ซีอีโอ Microsoft มอง ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ ไม่ได้เป็น Soft Skills แต่เป็น Hard Skills ที่สำคัญที่สุดในการทำงาน

Satya Nadella ซีอีโอ Microsoft คิดว่าความเข้าอกเข้าใจหรือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) เป็นทักษะที่สำคัญมากทั้งในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว 

Nadella ให้สัมภาษณ์กับ Mathias Döpfner ซีอีโอ Axel Springer ในงานรับรางวัล  Axel Springer Award ว่าความเข้าอกเข้าใจไม่ใช่แค่ Soft Skills ที่ถูกมองว่าเป็นทักษะที่ไม่จำเป็นกับงานแต่จำเป็นกับการอยู่ร่วมกันเท่านั้น เพราะที่จริงแล้ว เป็น Hard Skills ที่สำคัญที่สุดในการที่จะเชื่อมต่อกับผู้คนที่มีความสำคัญกับเรา

Satyaเล่าว่ามุมมองของเขาเปลี่ยนไปจากการเป็นพ่อที่มีลูกชายที่มีภาวะอัมพาตตั้งแต่คอลงมาและอัมพาตที่สมองและเสียชีวิตในวัย 26 ปีเมื่อปีที่ผ่านมาตอนแรก Satya รู้สึกผิดหวังกับการที่ชีวิตไม่เป็นไปตามแผน เพราะอาการป่วยของลูกชายทำให้ภรรยาต้องลาออกจากการเป็นสถาปนิกเพื่อคอยพาลูกชายไปเข้ารับการบำบัดหลายแห่ง

ความคิดของเขาเปลี่ยนแปลงไปเมื่อกลับมานั่งทบทวนตัวเองและตระหนักได้ว่าอาการป่วยไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง แต่เกิดกับลูกชาย เลยเริ่มมองโลกใหม่ผ่านมุมมองของลูกชายแทน ทำให้เขาเปลี่ยนความคิดไปไม่ว่าในบทบาทของพ่อ สามี ผู้นำในที่ทำงาน หรือแม้แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ Satya เคยพูดถึงความสำคัญของความเข้าใจในที่ทำงานว่า การมีความเข้าใจพนักงานในทีมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านอาชีพการงาน เขายังเคยพูดไว้ในรายงานพอดแคสต์บน Linkedin ว่า ถ้าเรามีความเข้าใจคนที่ทำงานร่วมกัน เขาเหล่านั้นก็จะทำงานได้อย่างดีที่สุด และเราเองก็จะก้าวหน้าไปด้วย

เรื่องความเข้าใจที่ Satya พูดถึง ยังมีการศึกษาหลายชิ้นรองรับด้วยว่าเป็นหนึ่งในทักษะของการเป็นผู้นำที่สำคัญที่สุด 

ผลสำรวจจากรายงานในปี 2021 จาก Ernst & Young เกือบ 90% ของพนักงานในสหรัฐอเมริกากล่าวว่า การมีหัวหน้างานที่เข้าอกเข้าใจช่วยเพิ่มความพึงพอใจในการทำงานและเพิ่ม Productivity มากขึ้น รวมทั้งช่วยสร้างความเชื่อใจต่อหัวหน้างาน ขณะที่พนักงานมากกว่าครึ่งกล่าวว่า พวกเขาลาออกจากงานเพราะหัวหน้าไม่เข้าใจมากพอทั้งเรื่องปัญหาจากงานและเรื่องส่วนตัว

ในมุมที่กว้างขึ้น Satya คิดว่า ความเข้าใจสำคัญต่อการขับเคลื่อนนวัตกรรม เขามองว่าการสร้างนวัตกรรมเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองและลูกค้าก็ไม่ได้พูดออกมาตรง ๆ แล้วนวัตกรรมเกิดมาจากไหน ก็เกิดมาจากการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และการคิดเชิงออกแบบนี้ก็มาจากความเข้าใจที่มีต่อลูกค้า

ที่มา – Business Insider

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา