ทำไม Facebook ต้องล้างไพ่ News Feed นำข่าวออกทั้งหมด ให้เห็นแต่โพสต์ของเพื่อนเท่านั้น?

ปี 2018 นี้ เราอาจได้เห็น News Feed รูปแบบใหม่ที่มีแต่โพสต์ของเพื่อนเท่านั้น ไม่มีข่าว ไม่มีเพจขึ้นมาอีกต่อไป เพราะต้องย้ายไปอยู่อีกที่หนึ่ง คำถามคือ แล้วทำไม Facebook จะต้องทำเช่นนี้ด้วย?

Photo: Shutterstock

2018 อาจเป็นปีที่ Facebook ปรับให้ News Feed เหลือแต่โพสต์ของเพื่อน

ในช่วงปี 1- 2 ที่ผ่านมานี้ คนทำเพจและคนทำสื่อที่ใช้ Facebook เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารต่างประสบปัญหา engagement ต่ำ และยอด Reach ตก จากการที่ Facebook ปรับอัลกอริธึ่มบนหน้า News Feed ใหม่เพื่อให้เห็นโพสต์จากเพจน้อยลงและเข้าถึงโพสต์ของเพื่อนมากขึ้น

แน่นอนว่านี่คือข่าวร้ายของคนทำเพจบน Facebook แต่ความน่ากลัวยังไม่จบลงแค่นี้ เพราะปี 2018 เป็นปีที่นักวิเคราะห์มองว่า อาจเป็นปีที่ Facebook ตัดสินใจล้างไพ่นำเอาโพสต์จากเพจและสื่อทั้งหมดออกจาก News Feed และให้เหลือการแสดงผลแค่โพสต์ของเพื่อนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่จินตนาการและการคาดเดาล้วนๆ เพราะ Facebook ได้ลองทำ Explore Feed ที่เป็นหน้า Feed สำหรับเพจและข่าวโดยเฉพาะ ขึ้นมาทดลองใช้สักพักแล้ว ผลลัพธ์เป็นอย่างไรยังไม่มีใครทราบ แต่ที่แน่ๆ คนทำเพจและคนทำสื่อออกอาการหนาวๆ ร้อนๆ เพราะถ้า Facebook มองว่าโมเดลนี้เวิร์คจริงๆ อีกไม่นานเราคงได้เห็นการล้างไพ่ News Feed ครั้งใหญ่กันแน่

  • แต่ทีนี้ คำถามสำคัญคือ แล้วทำไม Facebook จะต้องทำเช่นนี้ด้วย?

คำตอบที่ 1 : เพราะ Facebook คือแพลตฟอร์มที่อยู่บนฐานของความแฮปปี้

ความสุขของผู้ใช้งานคือสิ่งสำคัญที่สุดของแพลตฟอร์มอย่าง Facebook หรือ Twitter เพราะถ้าผู้ใช้งานไม่มีความสุข ใครจะอยากอยู่บนแพลตฟอร์มนั้นนานๆ สิ่งนี้เป็นพื้นฐาน การปล่อยให้ News Feed ยังมีข่าวหรือเนื้อหาจากเพจต่างๆ หมายความว่า ผู้ใช้งานมีโอกาสที่จะได้เห็นข้อความถกเถียงและการโต้แย้งบ่อยครั้งบนแพลตฟอร์ม หรือต่อให้ผู้ใช้งานคนนั้นอาจชอบการถกเถียงและโต้แย้ง แต่เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเห็น “โฆษณา” (แหล่งรายได้สำคัญของ Facebook) ที่มากับเพจด้วยแน่ๆ

Andrew Montalenti ซีทีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Parsely บริษัทวิเคราะห์เว็บไซต์ บอกว่า บางครั้งผู้คนก็รู้สึกหงุดหงิดและรำคาญ โดยเฉพาะเวลาที่พวกเขากำลังเพลิดเพลินกับการอ่านโพสต์การเฉลิมฉลองลูกๆ หลานๆ แล้วหลังจากนั้น พอเลื่อนลงมาก็เจอกับข่าวเครียดๆ หนักๆ สิ่งเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จะทำให้ผู้ใช้งานมีความรู้สึกว่า อยากจะเลิกใช้งานไปเสียเลย

คำตอบที่ 2 : ข่าวปลอม (Fake News)

อย่างที่รู้กันว่า ในช่วงปีให้หลังมานี้ปัญหาข่าวปลอมระบาดใน Facebook เป็นปัญหาใหญ่ที่ยังหาทางแก้ไขอย่างรอบด้านไม่ได้ อย่างมากที่สุดคือการตั้งทีม (ทั้งคนและ AI) มามอนิเตอร์ข่าวปลอม แต่หากแยกข่าวออกจากหน้า News Feed ได้ ปัญหานี้ก็จะได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์

คำตอบที่ 3 : เพื่อหารายได้เพิ่ม

ข้อนี้เป็นสิ่งที่นักวิจารณ์หลายคนให้น้ำหนัก เพราะถ้าแยกข่าวและเนื้อหาบนเพจต่างๆ ออกมาจาก News Feed ได้ จะทำให้ Facebook มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการซื้อโฆษณา (ที่มากอยู่แล้ว) ของเพจและสื่อต่างๆ เช่น ต้องซื้อโฆษณาเพิ่มในกรณีที่อยากให้ข่าวหรือเพจไปแสดงผลใน News Feed แต่การทำแบบนี้จะทำให้ Facebook สะดุดขาตัวเอง เพราะถ้ายังซื้อโฆษณากลับไปแสดงผลที่เดิมได้ แล้วจะแยกตั้งแต่แรกเพื่ออะไร?

แต่ถ้า Facebook ยังจะคงโฆษณาไว้ทั้ง 2 แห่ง คือทั้ง News Feed และ Explore Feed นั่นก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ แต่ถึงอย่างไรไม่น่าจะเป็นผลดีกับตัวของ Facebook เอง

คำตอบที่ 4 : เพื่อทดลอง Product ใหม่ๆ

เห็นได้ชัดว่า Facebook กำลังทดลอง Product ตัวนี้ เพียงแต่ว่าในระหว่างการทดลองอาจทำให้คนทำเพจหลายคนรู้สึกหวั่นไปบ้าง แต่ในท้ายที่สุด อาจได้ Product ใหม่แยกออกมา คล้ายๆ กับ Messenger ที่ตอนนี้ก็แยกออกมาจากตัว Facebook หลักสักพักแล้ว

  • ข้อสังเกตคือ หากแยกข่าว แยกเพจ ออกจาก News Feed จริงแบบ 100% ก็น่าติดตามว่าจะเป็นอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ติดนิสัยเช็คข่าวประจำวันผ่าน News Feed ของ Facebook ไปแล้ว

สรุป

Facebook อาจนำเพจและข่าวทั้งหมดออกจากหน้า News Feed ด้วยเหตุผล 4 ประการคือ เชื่อว่าทำให้ผู้ใช้งานมีความสุขมากขึ้นจากการที่ไม่ต้องเจอข่าวแบบฮาร์ดนิวส์และโฆษณาทุกวันโดยไม่ตั้งใจ นอกจากนั้นยังช่วยแก้ปัญหาข่าวปลอมที่เผชิญอยู่ได้ รวมถึงอาจเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ หรือไม่แน่ว่า Facebook อาจจะกำลังทดลอง Product ตัวใหม่อยู่ ทุกคำตอบมีความเป็นไปได้ และจนถึงขณะนี้ Facebook ยังไม่ให้คำตอบที่ชัดเจน แต่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดว่า อาจจะมีการแยกขาดกันเลยในปี 2018 นี้

แต่ถึงอย่างไร สำหรับเรื่องราวทั้งหมด ถึงที่สุด ได้สอนคนทำเพจ คนทำสื่อ และคนทำธุรกิจให้รู้อย่างหนึ่งว่า จะพึ่งจมูกของใครหายใจตลอดไปคงไม่ได้ การประเมินความเสี่ยงและหาที่ทางของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ

อ้างอิงข้อมูล – Digiday

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา