วิเคราะห์ตลาดเนื้อไร้เนื้อ: ประมงเกินขนาด-โลกร้อน ดันกระแส ปลาจากแล็บ และ Plant-based

อาหารทะเลทางเลือก ทั้งแบบ plant-based และ lab-grown เป็นที่พูดถึงมากขึ้น เพราะผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการประที่ทำให้สัตว์ทะเลอยู่ในภาวะวิกฤติและลดจำนวนลง

“อาหารทะเลทางเลือก” เริ่มเป็นที่พูดถึง

3-4 ปีที่ผ่านมา กระแสโปรตีนทางเลือก เช่น plant-based และ lab-grown เป็นที่พูดถึงและมีผลิตภัณฑ์ออกมาให้เห็นเป็นจำนวนมาก ผู้บริโภคให้ความสนใจโปรตีนทางเลือกด้วยหลากหลายเหตุผลตั้งแต่สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ไปจนถึงสวัสดิภาพสัตว์ 

ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ในตลาดโปรตีนทางเลือกคือหมู ไก่ และเนื้อวัว เป็นหลัก แต่ก็พูดได้ว่าในระยะหลังๆ ปลา คือโปรตีนอีกหนึ่งชนิดที่ได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว

  • ปี 2017 มีการลงทุนในบริษัทอาหารทะเลทางเลือก 1 ล้านดอลลาร์ 
  • ปี 2020 มีการลงทุนในบริษัทอาหารทะเลทางเลือก 83 ล้านดอลลาร์ 

นอกจากนี้ จำนวนบริษัทผู้ผลิตอาหารทะเลเพิ่มขึ้นเป็น 83 บริษัทในปี 2020 เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จากปี 2017

เพราะผู้บริโภคตระหนักถึงปัญหาภาพใหญ่ของสังคม

สาเหตุที่อุตสาหกรรมโปรทางเลือกเติบโตขึ้นเพราะผู้บริโภคยุคใหม่ตระหนักถึงปัญหาร่วมกันของสังคม ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบของปศุสัตว์ต่อสิ่งแวดล้อม การทารุณกรรมสัตว์ การประมงเกินขนาด 

แม้ตอนนี้ เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง ผู้บริโภคจะนึกถึงการบริโภคเนื้อแดง เช่น หมู และเนื้อวัว ไปจนถึงเนื้อขาวอย่าง ไก่ เป็นหลัก 

แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้อาหารทะเลทางเลือกมาแรงมากขึ้น เพราะสังคมรับรู้ว่าสัตว์ทะเลตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงทางนิเวศอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการประมงอย่างไม่เหมาะสม การทำประมงเกินขนาด ภาวะโลกร้อน ขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้สัตว์ทะเลเสี่ยงต่อการลดจำนวน สูญเสียความหลากหลายทางนิเวศ สูญเสียถิ่นที่อยู่ ไปจนถึงสูญพันธุ์ได้

เราจึงได้เห็นชีวิตชีวาในตลาดอาหารทะเลทางเลือก

ตอนนี้ สตาร์ทอัพผู้พัฒนาอาหารทะเลทางเลือก มีเทคนิคในการผลิตผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สาหร่ายขนาดเล็ก การหมัก การใช้พืชแทนเนื้อ ไปจนถึงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องแล็บ (lab-grown)

เนื้อปลาและอาหารทะเลทางเลือกทั้งในรูปแบบ plant-based และ เพาะจากเนื้อเยื่อในแล็บ (lab-grown) ถูกพูดถึงมากขึ้น แต่ก็ต้องพูดตามตรงว่าการผลิตยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยมีหลายแบรนด์ทั้งรายใหญ่และสตาร์ทอัพสนใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ

  • Impossible Foods พัฒนา “เนื้อปลาไร้ปลา” มาได้ปีกว่า
  • Bumble Bee Foods ร่วมมือกับ Good Catch ขายฟิชสติ๊กและเค้กปู Plant-based ในร้านค้าปลีกทั่วไป
  • Kuleana ขายเนื้อปลาทูน่าดิบสำหรับทำซูชิแบบ Plant-based และมีการจำหน่ายให้กับเชนร้าน Poké Bar เพื่อทำเป็นเมนู plant-based 

ส่วนเนื้อปลาแบบ lab-grown เราอาจต้องรอไปอีกพักใหญ่ๆ เพราะด้วยเทคโนโลยียังยากที่จะผลิตเพื่อจำหน่ายในวงกว้าง และที่สำคัญผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังกังขากับผลิตภัณฑ์แบบ lab-grown กันอยู่ 

Shiok Meats จากสิงคโปร์ คือ หนึ่งในแบรนด์ที่จะผลิตเนื้อปลา lab-grown และมีการประกาศออกมาว่าจะวางจำหน่ายภายในปีหน้า นอกจากนี้ก็ยังมี BlueNalu และ Wildtype ในสหรัฐก็ประกาศว่าจะวางจำหน่ายเนื้อปลาจากแล็บในอนาคตอันใกล้เช่นกัน

ที่มา – Nytimes

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา