยิงลูกธนูไปข้างหน้าได้ฉันใด การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ก็ย่อมทำให้การตัดสินใจตรงเป้าหมายฉันนั้น” เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจความสำคัญของตำแหน่งรัฐมนตรีคลังและคุณสมบัติผู้ที่มานั่งเก้าอี้นี้ในอดีตจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ผู้เขียนจึงเห็นว่า การเล่าเรื่องรัฐมนตรีคลังที่โดดเด่นในอดีตน่าจะทำให้รัฐบาลเล็งเห็นถึงบทบาทอันเป็นรูปธรรมของคนที่ดูแลระบบเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังของประเทศไทยไม่มากก็น้อย บุคคลแห่งประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมาเล่าคงหนีไม่พ้น “คุณสมหมาย ฮุนตระกูล” รัฐมนตรีคลังคู่ใจพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ที่เป็นผู้พลิกฟื้นความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยจนก้าวขึ้นสู่ว่าที่เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย แม้ในภายหลังจะเป็นเพียงความฝันก็ตาม

คุณสมหมาย ฮุนตระกูล
คุณสมหมาย ฮุนตระกูล ภาพจากศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย

หากย้อนอดีตไปได้และไม่ได้เห็นว่า พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี และคุณสมหมายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว เศรษฐกิจไทยคงกลับบ้านเก่าไปตั้งแต่กลางทศวรรษของพุทธศักราช 2520 แล้ว และคงจะไม่ได้เห็นความมหัศจรรย์แห่งเอเชีย (Miracle of Asia) ที่คนทั่วโลกมานั่งแปลกอกแปลกใจถึงความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยอัตราเติบโตปีละ 2 หลักหรือสูงกว่าร้อยละ 10 จนก้าวกระโดดจะไปเป็นประเทศ NICS (Newly Industrial Countries) ของโลกให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตานักลงทุนหลายหลากสัญชาติ และว่ากันว่า ถ้าวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 มีรัฐมนตรีคลังที่ชื่อสมหมาย ฮุน-ตระกูล ประเทศไทยคงไม่อับจนหนทางจนเอาทรัพย์สมบัติที่บรรพบุรุษสู้เอาเลือดเนื้อเข้าปกป้องไปประเคนให้พวกบูชาเงินเป็นพระเจ้าเหมือนที่รัฐบาลเอาทรัพย์สินดีและเลวผสมปนเปกันไปขายแบบเหมายกเข่งให้พวกฝรั่งตอนช่วงวิกฤต เพราะคุณสมหมายคงไม่ยอมอย่างเด็ดขาดและไม่มีวันที่จะปล่อยให้เป็นอย่างนั้นแน่นอน

และไม่รู้ว่าเป็นเวรเป็นกรรมของเมืองไทยหรืออย่างไรที่ผู้คนมักเชื่อกันอย่างสนิทใจว่า คนจะเป็นรัฐมนตรีคลังที่ดีได้นั้นจะต้องมาจากพวกนายธนาคารเท่านั้น เพราะนับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มพ้นจากระบอบเผด็จการทหารจอมพลถนอม-จอมพลประภาส เราได้อดีตนายธนาคารเข้ามาเป็นรัฐมนตรีคลังมาแล้วมากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะเป็น บุญชู โรจนเสถียร ซาร์เศรษฐกิจแห่งแบงก์กรุงเทพ, อำนวย วีรวรรณ เทคโนแครตที่หลังพ้นพงหนามก็ไปนั่งกินเงินเดือนอยู่ที่แบงก์กรุงเทพ, สมหมาย ฮุนตระกูล อดีตผู้จัดการใหญ่แบงก์ไทยพาณิชย์, ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์, ทนง พิทยะ จากธนาคารทหารไทย, หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ที่เริ่มงานที่กสิกรไทย, กรณ์ จาติกวณิช วาณิชธนกรจากเจพีมอร์แกน, อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เบอร์หนึ่งของกรุงไทย และปรีดี ดาวฉาย เบอร์หนึ่งของกสิกรไทย

แม้รายชื่อทั้งหมดข้างต้นจะผ่านการเป็นนายแบงก์มาเหมือนกันก็ตาม แต่จิตวิญญาณแห่งความรักชาติและประชาชนกลับแตกต่างกันไปในแต่ละคน เห็นจะมีก็แต่ปู่สมหมาย ฮุนตระกูลเท่านั้นที่ยังคงมีความเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ในสายเลือดอย่างเข้มข้น จึงทำให้การทำงานในตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อชาติบ้านเมืองเป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบ และคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ต่างจากอดีตนายธนาคารซึ่งได้ดิบได้ดีมากินเมืองเป็นขุนคลังของประเทศ

ด้วยเหตุนี้ หากนำรายชื่อมาวางเรียงเทียบกัน ชื่อของคุณสมหมาย ฮุนตระกูล จึงโดดเด่นขึ้นมาทันทีท่ามกลางคนเหล่านั้น โดดเด่นเพราะประการหนึ่งเขาทำทุกอย่างเพื่อชาติ ประการหนึ่งเขาทำโดยไม่เห็นแก่สมัครพรรคพวกหรือหน้าอินทร์หน้าพรหมใด ๆ ทั้งสิ้น ประการหนึ่งเขามีความมุ่งมั่นที่จะนำพาบ้านเมืองให้พ้นภัยอย่างเด็ดเดี่ยวที่ทุก ๆ คนที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเขาต้องเดินไปทางเดียวกัน และอีกประการหนึ่งเพราะเขาไม่เคยเสแสร้งว่าตนเองรักชาติ ด้วยประการทั้งปวงนี้ เขาจึงเป็นคนที่ใคร ๆ ต่างก็ให้ความเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำหน้าที่ขุนคลังของประเทศได้โดยไม่บกพร่อง แม้แต่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์เองก็มั่นใจในความจริงข้อนี้ และเมื่อสมหมายต้องอำลาโลกนี้ไปก็มีแต่คนอาลัยเขา แล้วเพราะเหตุใดเล่าที่มีแต่คนเฝ้าคารวะต่อวิญญาณของ “สมหมาย ฮุนตระกูล” และพากันเชิดชูสมหมายว่าเป็นรัฐมนตรีคลังต้นแบบ และเพราะเหตุใดเล่าที่คอลัมนิสต์บางคนบ่นถึงสมหมายว่า “ดวงวิญญาณท่านสมหมายคงไม่เป็นสุขแน่ หากได้รู้ว่ามีเด็กเมื่อวานซืนกำลังเล่นกับเงินกับทองของชาติเหมือนอย่างทุกวันนี้” ทำไมใครต่อใครจึงเทิดทูนปู่สมหมายด้วยใจคารวะ คำถามเหล่านี้จะถูกแจกแจงคำตอบในบทความถัดไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา