“เอี่ยมบูรพา” ธุรกิจโรงงานแป้งมัน กับการค้นหาแนวทางธุรกิจใหม่ด้วยงานวิจัย

สิ่งที่ Brand Inside สนใจและนำเสนออยู่ตลอด คือเรื่องราวของการปรับตัวในธุรกิจดั้งเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสโลกปัจจุบัน ครั้งนี้เรามาที่จังหวัดสระแก้ว เพื่อพูดคุยกับผู้บริหารรุ่นใหม่ของโรงงานแป้งมัน เอี่ยมบูรพา ถึงมุมมองในโลกธุรกิจปัจจุบัน ตลอดจนการเตรียมตัวของธุรกิจแปรรูปสินค้าการเกษตรดั้งเดิม ว่าจะต่อยอดไปได้อย่างไรบ้าง

โรงงานเอี่ยมบูรพา จังหวัดสระแก้ว

ขยับจากสินค้าโภคภัณฑ์สู่ทางเลือกใหม่

คุณทศวรรษ หวังศุภกิจโกศล ผู้บริหารรุ่นที่สองของเอี่ยมบูรพา ได้เล่าให้เราฟังถึงธุรกิจโรงงานแป้งมัน เอี่ยมบูรพา เพื่อให้เห็นภาพก่อน โดยในครอบครัวนั้นมีการทำธุรกิจในแวดวงโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันอยู่แล้ว ซึ่งคุณพ่อได้มาริเริ่มทำโรงงานแปรรูปอยู่ในอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว โดยมีองค์ความรู้จากในครอบครัว (ทั้งตระกูลมีอยู่ 14 โรงงานในไทย) พอกิจการของเอี่ยมบูรพาเติบโต ก็มีการขยายตัว และมีโรงงานเพิ่มในศรีสะเกษและอุบลราชธานี รวมทั้งมีแผนจะเปิดโรงงานใหม่อีกที่อำนาจเจริญและในประเทศลาว

ธุรกิจโรงงานแป้งมันนั้น เป็นการรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกร แล้วทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง หรือสตาร์ช ซึ่งเป็นสินค้าหลักของโรงงาน โดยมีการปรับสเปกตามแต่ความต้องการของลูกค้า เช่น ส่งออกไปยังบางประเทศก็มีเงื่อนไขเพิ่มเติม ลูกค้าบางรายอาจมีเงื่อนไขอัตราส่วนสารเคมี หรือบางรายก็กำหนดว่าจะใช้ผลิตเป็นอาหาร ก็ต้องมีสัดส่วนองค์ประกอบให้ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ

คุณทศวรรษบอกว่าปัญหาของอุตสาหกรรมนี้คือสินค้าจากแต่ละโรงงานแทบไม่มีความแตกต่างกันเลย แป้งมันคือสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) การแข่งขันของแต่ละบริษัทจึงเป็นการทำยิลด์ให้ได้ดีกว่า ได้อัตราส่วนคุณภาพสินค้าที่ดีกว่า แต่สุดท้ายการแข่งขันก็มาเป็นเรื่องของราคาอยู่ดีว่าใครขายได้ถูกกว่า

มันสำปะหลัง วัตถุดิบหลักของการผลิตแป้งมัน

มองหาแนวทางใหม่ให้ธุรกิจ

เมื่อธุรกิจต้องคิดใหม่ โรงงานเอี่ยมบูรพา ก็เริ่มมองหาแนวทางใหม่ๆ ที่ต่อยอดได้จากธุรกิจแป้งมันสำปะหลังเดิม ซึ่งโครงการที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้คือการผลิตเอทานอล โดยใช้กากมันสำปะหลัง โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก New Energy and Industrial Technology Development Organization (ประเทศญี่ปุ่น) และ NIA (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) รวมทั้งมีการทำ R&D ร่วมกับบริษัท ซัปโปโร เบฟเวอรี่ จำกัด (Sapporo Breweries Ltd.) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง

คุณทศวรรษเล่าว่า ในการทำวิจัยนั้นต้องใช้เงินทุนสูงมาก บริษัทจึงเลือกแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก แล้วให้การสนับสนุนด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ เป็นทางเลือกที่ลงตัวมากกว่า

นอกจากการนำกากมันสำปะหลังมาแปรรูปเป็นสินค้าพลังงาน อีกแนวทางคือการนำแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว มาปรับเปลี่ยนรูปทรงแล้วจำหน่ายตามที่ตลาดต้องการ ที่มีออกมาแล้วคือ แป้งฟลาว ซึ่งเป็นสินค้าในกระแสปัจจุบัน เพราะแป้งฟลาวมีไฟเบอร์เยอะ บริโภคแล้วจะทำให้อิ่มท้องเร็ว ปัจจุบันเริ่มมีการนำมาใช้เป็นแป้งทางเลือกที่ปลอดภัยไร้สารกลูเต้นในการทำเบเกอรี่แทนแป้งสาลี สำหรับคนรักสุขภาพ

เมื่อแป้งมันสำปะหลัง ถูกนำมาเกี่ยวข้องกับสินค้าอาหารมากขึ้น เราจึงสอบถามว่ามีเทคโนโลยีใหม่ๆ ในโรงงานหรือไม่ ก็ได้คำตอบว่าในสายการผลิตนั้นเริ่มนำหุ่นยนต์แขนกลเข้ามาใช้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเอี่ยมบูรพาไม่ได้มองว่าเป็นการแทนที่คน แต่เพราะกระบวนการผลิตสินค้าด้านอาหารนั้น การให้คนเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยที่สุด ย่อมให้ได้สินค้าที่ดีมากกว่า และมีความคงที่มากกว่าด้วย

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ทางเอี่ยมบูรพากำลังพัฒนา โดยนำพื้นที่ราว 2 พันไร่ มาทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร หวังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในสระแก้ว ซึ่งจะเริ่มเปิดให้เข้าชมได้ในปลายปีนี้

งานวิจัยใหม่ๆ ช่วยเสริมธุรกิจ

ทางเอี่ยมบูรพามองว่า สิ่งที่ทำให้ธุรกิจโรงงานแป้งมันสำปะหลังจะก้าวไปข้างหน้าได้ดี ก็ต้องมีศาสตร์ความรู้ใหม่ๆ ในการพัฒนาสินค้าใหม่ตลอด ปัจจุบันบริษัทมีความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกมากมาย อาทิ โครงการพัฒนาเอทานอลร่วมกับบริษัท ซัปโปโร เบฟเวอรี่ จำกัด ที่กล่าวมาข้างต้น

ส่วนความร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศ ก็มีโครงการที่ทั้งอยู่ในสถานะการวิจัย และโครงการที่สำเร็จจนมีการจดสิทธิบัตรแล้ว ที่สามารถเปิดเผยได้ อาทิ การนำยีสต์จากโครงการพัฒนาเชื้อจากยีสต์ที่ทนความร้อนได้ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มาใช้งาน หรือโครงการนำกากมันสำปะหลังหมักยีสต์ เพื่อใช้ในอาหารโคเนื้อ และโครงการผลิตโปรตีนเซลล์เดียวจากกากมันสำปะหลัง เพื่อทดแทนสารอาหารสำหรับแพะ ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ อย่างมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว

คุณทศวรรษบอกว่า โครงการเหล่านี้ช่วยให้บริษัทมองเห็นแนวทางใหม่ ที่จะต่อยอดธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว ให้มีสินค้าที่สร้างความหลากหลายมากขึ้น มีการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และแข่งขันได้ในระดับโลก เขายังบอกว่าวันนี้ก็ยังสนุกกับธุรกิจของครอบครัวมาก เพราะโตมากับสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เด็ก จึงเปิดรับทุกโอกาสใหม่ที่เข้ามาเสมอ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา