ย้อนรอย JD Central แพลตฟอร์มขายออนไลน์รายล่าสุดที่โบกมือลาจากประเทศไทย

JD Central คือแพลตฟอร์มขายออนไลน์ หรือ E-Commerce รายล่าสุดที่ประกาศยุติการทำธุรกิจในประเทศไทย หลังเริ่มให้บริการจริงเดือน มิ.ย. 2561

ที่น่าสนใจคือ JD Central เกิดจากความร่วมมือ 17,500 ล้านบาท ของ เซ็นทรัล ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของไทย กับ JD.com แพลตฟอร์มขายออนไลน์จากจีน ทั้งเป็นคู่แข่งที่คู่ขี่กับกลุ่ม Alibaba พร้อมเป้าหมายเบอร์ 1 ตลาดไทย

แต่ผ่านไปเพียงไม่ถึง 6 ปี JD Central กลับประกาศยุติธุรกิจในไทยในเดือน 3 มี.ค. 2566 ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น Brand Inside ชวนมาย้อนรอยแพลตฟอร์มขายออนไลน์ทุนไทย-จีน รายนี้กัน

JD Central

JD Central กับจุดเริ่มต้นปี 2560

เดือน พ.ย. 2560 กลุ่มเซ็นทรัล ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดเผยถึงความร่วมมือกับ JD.com แพลตฟอร์มขายออนไลน์ยักษ์ใหญ่จากจีน เพื่อร่วมกันลงทุน 17,500 ล้านบาท จัดตั้ง JD Central แพลตฟอร์มขายออนไลน์ในประเทศไทยที่ผสานความแข็งแกร่งเรื่องการขายปลีกของเซ็นทรัล และความเชี่ยวชาญด้านออนไลน์ของ JD.com

เงินลงทุนดังกล่าวครึ่งหนึ่งเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มขายออนไลน์ และระบบจัดส่งสินค้า และอีกครึ่งใช้เพื่อพัฒนาบริการทางการเงินดิจิทัลที่ให้บริการในชื่อ Dolfin ส่วนสินค้าที่จำหน่ายช่วงแรกมีทั้งสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศจีน และสินค้าจากซัพพลายเออร์ของกลุ่มเซ็นทรัล โดย JD Central ตั้งเป้าขอขึ้นเป็นเบอร์ 1 ตลาดนี้ในไทย

เวลานั้น JD Central ตั้งเป้าหมายให้ JD Central เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนยอดขายจากช่องทางออนไลน์เป็น 15% จากรายได้รวม โดยปี 2559 ยอดขายจากช่องทางออนไลน์คิดเป็น 1-2% ของยอดขายรวมกว่า 3.3 แสนล้านบาท และหวังให้ช่องทางดังกล่าวเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% ทั้งยังไม่มองเรื่องกำไรของความร่วมมือครั้งนี้

JD Central

ผ่าน 2 ปี ยอดขายโต 550%

JD Central เริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการช่วงกลางปี 2561 ซึ่งเวลานั้นเกิดขึ้นก่อนที่ 11Street แพลตฟอร์มขายออนไลน์ทุนเกาหลีได้ประกาศปิดตัวเมื่อเดือน ก.ค. 2561 เพียง 1 เดือน ถือเป็นคำขู่ของตลาดนี้ในประเทศไทยว่าถึงจะทุนหนา และแน่มาจากต่างประเทศ ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป

แต่แม้จะมีคำขู่ JD Central ได้แถลงอย่างเป็นทางการว่า หลังจากเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2561 ผ่านมา 2 ปี หรือปี 2563 JD Central มีฐานลูกค้ามากกว่า 5 ล้านราย และมียอดขายสินค้าออนไลน์รวม (GMV) เติบโตกว่า 550% ผ่านมูลค่าเฉลี่ยการจับจ่ายที่ 2,500 บาท

ในทางกลับกัน หากเปรียบเทียบเรื่องโปรโมชัน และความต่อเนื่องในการทำตลาด JD Central ยังค่อนข้างห่างจาก Lazada และ Shopee อยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายของสินค้า เนื่องจาก JD Central พยายามเจาะลูกค้าแค่กลุ่มกลางบน ต่างจากคู่แข่งที่พยายามเจาะในทุกตลาด

jd central

ประกาศรีแบรนด์เพิ่มยอดขาย

อย่างที่แจ้งไปข้างต้น JD Central ยังไม่สามารถตีแตกคู่แข่งสองรายใหญ่ และห่างไกลเป้าหมายเบอร์ 1 ของตลาดอยู่มาก ทำให้แพลตฟอร์มขายออนไลน์รายนี้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหาร เช่น การดึงคนจาก GET! หรือ Go Jek ในไทยมาช่วยทำตลาด รวมถึงตัดสินใจรีแบรนด์ในปีช่วงกลางปี 2021 ด้วย

อย่างไรก็ตามการรีแบรนด์นั้นแทบไม่ได้ส่งผลบวกกับ JD Central นัก เนื่องจากทุกอย่างแทบไม่แตกต่างภาพลักษณ์เดิม ประกอบกับกลุ่มเซ็นทรัลเหมือนจะให้ความสำคัญกับ Central.co.th และช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของทางกลุ่มมากกว่า สังเกตจากสื่อโฆษณา และการรับรู้ในช่องทางต่าง ๆ ที่มักจะเห็น Central.co.th ก่อน JD Central เสมอ

แม้จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 มาช่วยเพิ่มยอดขายของช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ แต่ JD Central ก็เหมือนจะแย่งชิงลูกค้าจาก Lazada และ Shopee ไม่ได้เช่นเดิม จนสุดท้ายความเคลื่อนไหวของ JD Central ค่อย ๆ ลดลงในครึ่งหลังของปี 2022 และเริ่มมีข่าวการยุติการทำตลาดของ JD Central ออกมาอย่างต่อเนื่อง

JD Central

สุดท้ายก็ปิดตัว 3 มี.ค. 2023

ล่าสุด JD Central ส่งเอกสารชี้แจงกับสื่อมวลชนว่า JD Central เตรียมยุติการให้บริการตั้งแต่ 3 มี.ค. 2023 พร้อมชี้แจงข้อมูลสำคัญกับลูกค้า และพาร์ตเนอร์ เช่น การรับประกันสินค้า และรายละเอียดของร้านค้าในระบบ ถือเป็นการปิดฉากอย่างเป็นทางการของแพลตฟอร์มขายออนไลน์ทุนไทย-จีน

อ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า  JD Central ทำธุรกิจในชื่อ บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด ทุนจดทะเบียน 4,959 ล้านบาท แบ่งเป็น ชาวฮ่องกง 2,888.92 ล้านบาท 1 ราย และชาวไทย 2,070.35 ล้านบาท 3 ราย โดยต่างชาติถือหุ้นมากกว่าตั้งแต่ปี 2564 ก่อนหน้านั้นมีสัดส่วนเท่ากันตลอด

มีรายได้รวม และกำไร/ขาดทุนสุทธิ ดังนี้ (ปี 2565 ยังไม่ส่งงบการเงิน)

  • ปี 2564 รายได้รวม 7,443 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,930 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้รวม 3,491 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,375 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้รวม 1,284 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,342 ล้านบาท

ตัวเลขดังกล่าวห่างไกลกับ Lazada ที่ทำธุรกิจในชื่อ บริษัท ลาซาด้า จำกัด ปี 2565 มีรายได้รวม 20,675 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% จากปีก่อน กำไรสุทธิ 413 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 82% (มีกำไรสุทธิติดต่อกัน 2 ปี) ส่วน Shopee ที่ทำธุรกิจในชื่อ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ปี 2564 มีรายได้รวม 13,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 129% ขาดทุนสุทธิ 4,972 ล้านบาท ขาดทุนมากขึ้น 19%Lazada Shopee

สุดท้ายสมรภูมินี้ก็เหลือเพียง 2 ราย

นอกจากประเทศไทย JD.com ยังมีการถอนตัวจากตลาดอินโดนีเซีย เนื่องจากภาวะการแข่งขันแพลตฟอร์มขายออนไลน์ที่นั่นสูงเช่นเดียวกับประเทศไทย และการลงทุนเผาเงินมาระยะหนึ่งแต่ไม่สามารถแข่งกับเจ้าตลาดได้สักทีอาจไม่คุ้มค่าในการดำเนินธุรกิจอีกแล้ว

สุดท้ายสมรภูมิแพลตฟอร์มขายออนไลน์ หรือ E-Commerce ในประเทศไทยเหลือเพียง Lazada และ Shopee สองรายใหญ่ที่ขับเขี้ยวกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังเป็นสงครามตัวแทนทุนจีนเช่นเดิม เพราะ Lazada มี Alibaba หนุนหลัง ส่วน Shopee มี Tencent บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกเป็นผู้ถือหุ้นหลักเช่นกัน

ส่วนตัวมองว่า เกมการเผาเงินในธุรกิจแพลตฟอร์มขายออนไลน์ หรือ E-Commerce ที่ประเทศไทยน่าจะเกิดขึ้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง และคงไม่มีใครหน้าไหนกล้าลงทุนหนัก ๆ เพื่อหวังแข่งขันกับสองรายใหญ่นี้แน่ ๆ เพราะมันมีกรณีศึกษาออกมาหลายแบรนด์แล้วว่า ถึงทุนหนา และแกร่งในต่างประเทศแค่ไหน ก็พ่ายกลับบ้านไปกันหมด

อ้างอิง // กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา