ประเทศในสหภาพยุโรปตกลงร่วมกันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาในการทำแผนโครงสร้างพื้นฐานสากลที่จะเป็นตัวเชื่อมยุโรปกับทั่วโลก (A Globally Connected Europe) เป็นก้าวล่าสุดหลังจากทำข้อตกลงกับอินเดียและญี่ปุ่น
ข้อสรุปเกี่ยวกับโครงการนี้มีการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมต่อเพื่อความเติบโตทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการฟื้นฟู ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับยุโรปและพันธมิตร
ความกังวลในการขยายอิทธิพลของจีน
โครงการ Belt and Road ของจีนในการเชื่อมต่อเอเชียและยุโรปผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานถูกมองว่าเป็นการขยายอิทธิพลของจีนให้เพิ่มมากขึ้น
ทางฝั่ง EU จึงเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการต่อเนื่องจากการยกระดับความสัมพันธ์ในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับเอเชียเมื่อปี 2020
จีนเปิดตัวโครงการตั้งแต่ปี 2013 ในกว่า 60 ประเทศ โดยพยายามเชื่อมต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา เข้าด้วยกันทั้งทางบกและทางทะเล และได้ปฏิเสธความพยายามในการขยายอำนาจ พร้อมบอกว่าโครงสร้างพื้นฐานเน้นไปที่ความต้องการของประชาชนทั่วไป
EU หวังเป็นทางเลือกให้กับโลก
รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมันบอกกับผู้สื่อข่าวในการประชุมที่บรัสเซลส์ว่า จีนกำลังใช้วิธีทางเศรษฐกิจและทางการเงินเพื่อเพิ่มอิทธิพลทางการเมืองของตัวเองในทุกพื้นที่บนโลก EU จึงต้องเสนอทางเลือกอื่นมากกว่าการมานั่งคร่ำครวญถึงการกระทำของจีน และมองว่าการร่วมมือกับอเมริกาถือว่ามีความสำคัญมาก
ก่อนหน้านี้ EU ได้ลงนามความร่วมมือกับจีนและอินเดียในความร่วมมือด้านการขนส่ง พลังงาน และโครงการดิจิทัลเชื่อมยุโรปและเอเชีย โดยทั้งญี่ปุ่นและอินเดียต่างก็กังวลเกี่ยวกับการให้ของจีนเพราะเป็นการทำให้ประเทศยากจนต้องพึ่งพิงจีนและเสียอำนาจต่อรองจากการเป็นหนี้ก้อนโต
- สู้จีน! G7 ดันโครงการสร้างโลกที่ดีกว่าขึ้นมาใหม่ (B3W) สู้เส้นทางสายไหมจีน (BRI)
- Blue Dot vs. Belt Road ไบเดนประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ต้านอิทธิพลจีนในต่างประเทศ
ที่มา: Reuters, European Council
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา