หรือฟองสบู่ “รถยนต์ไฟฟ้า” ในจีนจะแตก? หลังรัฐลดการสนับสนุน-ยอดขายรวมยังแค่ 4% ของตลาด

แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นอนาคตของค่ายผู้ผลิตรถยนต์ แต่ปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีนที่ขับเคลื่อนด้วย “เงิน” จากกลุ่มทุนชั้นนำให้กับ Startup ไปพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าหลายร้อยแบรนด์ สุดท้ายแล้วมันอาจเกิดภาวะฟองสบู่แตกก็ได้

BYD
รถยนต์ไฟฟ้า BYD ที่จำหน่ายในจีน

เร่งเครื่องจนมากเกินความต้องการของตลาด

ตอนนี้ภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีนนั้นคึกคักเป็นอย่างมาก เพราะมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนถึง 486 รายในจีน เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อน แถมเมื่อรวมตัวเลขยอดขายคาดการณ์ของผู้ผลิดกลุ่มนี้ก็มีถึง 1.6 ล้านคันในปีนี้ และมีบางรายเข้าไปทำตลาดในระดับโลกด้วย

ขึ้นมาขนาดนี้อาจเรียกว่าแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในจีนน่าจะเติบโตได้อีกไกล แต่มันอาจไม่เป็นอย่างนั้น เพราะตัวเลขยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีน (แบบ Battery, Plug-in Hybrid, Hybrid และ Fuel-Cell) ยังคิดเป็นแค่ 4% ของตลาดรวมรถยนต์ในประเทศจีนที่จำหน่ายกว่า 23.7 ล้านคันในปี 2561

NIO
NIO รถยนต์ไฟฟ้าจากจีน รุ่น ES8

ยิ่งมารวมกับการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ของรัฐบาลจีน เช่นบางคันผู้ซื้อได้ลดราคากว่า 7,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.38 แสนบาท) มันก็ไม่แปลกที่จะเกิดผู้เล่นหน้าใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่ม Startup ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Alibaba, Foxconn และ China Evergrande Group ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์

กำลังการผลิต 3.9 ล้านคัน/ปี ที่ทำกำไรได้ลำบาก

ในตลาดโลกนั้นมี Startup สายรถยนต์ไฟฟ้าระดมทุนได้รวมกันกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 57,000 ล้านบาท) นับตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งกลุ่มที่ได้เงินทุนเยอะๆ ล้วนเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนทั้งสิ้น นอกจากนี้ตัวเงินดังกล่าวยังถูกใช้เพื่อสร้างแบรนด์ และพัฒนานวัตกรรม ไม่ค่อยได้ใช้กับการยกระดับการผลิตมากนัก

รถยนต์ไฟฟ้า
รถยนต์ไฟฟ้ารุ่น iS6 ของ Singulato

ดังนั้นเมื่อนำปัจจัยต่างๆ มารวมกับเป้าหมายของผู้นำจีนที่ต้องการให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมีถึง 7 ล้านคันภายในปี 2568 หรือ 20% ของตลาดรวม มันก็ยากที่เหล่า Startup นั้นจะอยู่รอด เพราะพวกเขาต้องเพิ่มกำลังการผลิตอย่างมาก แต่ตัวความต้องการจริงๆ ในตลาดมันไม่ได้มากขนาดนั้น

ประกอบกับรัฐบาลจีนก็มีแผนลดการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าลงเกือบครึ่งหนึ่ง เรียกว่าถ้าแบรนด์ Startup รถยนต์ไฟฟ้าในจีนอยู่ยากแน่ๆ และมีความเป็นไปได้ที่บริษัทกว่า 400 ราย จะเหลือเพียงไม่กี่สิบรายเท่านั้น เพราะพวกเขาล้วนอยู่กันไม่ได้ ผ่านกำไรที่ไม่เกิดขึ้นจริง

Tesla
โชวรูม Tesla

กลุ่มแบรนด์ดั้งเดิมต่างพยายามดีดตัวให้ไกล

ทั้งนี้ภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศจีนนั้นลดลงมา 10 เดือนต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมี.ค. เนื่องจากเศรษฐกิจโตช้า และสถานการณ์โลกที่ตึงเครียด จนผู้บริโภคไม่อยากซื้อรถใหม่ จึงไม่แปลกที่แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าดั้งเดิมเช่น BYD กับ Tesla และแบรนด์เก่าแก่ในตลาดนี้เช่น Toyota, Volkswagen และ BMW ก็พยายามเข้ามารุกตลาดนี้กันมากขึ้น

โดยเฉพาะกับ Tesla ที่เตรียมตั้งโรงงานในประเทศจีน ส่วนแบรนด์อื่นๆ ก็เริ่มหาพาร์ทเนอร์ในการช่วยผลิต ทำให้แบรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาล้วนเสี่ยงต่อการล่มสลายหายไปจากตลาดนี้ เพราะไม่สามารถทัดทานกับกำลังผลิตมหาศาล กับความน่าเชื่อถือของแบรนด์เหล่านี้ได้

BMW
รถยนต์ไฟฟ้าของ BMW

สำหรับเหตุผลที่รัฐบาลจีนพยายามขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้าเต็มที่จนเกิดรถยนต์ไฟฟ้าบูมในจีนขึ้นมาก็เพราะต้องการแก้ไขเรื่องมลพิษทางอากาศ และลดการนำเข้าน้ำมัน รวมถึงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมล้ำๆ

สรุป

เมื่อเกิดการลงทุนมากๆ แล้วไม่มีอะไรกลับคืน เงินที่ลงทุนไปมันก็จะหายไปแน่ๆ และนักลงทุนเหล่านั้นก็คงไม่ลงทุนต่อ ดังนั้นมันก็มีโอกาสที่ฟองสบู่รถยนต์ไฟฟ้าในจีนจะแตกได้ แต่เชื่อว่ามันคงไม่แตกง่ายๆ เพราะเหล่า Startup จากจีนคงไม่ยอม และพยายามเร่งเครื่องให้รถยนต์ไฟฟ้ามันติดตลาดให้ได้เร็วที่สุด

อ้างอิง // Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา