หลังการปรับล้าง News Feed ครั้งใหญ่เมื่อต้นปี สิ่งหนึ่งที่ Facebook จะรุกหนักต่อจากนี้คือ Watch แพลตฟอร์มวิดีโอ คู่แข่งของ YouTube โดยตรง ปีนี้เตรียมจับตาดูกันให้ดี เพราะ Facebook พร้อมงัดทุกกระบวนท่ามาสู้
กระบวนท่าของ Facebook เพื่อต่อกรกับ YouTube ยักษ์ใหญ่ผู้มาก่อน
หนึ่งในสิ่งที่ Facebook เรียกว่าเป็นอนาคต คือแพลตฟอร์มวิดีโอ
Mark Zuckerberg ย้ำไว้หลายครั้ง และเคยพูดไว้ในปี 2016 ว่า “คอนเทนต์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว คือตัวหนังสือ ต่อมาเป็นรูปภาพ แต่นับจากวันนี้คือวิดีโอ คอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่ผู้คนจะเสพกันหลังจากนี้คือวิดีโอ”
หลังจากนั้น 1 ปีให้หลัง Facebook เปิดตัว Watch แพลตฟอร์มรวมวิดีโอในเดือนสิงหาคม ปี 2017 โดยสามารถใช้งานทั้งบนเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น และทีวี (ในสหรัฐอเมริกา) ส่วนรูปแบบการใช้งานจะแยกออกมาจากแท็บของ News Feed เพราะต้องการเป็นช่องที่มีแต่คอนเทนต์วิดีโอเท่านั้น ชัดเจนว่าการส่ง Watch คือก้าวสำคัญที่ Facebook เปิดหน้าสู้เป็นคู่แข่งกับ YouTube โดยตรง
เมื่อส่งอาวุธหนักอย่าง Watch ออกมาแล้ว Facebook ก็เริ่มปล่อยกระบวนท่าเพื่อสู้กับ YouTube แต่ในช่วงแรกๆ ที่ยังอยู่ขั้นของการปรับตัว Facebook ยังคงใช้กลยุทธ์เดียวกันกับการ Live คือจ่ายเงินจ้างให้ผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่เข้ามาช่วยกันทำคอนเทนต์เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้ผู้คนเข้ามาใช้งาน
Insight : ตัวอย่างเช่นในปี 2016 Facebook จ่ายเงินจ้างสื่อในไทย 2 รายเพื่อทำ Live วิดีโอคือ ข่าวสด-เพจสำนักข่าวที่มียอดติดตามหลักสิบล้าน และเพจของพิธีกรชื่อดัง วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา และเท่าที่มีข้อมูล Facebook กำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินไว้ว่า ทุกคลิปวิดีโอที่ทำการ Live ต้องเกิน 10 นาที ไม่สนว่าเป็นเนื้อหาประเภทไหน Facebook จะจ่ายเงินให้ประมาณ 3,000 บาทต่อคลิป และจำกัดการจ่ายเงินไว้ที่ 15 คลิปต่อ 1 วัน หมายความว่าจะ Live มากกว่านั้นต่อวันก็ได้ แต่ Facebook จะไม่จ่ายเงินให้แล้ว
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ปลายปี 2017 Facebook ปรับกระบวนท่าใหม่ ประกาศยกเลิกการจ่ายเงินให้สำนักข่าว สื่อ เพจ และแบรนด์ต่างๆ ทั่วโลก และให้หันมาใช้โมเดลการโฆษณาแทน โดยรูปแบบการโฆษณาบนวิดีโอจะมีทั้งแทรกกลางวิดีโอและปรากฏในตอนต้นของวิดีโอ พร้อมทั้งปรับอัลกอริธึ่มให้แสดงวิดีโอสูงขึ้น เพื่อกระตุ้นให้คนเข้าไปใช้งาน Watch กันมากขึ้น
โมเดล Watch ของ Facebook เข้าใกล้ความเป็น YouTube เข้าไปทุกที
เข้าสู่ปี 2018 พายุใหญ่ที่ Facebook ส่งมาคือการปรับอัลกอริธึ่มครั้งใหญ่บนหน้า News Feed ทำเอาสื่อสำนักข่าว คนทำเพจ และแบรนด์ต่างๆ ที่ฝากชีวิตไว้ ถึงกับผวาไปตามๆ กัน
Digiday เคยวิเคราะห์ไว้ว่า ท่ามกลางการล้างไพ่ News Feed ครั้งใหญ่นั้น หนึ่งในผู้ชนะครั้งนี้ คือ Facebook Watch เนื่องจากแพลตมฟอร์มวิดีโอคืออนาคตที่ Facebook มองไว้ และอีกอย่างคือ Watch สอดคล้องกับสิ่งที่ Facebook ต้องการ คือเน้นคอนเทนต์ไปที่ผู้ใช้งานมากขึ้น ทั้งเรื่องราวความบันเทิง ไลฟ์สไตล์ ดาราคนดัง และรวมถึงเหล่าเซเล็บบริตี้ทั้งหลาย
- ที่น่าสนใจคือ ไม่นานมานี้ มี Agency สื่อถึง 3 ราย (ไม่เปิดเผยตัวตน) ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ตอนนี้ Facebook เข้ามาคุยเรื่องการทำแพลตฟอร์มวิดีโอ Watch ให้มีคนเข้ามาใช้งานกันเยอะๆ โดยจะเน้นไปที่บรรดา Creator (ผู้ผลิตคอนเทนต์) ให้กระโดดเข้ามาร่วมสร้างเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม
แรงจูงใจที่ Facebook ใช้คือ จะชักชวนให้ Creator เข้ามาสร้างคอนเทนต์ฟรี และจะได้รับเงินส่วนแบ่งจากค่าโฆษณา (ยังไม่เปิดเผยว่าเท่าไหร่) ฟังดูคุ้นๆ แต่ไม่ต้องเดา เพราะสรุปได้เลยว่าเป็นโมเดลเดียวกันกับ YouTube
แต่ไม่จบแค่นั้น เพราะ Facebook เดิมเกมรุกหนักขึ้น หันไปใช้กระบวนท่าเก่าคือ “ใช้เงินจ้าง” รอบนี้ไปจ้างทั้ง Creator สื่อสำนักข่าว และบริษัทโปรดักชั่นให้ผลิตคอนเทนต์มาลงใน Watch โดยมีการเปิดเผยว่า ค่าว่าจ้างในการผลิตต่อ 1 ตอนนั้น มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 3 แสนบาท ไล่ไปจนถึง 15 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับความยาวและความเอ็กซ์คลูซีฟของคลิปวิดีโอนั้นๆ
ส่วนที่ Facebook ต้องลงแรงงัดกระบวนท่าออกมาขนาดนี้ คงจะเป็นอย่างที่แหล่งข่าวอีกคนหนึ่ง (ซึ่งไม่เปิดเผยตัวตน) ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ในท้ายที่สุดแล้ว Watch ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการทำโฆษณาระยะยาวของ Facebook นั่นเอง
ผู้มาก่อน VS ผู้มาใหม่ บาดแผลที่ตื้นเกินกว่าจะมองเห็น
การเข้ามาแย่งชิงพื้นที่แข่งขันบนแพลตฟอร์มวิดีโอของ Watch ดูจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเหล่า Creator ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ให้มาลงเล่นในสนามนี้
เพราะนับวัน YouTube ยิ่งจะเริ่มออกกฎที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้เหล่าบรรดา Creator ทำงานยากขึ้น อย่างล่าสุดคือ การกำหนดกฎใหม่ในการทำเงินผ่านโฆษณา โดยระบุว่า ช่องของ Creator ต้องมียอดคนดูเกิน 4,000 คนในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา และมีผู้ติดตามเกิน 1,000 ราย แม้จะดูใจร้าย แต่สิ่งที่ YouTube ทำไป ก็เพราะต้องการกอบกู้ศรัทธาของแบรนด์จากผู้ใช้งานกลับคืนมา
ผู้มาก่อนอย่าง YouTube ย่อมมีบาดแผล ในขณะที่ผู้มาใหม่อย่าง Watch ยังดูขาวสะอาด ไร้บาดแผล การรุกหนักจึงทำได้เต็มกำลังมากกว่า ไม่ว่าจะทั้งจ้างคนมาผลิตคอนเทนต์ หรือเปิดพื้นที่ให้กว้างที่สุดเพื่อรองรับ Creator หน้าใหม่ๆ จากทุกสารทิศ ให้เข้ามาทำเงิน
Mashable เรียบเรียงไว้น่าสนใจว่า ทำไม Facebook ถึงจะฆ่า YouTube ได้ โดยประเด็นหลัก 3 ข้อ มีดังนี้
- การใช้งานบน Facebook สูงกว่า YouTube อย่างเช่นในปี 2016 มีผู้ใช้งาน Facebook ในสหรัฐอเมริกาต่อวันเฉลี่ย 35 นาที ส่วนบน YouTube 17 นาที
- จำนวนผู้ใช้งาน (users) บน Facebook มีมากกว่า YouTube ที่ 2 พันล้านคน ส่วน YouTube มีอยู่ 1.5 พันล้านคน
- จำนวนยอดการแชร์วิดีโอบน Facebook สูงกว่า YouTube ถึง 10 เท่า
ส่วนอีกหนึ่งประการคือ การแบ่งเงินให้กับ Creator ของ Facebook ที่ใช้มาตรการเดียวกันกับ YouTube คือแบ่งรายได้ 55% จากโฆษณาให้เป็นของ Creator
รับรองว่าแนวทางของ Facebook Watch จะรุกหนักมากกว่านี้อีกในปี 2018 แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืม คือเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไปเมื่อต้นปี คือการที่ Facebook เพิ่งสูญเสียความน่าเชื่อถือจากเหล่านักปั้นคอนเทนต์ และคนทำเพจไปครั้งใหญ่จากการประกาศล้างไพ่ News Feed ครั้งล่าสุด
จริงอยู่ที่ Watch อาจดูขาวสะอาด ไร้บาดแผล แต่ต้องไม่ลืมว่ายานแม่เพิ่งทิ้งระเบิดลงไปหมาดๆ สูตรสำเร็จของ Facebook ชนิดที่เรียกว่า “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” อาจเรียกได้ว่าเป็นบาดแผลชนิดหนึ่ง ที่ไม่รู้ว่าคนทำคอนเทนต์จะเจ็บแล้วจำหรือไม่
- แต่ถึงที่สุดแล้ว ด้วยความเป็นยักษ์ใหญ่ของ Facebook นี่อาจเป็นข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะสุดท้ายก็ต้องลงเล่น ด้วยว่าไร้ทางเลือกที่ดีกว่า
สิ่งที่น่าติดตามต่อจากนี้ไปในสงครามวิดีโอ คือจับตาดูว่า Facebook จะงัดกระบวนท่าอะไรออกมารบกับ YouTube (ซึ่งเจ้าของก็คือ Google) ที่เป็นเจ้าผู้ครองแพลตฟอร์มวิดีโอมายาวนานร่วมทศวรรษ
อ้างอิงข้อมูล – CNBC, QUARTZ, Digiday, Washinton Post, Fast Company, Mashable
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา