พนักงานให้คะแนนความพอใจกับการทำงานต่ำสุดในรอบ 3 ปี อาจเข้าสู่ยุค Great Gloom ที่หลายคนไม่ชอบงานที่ทำ

คนจำนวนมากมีความสุขกับงานลดลง ข้อมูลจาก BambooHR เผย ระดับความพึงพอใจกับงานดิ่ง แย่กว่าช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก

BambooHR สำรวจความพึงพอใจในการทำงานของพนักงานกว่า 57,000 คนจากบริษัททั่วโลกกว่า 1,600 แห่ง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 จนถึงมิถุนายน 2023 ออกมาเป็นคะแนน employess Net Promoter Scores (eNPS) ที่วัดจากการให้พนักงานประเมินคะแนนบริษัทเพื่อแนะนำสถานที่ทำงาน และคำถามปลายเปิดว่าเพราะอะไรถึงให้คะแนนเท่านี้เพื่อสะท้อนความรู้สึกที่พนักงานมีต่อบริษัท

ผลวิจัยพบว่า ในภาพรวม เดือนมิถุนายนปี 2023 พนักงานมีความสุขกับงานน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่เดือนเมษายนปี 2020 เป็นช่วงที่ความสุขของพนักงานเพิ่มขึ้นสูงสุดเพราะความกังวลกับมาตราการล็อคดาวน์ลดลงและรับรู้ข้อมูลการจัดการกับโควิด-19 มากขึ้น 

ตั้งแต่ต้นปี 2020 มาจนถึงครึ่งปีแรกของปี 2023 ความสุขของพนักงานลดลงอย่างต่อเนื่องที่อัตรา 6% แต่ในปี 2023 กลับพบว่าความสุขในการทำงานดิ่งลงอย่างมากและต่อเนื่อง โดยมีคะแนน eNPS ลดลง 9% นับตั้งแต่ต้นปี ถือว่าลดลงในอัตราที่เร็วกว่า 3 ปีก่อนหน้ากว่า 10 เท่าและไม่มีท่าทีว่าจะฟื้นฟู

คะแนนความพึงพอใจที่ลดลงต่อเนื่องยังทำให้เห็นว่า พนักงานไม่ได้ประสบกับขาขึ้นหรือขาลงในการทำงานจนกระทบต่อความพึงพอใจ แต่กำลังรู้สึกเฉยเมยและถอดใจกับงานที่ทำซึ่งอาจส่งสัญญาณว่ากำลังเข้าสู่ยุค “Great Gloom” ที่คนจำนวนมากไม่ชอบงานที่ทำ

ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า โควิด-19 ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพ ชาวอเมริกันกว่า 65 ล้านคนยังมีอาการทางระบบหายใจและการเหนื่อยหอบเรื้อรัง ด้านเศรษฐกิจเองก็เช่นกัน ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกที่ค่าแรงเพิ่มขึ้นมากกว่าเงินเฟ้อในรอบ 2 ปี แต่ 61% ของชาวอเมริกันยังคงใช้เงินแบบเดือนชนเดือนและ 21% ยังมีปัญหากับการชำระหนี้สิน

นอกจากนี้ ยังนำคะแนนความพึงพอใจในการทำงานของแต่ละวงการหรืออุตสาหกรรมาจัดลำดับด้วย โดยในช่วงสองไตรมาสแรกของปีนี้ พนักงานทางฝั่งสาธารณสุขเป็นกลุ่มที่ไม่มีความสุขมากที่สุด ขณะที่ฝั่งการก่อสร้างเป็นกลุ่มที่มีความสุขที่สุดในปัจจุบัน เพราะความต้องการตลอดเพิ่มขึ้นทำให้งานมั่นคงและค่าแรงเพิ่ม  

รายงานของ Gallup พบว่า การที่พนักงานรู้สึกไม่รู้สึกมีส่วนร่วมกับงานทำให้โลกสูญเสียความ Procductivity ที่ตีเป็นมูลค่า 8.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 9% ของ GDP ทั่วโลก นอกจากนี้ บริษัทที่พนักงานมีความรู้สึกร่วมต่องานจะทำรายได้ได้สูงกว่าและมีคนลาออกน้อยกว่าบริษัทที่พนักงานไม่มีความสุข 

สาเหตุที่ทำให้ความพึงพอใจในการทำงานลดลงก็มีอยู่หลายข้อ Srikumar Rao ผู้เขียนหนังสือ “Happiness ai Work” กล่าวว่า มาจากการเสียการควบคุมต่อชีวิตและหน้าที่การงานจากช่วงโควิด ขณะที่ Jenn Lim ซีอีโอของบริษัทที่ปรึกษาองค์กร Delivering Happiness บอกว่า สาเหตุมาจากภาวะเงินเฟ้อ การปลดพนักงานออกในหลายบริษัท และความไม่แน่นอนของนโยบายกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ ทั้งหมดล้วนทำให้พนักงานรู้สึกไม่สบายใจ

Emily Liou ผู้เชี่ยวชาญด้านความสุขในการทำงานและอดีต HR ยังให้เหตุผลด้านจิตใจว่า การไม่มีความสุขเกิดจากที่พนักงานรู้สึกว่างานที่ทำไม่มีความหมาย รวมทั้งผลวิจัยจาก Gallup ยังแสดงให้เห็นว่า พนักงานโดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานทางไกลรู้สึกไม่เชื่อมต่อกับเป้าหมายของบริษัทซึ่งกระทบต่อทั้งความสุขและผลงานของพนักงาน

ที่มา – BambooHR, Fast Company, CNBC, HR Dive

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา