ในเมื่อจ่ายภาษีอยู่ทุกวัน มารู้จักกันหน่อยว่า “สรรพากร-สรรพสามิต-ศุลกากร” ต่างกันอย่างไร?

เมื่อหน้าที่ของคนไทยคือการเสียภาษีให้ภาครัฐ มาดูกันว่าหน่วยงานไหนเก็บภาษีด้านอะไรบ้าง

ภาพจาก Shutterstock

เรื่องเงินชาติไทย เรื่องของกระทรวงการคลัง

ไม่ว่ารัฐบาลจะเบิกงบประมาณชาติ (กรมบัญชีกลาง) ผลิตเหรียญออกมาใช้ (กรมธนารักษ์) เก็บภาษีประชาชน (กรมสรรพากร) ฯลฯ รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับเงินของชาติมักต้องอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงการคลังทั้งนั้น เพราะกระทรวงการคลังมีอำนาจและหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการเงินการคลังของแผ่นดิน เช่น การเก็บภาษีอากร กิจการหารายได้ที่รัฐมีอำนาจ การบริหารพัสดุของภาครัฐ และทรัพย์สินของแผ่นดิน ฯลฯ

ดังนั้นภาษีคนไทยถือเป็นรายได้หลักของประเทศ โดยกระทรวงการคลังจะมอบหมายให้กรมสรรพากรต้องเก็บภาษีอากรประมาณ 60% ของรายได้ทั้งประเทศ (ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นทุกปี) อย่างไรก็ตามภายใต้กระทรวงการคลังแบ่งหน่วยงานที่จัดเก็บภาษีเป็น 3 ส่วนได้แก่

  1. กรมสรรพสามิต รับผิดชอบในการเก็บภาษีสินค้าบางประเภทที่ผลิตในประเทศไทย รวมถึงเก็บภาษีสินค้าบางอย่างที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ภาษีสุรา ภาษียาสูบ ภาษีสถานบริการ ฯลฯ และมีมาตรการปราบปรามคนที่ทำผิดกฎด้วย
  2. กรมศุลกากร    รับผิดชอบเก็บภาษีศุลกากร จากการค้าระหว่างประเทศ เช่น ภาษีอากรขาเข้า-ขาออก ซึ่งหน่วยงานนี้สามารถเก็บภาษีแทนกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกระทรวงมหาดไทย รวมถึงมีมาตรการป้องกัน ปราบปรามไม่ให้คนลักลอบหนีภาษี
  3. กรมสรรพากร   รับผิดชอบการเก็บภาษีตามประมวลรัษฏากรและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงเกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไป แบ่งเป็นภาษีทางตรง ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และเก็บภาษีทางอ้อม ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีปิโตรเลียม และอากรแสตมป์

ทั้งนี้กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานที่สร้างรายได้ภาษีหลัก จึงมีอำนาจในการกำกับ ตรวจสอบ ติดตามและเร่ง (ให้คนจ่าย) ภาษีอากรค้าง รวมถึงมีอำนาจในการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายและระบบการจัดเก็บภาษี ไปจนถึงการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการออม การลงทุน ช่วยให้แข่งขันกับต่างประเทศ และใช้ภาษีเพื่อกระจายรายได้ ที่สำคัญต้องสร้างให้คนไทยสมัครใจในการเสียภาษี

ปี 2562 สรรพากรตั้งเป้าเก็บภาษี 2 ล้านล้านบาท

ปีงบประมาณ 2562 (เริ่มเดือนต.ค. 2561-ก.ย.2562) ภาครัฐตั้งเป้าหมายให้กรมสรรพากรต้องจัดเก็บภาษี 2,000,000 ล้านบาท ภายใต้การส่งออกไทยโต 8% GDP โต 4% (ปีงบประมาณ 2561 ยอดเก็บภาษีจริงอยู่ที่ 1,915,456 ล้านบาท)

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร บอกว่า ปีงบประมาณ 2562 คาดว่าจะเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย โดยครึ่งปีแรกงบประมาณปีนี้ (ณ มี.ค. 2562) เก็บภาษีได้แล้ว 823,000 ล้านบาท ถือว่าเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้

ทั้งนี้เฉพาะเดือนมี.ค. 2562 กรมสรรพากรเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ สาเหตุที่เก็บภาษีได้น้อยลงมาจากผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง และนักลงทุนชะลอการลงทุน

ที่ผ่านมากรมสรรพากร รายได้ภาษีจะมาจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ประมาณ 40% รองลงมาคือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax)

สรุป

เรียกว่ากรมสรรพากรมีหน้าที่หารายได้ภาษีเข้าภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย ประชาชนทั่วไปที่มีรายได้ ทำธุรกิจ หรือซื้อของในชีวิตประจำวันก็เสียภาษีให้สรรพากรทั้งนั้น

ที่มา BU, Postoday, กรมสรรพากร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง