เมื่อทั่วโลกหันมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า จนตอนนี้มีรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถใช้ถนนได้จริง ราคาหลักล้านบาทก็เริ่มมีให้เห็น และอุตสาหกรรมนี้มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ แต่จะทำให้ธุรกิจพลังงานและรถยนต์น้ำมันซบเซาหรือไม่?
-
ไทยอยู่ตรงไหน? เมื่อยุโรป-จีน แห่กันลงทุนผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าหลักแสนล้านบาท
-
เปิด 3 เหตุผลที่คน(ยัง)ไม่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า: ชาร์จแล้ววิ่งไม่ไกล-ราคาแพงไป-สถานีชาร์จไฟน้อย
-
[วิเคราะห์] ธนาคารแห่ปล่อยสินเชื่อเจาะตลาดรถยนต์ไฟฟ้า-มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
รถยนต์ไฟฟ้าจะถูกลง ทำให้โตไวขึ้นคาดปี 2040 อาจมี 150-550 ล้านคันทั่วโลก
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) บอกว่า ปัจจุบันมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าราว 5 ล้านคันทั่วโลกมีสัดส่วน 0.4% จากรถยนต์ทั่วโลก โดยสิ้นปี 2018 มีอยู่ 2 ล้านคัน ซึ่งประเทศที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดคือ จีนครองสัดส่วน 55% รองลงมาสหรัฐฯ มีสัดส่วน 18% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก
ทั้งนี้สาเหตุที่รถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตอย่างรวดเร็วเพราะ ราคามีแนวโน้มถูกลงจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1) ราคาแบตเตอรี่ที่ถูกลง 2) รถยนต์ไฟฟ้ามีสมรรถนะแข่งขันกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง (รถยนต์สันดาปภายในหรือ ICE) 3) นโยบายส่งเสริมของภาครัฐ 4) กระแสรักษ์โลกที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และ 5) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องมีมากขึ้น เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้าและระยะเวลาในการชาร์จไฟ
นอกจากนี้มีหลายประเทศหันมาออกนโยบายทยอยลดการขับขี่รถยนต์น้ำมัน เช่น ฝรั่งเศส ไต้หวัน แคนาดา วางแผนยกเลิกการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันภายในปี 2040 ทำให้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันจะชะลอตัว ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มครองตลาดมากขึ้น จนหลายหน่วยงานคาดว่าจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโต 17-26% ต่อปี และปี 2040 คาดว่าจมีรถยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งโลกราว 150-550 ล้านคัน คิดสัดส่วนเป็น 31%-55% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด
ในไทยมีรถยนต์ไฟฟ้าเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลประมาณ 120,000 คัน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.2% ของจำนวนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนธุรกิจในหลายด้าน ทั้งยกเว้นภาษีเงินได้ สนับสนุนการลงทุน ฯลฯ ทำให้ปี 2036 คาดว่ามีรถยนต์ไฟฟ้าราว 1.2 ล้านคัน มีมีสถานีชาร์จไฟฟ้า 690 สถานีทั่วประเทศ
รถยนต์ไฟฟ้ามาแรงฉุด Demand น้ำมันลด ภาคธุรกิจเร่งปรับตัว
หลังจากนี้เทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะมากขึ้น ขณะเดียวกันรถยนต์ที่ใช้น้ำมันออกโมเดลใหม่ที่ประหยัดพลังงานและใช้พลังงานน้อยลง ดังนั้นความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของโลกลดลง โดย Wood Mackenzie คาดว่าในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะขยายตัวในอัตราที่ช้าลง โดยความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจะถึงจุดสูงสุดราวปี 2035 แล้วจะค่อยๆ ลดลงในที่สุด
ปัจจุบันเลยเห็นภาคธุรกิจ บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ ปรับกลยุทธ์มาลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น พลังงานทดแทน (แสงอาทิตย์ ลม),พลังงานสะอาด, แบตเตอรี่, การจัดเก็บพลังงาน energy storage), สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยส่วนใหญ่จะร่วมกับ startup เช่น บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง BP และ Shell ที่ลงทุนใน startup ทำธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ
ส่วน Chevron ที่ลงทุนใน startup พัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่และการจัดเก็บพลังงาน โดยธุรกิจน้ำมันขนาดใหญ่สร้างโอกาสธุรกิจใหม่ๆ และป้องกันความเสี่ยงในธุรกิจน้ำมันซึ่งเป็นธุรกิจหลักของตัวเอง
บริษัทยักษ์ใหญ่ในไทยปรับตัวอย่างไร?
บริษัทน้ำมันและปิโตรเคมีของไทย และบริษัทขนาดใหญ่วางกลยุทธ์ขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ เช่น การตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวกับแบตเตอรี่ ได้แก่
- บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่และไฮโดรเจน สร้างโรงงานแบตเตอรี่ต้นแบบที่สถาบันวิทยสิริเมธี จ.ระยอง ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และแบตเตอรี่ลิเธียมซัลเฟอร์ ที่สามารถประจุไฟฟ้าได้มากกว่าปกติ 3 เท่า
โดยมีบริษัทในเครือ ได้แก่ ไทยออยล์, พีทีที โกลบอล เคมิคอล และไออาร์พีซี มีแผนขอซื้อ License ในการผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าว โดยจะตั้งโรงงานผลิตในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi)
นอกจากนี้ ปตท. เปิดให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า (PTT EV Station) แล้ว 14 แห่ง และได้ต่อยอดพัฒนาเครื่องชาร์จไฟฟ้าแบบติดผนัง (EV Wall Charger) เพื่อจำหน่ายให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ารายย่อย อีกทั้งยังได้ลงนามความร่วมมือกับ 6 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าร่วมกัน - บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ บางจาก ลงทุนทำเหมืองลิเธียมที่อาร์เจนตินา คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในเดือนเม.ย.–พ.ค. 2020 เมื่อเดือนม.ค. 2019 บางจากลงทุนในสตาร์ตอัพชื่อ เอนเนเวท ของสหรัฐฯ ซึ่งเชี่ยวชาญเทคโนโลยีการผลิตลิเธียมแบตเตอรี่สำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า สามารถรองรับการชาร์จพลังงานได้รวดเร็วขึ้น 10 เท่า
ทั้งนี้บางจากจะต่อยอดเทคโนโลยีมาทำเป็นสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบ quick charge ให้เร็วเทียบเท่าการเติมน้ำมัน อีกทั้งมีแผนการลงทุนร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในปั๊มบางจาก ทุก ๆ 100 กิโลเมตร ตามถนนสายหลักรวม 62 สถานี ภายในปี 2021 - นอกจากนี้มี คาลเท็กซ์ ซัสโก้ ติดตั้งจุดบริการชาร์จไฟฟ้าภายในปั๊มของตนเองบางแห่ง ภายใต้เครื่องหมายการค้า EA Anywhere ของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ เพื่อเพิ่มทางเลือกด้านพลังงานให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
- ขณะที่ธุรกิจอื่นหันมาพัฒนาด้านรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ซีพี ออลล์ ติดตั้งเครื่องชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าหน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น 21 สาขา ห้างโรบินสัน TCC Group ศูนย์บริการรถยนต์ A.C.T. และ Cockpit ที่ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในพื้นที่เพื่อขยายการบริการให้แก่ลูกค้า
อย่างไรก็ตามธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าสนใจคือ ธุรกิจนำแบตเตอรี่กลับมาใช้ใหม่ (reuse) เพราะจากอายุการใช้งานของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ราว 8-10 ปี เมื่อหมดอายุแล้วจะกลายเป็นขยะที่สร้างปัญหามลพิษ ดังนั้นแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจะเสื่อมสภาพแล้วก็ยังมีกำลังไฟมากถึง 70% สามารถนำกลับมาใช้เป็น second-life แบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (electricity storage) ได้
จึงเห็นปี 2019 ค่ายรถยนต์ต เช่น Toyota จะนำแบตเตอรี่ของรถ Prius hybrid ที่หมดอายุแล้วมาใช้เก็บพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ของร้าน 7-11 ในญี่ปุ่น ส่วน Nissan จะนำแบตเตอรี่จากรถ Nissan Leaf มาใช้กับเสาไฟฟ้าส่องสว่างให้ถนนในเมือง Namie ใกล้กับโรงงานนิวเคลียร์ Fukushima Daiichi ซึ่งได้รับการฟื้นฟูหลังภัยสึนามิที่เกิดขึ้นในปี 2011
สรุป
เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นทั่วโลก ราคาลงมาอยู่หลักล้านบาทเข้าถึงง่ายขึ้น แต่อุตสาหกรรมนี้จะทำให้ธุรกิจพลังงานและรถยนต์น้ำมันอาจจะลดความสำคัญลง ทางออกที่ดีที่สุดไม่ใช่การฝืนทำเรื่องเดิมๆ ต่อไป แต่ทดลองโอกาสใหม่ๆ เพื่อไม่ให้ธุรกิจที่มีอยู่ถดถอยไปจากแนวหน้าของประเทศหรือโลก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา