เปิดบทเรียน Lego กับกลยุทธ์เดิมๆ ที่ใช้ไม่ได้ตลอด จนทำให้รายได้ปีล่าสุดลงลง 8%

เรียกว่าเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของ Lego ก็ได้ เพราะหากนับยอดขายในปี 2550 ยักษ์ใหญ่ของเล่นรายนี้ก็เติบโตขึ้น 4 เท่าตัว แต่ด้วยกลยุทธ์การตลาดเดิมๆ กับความซับซ้อนของบริษัทที่มากขึ้น ทำให้ยอดขายล่าสุดเริ่มลดลงแล้ว

ตัวต่อ Lego // ภาพโดย Alan Chia (Lego Color Bricks) [CC BY-SA 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.0)], via Wikimedia Commons

แค่ทำภาพยนตร์เพิ่ม ไม่ได้ช่วยสร้างยอดยั่งยืน

ก่อนหน้านี้ตัวชุดของเล่น Star Wars ตั้งแต่ภาค The Force Awakens ของ Lego นั้นทำยอดขายได้อย่างถล่มทลาย ถือเป็นความสำเร็จที่ต่อจากภาพยนตร์เรื่อง The Lego Movie ที่ช่วยให้ยักษ์ใหญ่ของเล่นจากเดนมาร์กรายนี้กลับมาเป็นที่นิยมในวงกว้างอีกครั้ง

แต่ใช่ว่าการใช้กลยุทธ์เดิมๆ โดยเฉพาะการสร้างภาพยนตร์ออกมาเพื่อกระตุ้นตลาดจะสำเร็จเสมอไป เพราะหลังจากนั้น Lego ก็ส่งภาพยนตร์เรื่อง The Lego Batman Movie และ The Lego Ninjago Movie ออกมาในปี 2560 ก็ไม่ได้ทำให้ยอดขายเติบโตก้าวกระโดดเหมือนครั้งก่อน แม้จะสร้างความนิยมในหมู่เด็กๆ ได้บ้าง

จึงไม่แปลกดีรายได้ประจำปี 2560 ของ Lego จะลดลง 8% เมื่อเทียบกับปี 2559 ประกอบกับผลกำไรที่ลงลง 17% เช่นกัน และนี่ก็เป็นหนึ่งเหตุผลที่ Bali Padda ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนแรกที่ไม่ใช่คนเดนมาร์ก ถูกเชิญออกหลังรับงานได้แค่ 9 เดือนเท่านั้น พร้อมกับตามาด้วยการลดพนักงาน 1,400 ตำแหน่งเช่นกัน

Niels Christiansen ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนปัจจุบันของ Lego มองว่า บริษัทไม่ค่อยพึงพอใจกับภาพรวมด้านการเงินมากนัก และมันไม่มีวิธีแก้ไขอย่างเร็วๆ คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เนื่องจาก Lego นั้นเติบโตจนใหญ่ และมีความซับซ้อนมาก กลยุทธ์หลักของปีนี้คือพยายามลดความซับซ้อนต่างๆ ลง

ดังนั้นการฝากความหวังไว้กับสินค้าแค่ไม่กี่ตัว หรือการใช้กลยุทธ์เดิมๆ ในการทำตลาดอาจไม่ใช่สูตรสำเร็จในการเติบโตที่ยั่งยืน เพราะหากสินค้าตัวนั้นมีปัญหา หรือไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคแล้ว ก็เท่ากับที่ทำมาทั้งหมดแทบจะเสียเปล่า และเหตุนี้เอง Lego ก็ไม่ใช่เบอร์หนึ่งเรื่องของเล่นในแง่ยอดขาย หลังเคยทำได้ในปี 2557

สรุป

“โตแล้วต้องแตก” ยังเป็นนิยามที่ใช้ได้ตลอดในโลกของธุรกิจ เพราะ Lego ที่ก่อตั้งมาในปี 2475 ก็เติบโตไปเรื่อยๆ จนมาก้าวกระโดดในเวลาเพียงไม่กี่ปี แต่ก็ซบเซาอย่างรวดเร็วเช่นกัน ดังนั้นเมื่อธุรกิจแข็งแรงแล้ว การก้าวออกไปในโลกใบใหม่ๆ ก็จำเป็น ไม่ว่าจะสินค้าใหม่ หรือบุกตลาดใหม่ไปเลยก็ตาม

อ้างอิง // CNN

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา