Facebook-Netflix-Google บริษัทข้ามชาติหลีกเลี่ยงภาษีอย่างไร ทำไมรัฐไทยเก็บเงินไม่ได้ | BI Opinion

ว่าด้วยเรื่อง “ภาษี” เก็บรายบุคคลง่ายกว่าเก็บจากบริษัทไหม?

เริ่มจากมุมใกล้ๆ ตัวเมื่อเรามีเงิน มีรายได้ มีทรัพย์สินจากประเทศไหนต้องเสียภาษีให้ภาครัฐประเทศนั้น เช่น ภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน ภาษีกองทุนรวม และอีกสารพัด ในส่วนของไทยกระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายปีงบประมาณ 2563 เฉพาะกรมสรรพกรซึ่งเป็นรายได้หลักของภาครัฐต้องเก็บเงินให้ได้ 2.11 ล้านล้านบาท

แน่นอนว่ากรมสรรพากรนี่ละเป็นแหล่งรายได้ 70% ของภาครัฐ โดยภาษีที่สรรพากรเก็บได้ประมาณ 40% มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รองลงมาคือภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาจเห็นว่ารายได้ส่วนใหญ่มาจากประชาชนทั่วไป (VAT+ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา)

ดังนั้นปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการเก็บภาษีนิติบุคคลราว 20% จากรายได้ของรัฐบาลทั้งหมด ยิ่งตอนนี้โลกเป็น Globalization (หรือโลกาภิวัฒน์ที่เรียนเมื่อตอนประถม) เป็นยุคดิจิทัล ยิ่งทำให้บริษัทขนาดใหญ่ข้ามมาให้บริการและขายสินค้าในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องเข้ามาตั้งสำนักงานด้วยซ้ำ ชื่อที่เราคุ้นเคย เช่น Facebook, Google, Netflix, Spotify, Alibaba ฯลฯ ในประเทศไทยก็มีบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นบริษัทข้ามชาติ (Multinational enterprises: MNEs) หลักพันบริษัท เช่น ปตท. (PTT) เครือ CP ฯลฯ

ขนาดภาษีบุคคลธรรมดาเรายังหาวิธีลดหย่อนทุกทาง แล้วบริษัทเอกชนขนาดใหญ่จะไม่หาทางหลีกเลี่ยงภาษีได้อย่างไร?

ที่มา shutterstock

ปัญหาระดับโลก! บริษัทข้ามชาติเลี่ยงภาษีอย่างไร Tax Haven คืออะไร?

ขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทข้ามชาติต้องมีบริษัทลูกหรือเครือข่ายในหลายประเทศ ดังนั้นต้องวางแผนการส่งรายได้ กำไร และวางแผนภาษีให้คุ้มที่สุด หนึ่งในวิธีการหลีกเลี่ยงภาษี คือ การโยกย้ายกำไรระหว่างบริษัทในเครือ ได้แก่
1) การกำหนดราคาการซื้อขายสินค้าระหว่างบริษัทในเครือ (transfer pricing) เช่น ประเทศไหนภาษีต่ำ บริษัทจะถ่ายเทกำไรไปที่ประเทศนั้น หากประเทศไทยมีฐานภาษีสูงทำให้บริษัทต่างชาติเลือกจะโยกย้ายกำไรไปประเทศอื่น
2) การกำหนดให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทพึ่งพาหนี้ในอัตราที่สูงกว่าความจำเป็น (thin capitalization) เช่น ตั้งสัดส่วนหนี้ให้สูง เมื่อรายจ่ายดอกเบี้ยเยอะสามารถนำไปหักกำไรลงได้และจ่ายภาษีได้น้อยลง 

ปัจจุบันประเทศไทยแม้ว่าจะลดอัตราภาษีต่างชาติมาอยู่ที่ 20% ใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ แต่บริษัทข้ามชาติยังมองหา Tax Haven (ประเทศฐานภาษีต่ำ) อยู่เสมอ เช่น ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ ฯลฯ 

โดยข้อมูลจาก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ บอกว่า บริษัทข้ามชาติใน ASEAN5 (ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม) มีการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีอย่างมีนัยสำคัญ หากภาครัฐลดอัตราภาษีต่างชาติลง 10% (Percentage point) จะส่งผลให้บริษัทข้ามชาติลดการรายงานกำไรในประเทศแหล่งเงินทุน (ประเทศที่ภาษีสูงกว่า) ถึง 10.3% โดยเฉลี่ย

อย่างไรก็ตามบริษัทข้ามชาติในยุคดิจิทัลไม่ต้องเข้ามาตั้งสำนักงานในต่างประเทศเพื่อโยกย้ายกำไรแล้ว อย่างบริษัท Technology เช่น Facebook Google ฯลฯ เข้ามาให้บริการคนไทยทั่วประเทศโดยไม่ต้องเข้ามาลงทุนในประเทศ หรือบันทึกรายได้ผ่านไทยด้วยซ้ำ

และนี่ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดกับประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งฝรั่งเศสมองการเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติจากรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศอของเขา รวมไปถึงทางสรรพากรของญี่ปุ่น ตรวจสอบว่า Facebook แจ้งรายได้ต่ำกว่าความจริง 500 ล้านเยน ซึ่งวิธีการของ Facebook คือบันทึกรายได้โฆษณาไปที่สำนักงานในไอร์แลนด์ซึ่งมีอัตราภาษีต่ำกว่าญี่ปุ่น และให้บริษัทในไอร์แลนด์จ่ายเงินค่าดำเนินการโฆษณาให้สำนักงาน Facebook ของญี่ปุ่นซึ่งจ่ายให้สูงกว่าต้นทุนเล็กน้อยทำให้กำไรในญี่ปุ่นไม่มากนัก

สำนักงานของ facebook ในไอส์แลนด์และเป็นสำนักงานใหญ่ของยุโรป
ที่มา shutterstock

จุดอ่อนประเทศไทย ทำไมเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติได้ไม่สูง?

ปัจจุบันต้องยอมรับว่าภาษีที่ภาครัฐเก็บได้จะมาจากบริษัทที่มีสถานประกอบการถาวรในไทย สวนทางกับการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน ที่บริษัทข้ามชาติในโลกไม่จำเป็นต้องตั้งสำนักงานในทุกประเทศก็ขายสินค้าและบริการในประเทศอื่นได้ทั่วโลก อย่าง Facebook รายได้โฆษณาในไทยจ่ายตรงให้กับ Facebook ในสิงคโปร์ ทำให้รัฐบาลไทยยังไม่สามารถเก็บภาษีได้

รวมถึงกรณี Netflix คนไทยที่ใช้บริการอยู่หากดูที่ท้ายใบเสร็จจะออกในชื่อ Netflix เนเธอร์แลนด์ ไม่เสียภาษีให้ไทยแม้การใช้บริการ หรือการบริโภคเกิดขึ้นในประเทศไทย ตัวอย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เปิดบริการมาใช้ในประเทศไทย ทั้งรายได้และผู้ใช้งาน เช่น

  • Facebook มีผู้ใช้งานในประเทศไทยทั้งหมด 53 ล้านคน ขณะที่ผู้ใช้งานทั่วโลกอยู่ที่ 2,300 ล้านบัญชี
    ทั้งนี้รายได้ของปี 2018 อยู่ที่ 55,838 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท)
  • Netflix ไม่มีตัวเลขผู้ใช้งานคนไทย จากบริษัทวิจัย Statista คาดว่าปี 2563 ไทยจะมีสมาชิกราว 546,000 ราย มีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 148 ล้านราย ทั้งนี้รายได้สุทธิปี 2018 อยู่ที่ 1,210 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 37,510 ล้านบาท)
  • Spotify มีผู้ใช้งานทั่วโลกซึ่งใช้ประจำทุกเดือนอยู่ที่ 191 ล้านคน (ณ ไตรมาส 3/2018)
    ทั้งนี้รายได้ปี 2018 อยู่ที่ 5,259 ล้านเหรียญสหรัฐ​  (ประมาณ 163,029 ล้านบาท) จากการให้บริการ 78 ประเทศ
ที่มา shutterstock

มาดูกันต่อว่ารัฐบาลไทยจะหาทางออกอย่างไร ?

ประเทศไทยพยายามทำหลายด้านเพื่อเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติทุกกลุ่ม ทั้งการผลักดันให้จดทะเบียนเป็นบริษัทที่ให้บริการในประเทศไทยเพื่อคิดภาษีจากผู้ให้บริการ ถือเป็นวิธีการที่ใช้สังคมกดดันบริษัทข้ามชาติมากขึ้น เพราะในต่างประเทศพบว่าวิธีนี้ทำให้บริษัทข้ามชาติเลือกที่จะจ่ายภาษีเพื่อไม่ให้ตนถูกสังคมประนาม

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่ากำไรของบริษัทข้ามชาติหลายแห่งเกิดจากการบริโภคภายในประเทศไทย ดังนั้นภาครัฐทั่วโลกเริ่มหันมาดูเรื่องการใช้ข้อมูลดิจิทัล และ digital service tax (ภาษีบริการดิจิทัล) ที่เกิดขึ้น เช่น คนไทยใช้บริการ Facebook Google ฯลฯ ทางบริษัทมีการใช้ข้อมูลของ User ในไทยอยู่แล้ว ดังนั้นการคิดภาษีบริษัทเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเก็บจากกำไรเท่านั้น แต่หันมาเก็บจากการใช้ข้อมูล (คล้ายกับกรณีฝรั่งเศส)

ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการพิจารณา E-business Tax ส่วนหนึ่งเพื่อการจัดเก็บ VAT โดยกฎหมายตัวใหม่จะเปลี่ยนจากระบบเต็มใจคือ คนไทยที่ใช้บริการบริษัทข้ามชาติ เช่น นำบิล Netflix เดินมาที่สรรพากรเพื่อจ่ายเงินเอง

ตัวอย่างใบเสร็จชำระเงินของ Spotify ที่ต้องเปิดเข้าไปดูผ่านเว็บไซต์

อย่างไรก็ตามเรื่องพื้นฐานที่ไทยต้องทำคือ 1) การออกนโยบายด้าน Capitalization คือป้องกันการทำหนี้ให้สูงเพื่อให้กำไรต่ำลง ในต่างประเทศมีทั้งการกำหนดสัดส่วนหนี้ต่อทุน หรือดอกเบี้ยต้องไม่เกินที่กำหนดไว้ 2) การบังคับใช้ได้จริง โดยเฉพาะเรื่องการส่งออกสารตามข้อกำหนดต่างๆ ให้ละเอียดยื่งขึ้น เพราะไทยมีการออกนโยบายมาควบคุมแต่การบังคับใช้จริงยังต้องรอดูหน้างานเสมอ

คงต้องรอดูว่ารัฐไทยจะออกกฎมาแล้วใช้ได้จริงแค่ไหน ?

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง