เศรษฐศาสตร์มีไว้ทำไม? ร่วมไขคำตอบในวันที่ใครๆ ก็บอกว่า “เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว”

 

ข่าวใหญ่ในช่วงเดือนที่ผ่านมาของแวดวงการศึกษา คือการที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่ปิดคณะเศรษฐศาสตร์ โดยให้เหตุผลว่านักศึกษาสมัครเรียนคณะนี้ลดน้อยลง 20-40% มากกว่านั้นมีข้อมูลว่า นักศึกษาที่เรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า เรียนจบคณะนี้ไปแล้วสมัครงานยาก

อันที่จริงแล้ว หนึ่งในคำตอบของการที่นักศึกษาเรียนในมหาวิทยาลัยน้อยลง ตอบได้ไม่ยาก เพราะสัดส่วนของประชากรในประเทศไทยที่ลดน้อยถอยลง จากอัตราการเกิดต่ำและรวมถึงการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงส่งผลต่ออัตราการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยโดยตรงอยู่แล้ว

แต่ในโลกยุคที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสูง ทั้งในทางเศรษฐกิจที่ก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 / 5.0 หรือในทางการศึกษาเองที่หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกเริ่มมองว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยเพื่อได้ใบปริญญามาครอบครองไม่ใช่สิ่งสำคัญในการทำงาน เพราะการเปลี่ยนแปลงนอกรั้วมหาวิทยาลัยมีนัยยะสำคัญมากกว่า

เพราะฉะนั้น คำถามที่บทสัมภาษณ์นี้ต้องการจะไขคำตอบ จึงต้องกลับมาดูว่าวิชาพื้นฐานอย่างวิชาเศรษฐศาสตร์นั้นได้ปรับตัวอย่างไรในโลกยุคปัจจุบัน เพราะความท้าทายมีหลากหลาย ตั้งแต่ปรากฏการณ์ที่นักศึกษาเลือกเรียนคณะนี้น้อยลง เพราะไม่ใช่วิชาทำเงิน รวมถึงจบไปก็สมัครงานยาก หรือไกลไปจนกระทั่งบอกว่า “เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว” จะมาเรียนศาสตร์นี้ให้เสียเวลาไปทำไม?

Brand Inside สัมภาษณ์บุคคลในวงการเศรษฐศาสตร์ 5 คน เพื่อสอบถามถึงประเด็นดังกล่าว โดยมีคำถามใจกลางหลักในครั้งนี้ ได้แก่

  • เรียนเศรษฐศาสตร์จบแล้ว ทำอะไรได้บ้าง?
  • เรียนเศรษฐศาสตร์จบแล้ว สมัครงานยากจริงไหม?
  • เศรษฐศาสตร์ตายแล้วใช่หรือไม่?
ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ศาสตร์ที่ทำเงินมันเรียนง่ายกว่า แล้วคุณจะมาเรียนเศรษฐศาสตร์ทำไม?”

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า โดยเนื้อแท้แล้วเศรษฐศาสตร์คือศาสตร์ของการใช้ให้คุ้ม เป็นเรื่องศาสตร์ทางสังคม เศรษฐศาสตร์ไม่ใช่ศาสตร์ที่สอนให้ทำกำไรในโลกธุรกิจ 

“เศรษฐศาสตร์คือศาสตร์ของการใช้ให้คุ้ม ใช้คนใช้อย่างไรให้คุ้ม ใช้ทรัพยากร ใช้อย่างไรให้คุ้ม ในแง่ของเศรษฐศาสตร์ที่สุดของมันคือของความคุ้ม คือสนใจว่าคุ้มไม่คุ้ม มันไม่ใช่กำไรหรือไม่กำไร”

ถ้าเด็กเศรษฐศาสตร์ที่เรียนจบ แล้วไปสมัครงานฝั่งธุรกิจเอกชน ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะถูกมองว่า Over Qualification หรือมีคุณสมบัติเกินกว่าที่หน่วยงานธุรกิจจะต้องการ “เพราะหน่วยงานธุรกิจเขาไม่ได้ต้องการคนที่รู้เรื่องสังคม รู้เรื่องรัฐบาล เขาอยากรู้แค่ว่าทำอย่างไร คุณจะทำกำไรให้บริษัทได้ไหม”

ศาสตราภิชาน แล ย้ำว่า “เศรษฐศาสตร์แต่เดิมมันไม่ได้มีไว้หาเงิน แต่พอมาในช่วงที่ธุรกิจบูมขึ้นมา เราก็พยายามที่จะเบี่ยงเศรษฐศาสตร์ให้ไปเปิดรับในส่วนที่หาเงินได้ ทั้งเรื่องดอกเบี้ย ทั้งเรื่องตลาดหลักทรัพย์ หลังจากนั้นเราก็ไปเอาส่วนที่โผล่เข้ามาในตลาด แล้วยกมันขึ้นว่า เศรษฐศาสตร์มันก็หาเงินได้ แต่ลืมไปว่า อีก 80% มันหากินไม่ได้กับตลาด แล้วพอวันนี้จะต้องไปแข่งกับคนอื่น ศาสตร์ที่หากินได้ มันเรียนง่ายกว่า แล้วคุณจะมาเรียนเศรษฐศาสตร์ทำไม

มากไปกว่านั้น อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่รู้คือ “เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีความเป็นกึ่งวิทยาศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการคำนวณนับ เพราะฉะนั้นมันใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์เยอะ มันพูดด้วยภาษาคณิตศาสตร์มากกว่าการพรรณาโวหาร” ดังนั้นสิ่งที่ต้องลงทุนลงแรงในการเรียนระดับนี้ เมื่อเทียบกับการหางานในภาคเอกชนแล้ว จึงทำให้หลายคนมองว่าไม่คุ้มในการเรียน ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะไปเรียนสาขาที่ทำเงินได้ง่ายกว่า อย่างเช่นบริหารธุรกิจ หรือบัญชีที่ตอบสนองต่อตลาดแรงงานโดยตรง

ศาสตราภิชาน แล ตอบคำถามถึงปัญหาที่บอกว่าเรียนเศรษฐศาสตร์จบไปแล้วสมัครงานยาก โดยระบุว่า “ที่บอกกันว่าสมัครงาน ต้องถามว่าสมัครที่ไหน ไปสมัครงานธุรกิจใช่หรือไม่ เพราะถ้าไปสมัครงานเอกชน มันอาจจะยากกว่าบัญชี เพราะว่าเนื้อหาวิชามันเป็นศาสตร์ว่าด้วยสังคม มันไม่ใช่ศาสตร์ว่าด้วยธุรกิจ เพราะฉะนั้นหน่วยงานธุรกิจ เขาจะเอาคนที่รู้เรื่องศาสตร์ทางสังคมเข้าไปทำไม แต่ถ้าคุณสมัครสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), กระทรวงการคลัง, สำนักงบประมาณ มันก็ต้องเอาคนที่จบสาขาวิชาทางเศรษฐศาสตร์อยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม ศาสตราภิชาน แล กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “อะไรที่มีไว้ขาย ตลาดวาย มีปัญหา แต่เศรษฐศาสตร์มันไม่ได้มีไว้ขาย มันเป็นรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นศาสตร์ว่าด้วยการปกครอง”

รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ผมเชื่อว่า ไม่มีศาสตร์ไหนที่ตายในโลกนี้ แต่ศาสตร์จะมีวิวัฒนาการ มีการเปลี่ยนแปลง”

รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองปรากฏการณ์ที่หลายคนพูดว่าเศรษฐศาสตร์ตายแล้วนั้น เป็นเพียงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะหัวใจสำคัญของทุกศาสตร์สาขาในโลก คือความเปลี่ยนแปลงของศาสตร์สาขาที่จะต้องข้ามไปสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ ในท้ายที่สุด

“ผมเชื่อว่า ไม่มีศาสตร์ไหนตายในโลกนี้ แต่ศาสตร์จะมีวิวัฒนาการ มีการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยมากขึ้น ศาสตร์เหล่านั้นควรจะต้องได้รับวิธีการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่”

การสอนในรูปแบบใหม่เกิดจากการผสมผสานทฤษฎีกับภาคปฏิบัติ เช่น วิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ที่สามารถนำมาใช้สอนในห้องเรียน โดยเชื่อมโยงเหตุการณ์จริงในโลกเข้ากับเนื้อหาวิชาการ

รศ.ดร.ชโยดม พาเราเข้าไปดูห้องเรียน Smart Classroom (ห้องเรียนในภาพด้านบน) โดยยกตัวอย่างสถานการณ์สมมติ เช่น แบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่มเพื่อแสดงบทบาทท่ามกลางการประกาศ Trade War ของสหรัฐอเมริกาและจีน โดยให้นักเรียนกลุ่มแรกเป็นคณะรัฐบาลไทย กลุ่มถัดมาเป็นกุนซือของรัฐบาลจีน และกลุ่มสุดท้ายเป็นคณะกรรมการอาเซียน

แน่นอนว่า การแสดงบทบาทสมมติจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ ลำพังเพียงใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว คงไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ ส่วนสำคัญคือการข้ามศาสตร์ เชื่อมโยงกับศาสตร์ต่างๆ ข้างเคียง เช่น รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ฯลฯ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เศรษฐศาสตร์ไม่มีวันตาย เพราะมีแต่จะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการอธิบายปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในโลกอยู่เสมอ

เศรษฐศาสตร์อยู่ด้วยตัวของตัวเองลำบาก อนาคตการบูรณาการข้ามศาสตร์มีความสำคัญมากขึ้น ไม่ใช่บอกว่าฉันจะสอนเศรษฐศาสตร์จ๋าของฉันไปเรื่อยๆ ไม่มีศาสตร์ไหนที่อยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง ผมมีความเชื่อว่าแบบนั้น ลองดูแพทย์ศาสตร์สิครับ ตอนหลังแพทย์ศาสตร์ก็มีการข้ามศาสตร์ คุยกันกับคณะวิศวะ ผมมีเพื่อนอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬา เป็นอาจารย์เปลี่ยนข้อหัวเข่า ก็ทำงานร่วมกับพวก Materials Science เพราะฉะนั้นทุกอย่าง มันเป็นเรื่องของการข้ามศาสตร์”

ผศ.ดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“อาชีพใหม่ๆ อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้เศรษฐศาสตร์โดยตรง เขาเลยออกไปหาความรู้ข้างนอก”

ผศ.ดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบคำถามว่าทำไมนักศึกษาในยุคนี้ถึงเรียนคณะเศรษฐศาสตร์น้อยลง โดยระบุว่า ตลาดแรงงานในโลกยุคนี้มีความหลากหลายมาก และที่สำคัญอาชีพเหล่านั้นอาจไม่ได้ต้องการความรู้จากสาขาเศรษฐศาสตร์หรือใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยใดๆ ด้วยซ้ำ

“ผมว่าสมัยนี้ตลาดแรงงาน dynamic มันสูงมาก แล้วมันมีความหลากหลาย อาชีพใหม่ๆ ก็เกิดขึ้น เช่น บล็อกเกอร์ เกมแคสเตอร์ ฟรีแลนซ์ทั้งหลาย ซึ่งอาชีพเหล่านี้ มันอาจจะไม่ได้จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์โดยตรง คือผมยังคิดว่าเศรษฐศาสตร์มีประโยชน์กับทุกอาชีพ แต่ว่าไม่ได้ใช้โดยตรง เขาเลยไปหาองค์ความรู้จากข้างนอก”

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือ “เทรนด์ของประเทศไทย ตอนนี้มันฮิตอะไรกัน เราก็ไปพูดถึง innovation พูดถึงการทำ Big Data การทำ Data Science พวกนี้มันก็เลยเริ่มมีคุณค่า (value) ที่นักเรียนนักศึกษาเริ่มสนใจขึ้นมา”

ส่วนในด้านการทำงาน อาชีพที่รองรับสายงานเศรษฐศาสตร์โดยตรง โดยเฉพาะในต่างประเทศ ค่อนข้างชัดเจนว่าส่วนใหญ่นักเศรษฐศาสตร์จะทำงานร่วมกับรัฐบาล แต่สำหรับประเทศไทย เอาเข้าจริงแล้ว ความต้องการนักเศรษฐศาสตร์ในสายงานด้านนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันบทวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์เพื่อนำไปปฏิบัติ หรือการนำเอาไอเดียจากงานวิจัยไปต่อยอด ถือว่ามีความต้องการสูงในตลาด แต่ปัญหาสำคัญคือกลไกที่มารองรับในส่วนนี้ของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพที่ดีมากเพียงพอ

บูรกร ทิพยสกุลชัย นักศึกษาปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บูรกร ทิพยสกุลชัย นักศึกษาปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ที่บอกว่าเรียนมาแล้วตกงาน มันก็มีคำถามว่า เอกชนต้องการนักเศรษฐศาสตร์แบบที่สอนกันมาแบบนี้หรือเปล่า”

บูรกร ทิพยสกุลชัย นักศึกษาปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบคำถามในประเด็นที่เด็กเศรษฐศาสตร์บอกว่าเรียนมาแล้วตกงานว่า “จริงๆ แล้ว มันก็มีคำถามว่า เอกชนเราต้องการนักเศรษฐศาสตร์แบบที่เราสอนออกมาแบบนี้หรือเปล่า”

เพราะโดยปกติแล้ว เราจะเข้าใจว่าเศรษฐศาสตร์คือสังคมศาสตร์ แต่อีกด้านหนึ่งที่พูดกันน้อยคือเศรษฐศาสตร์ใช้วิธีการเรียนแบบคณิตศาสตร์ชั้นสูง

“คือจริงอยู่ที่เศรษฐศาสตร์มันศึกษาเรื่องทางสังคม แต่วิธีที่เศรษฐศาสตร์มันศึกษา มันใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งมันทำให้การดำเนินนโยบายแม่นยำมากขึ้น เช่น การจะบอกว่าจะเก็บภาษี จะลดดอกเบี้ย เราควรจะทำเท่าไหร่ และผลกระทบเหล่านี้จะส่งผลต่อใคร อย่างไรบ้าง คือเศรษฐศาสตร์ก็ยังถามว่าคุ้มไม่คุ้มอย่างที่อาจารย์หลายคนบอก แต่เมื่อถามว่าคุ้มไม่คุ้มเท่าไหร่ ตรงคำว่าเท่าไหร่นี้สำคัญ เพราะมันต้องใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์มาคำนวณ”

สรุปก็คือ นักเศรษฐศาสตร์ที่ถูกสอนกันมาในบ้านเรา และถ้าบอกว่าเรียนจบมาแล้วตกงาน อาจจะต้องตั้งคำถามใหม่ว่า นักเศรษฐศาสตร์ในไทยเรียนวิธีคิดทางคณิตศาสตร์กันอย่างเข้มข้นเพียงพอหรือเปล่า

ส่วนคำถามที่ว่าเศรษฐศาสตร์ตายแล้วใช่หรือไม่ บูรกร มองว่า “เอาจริงๆ มันกลับกัน วิทยาศาสตร์ต่างหากที่มันตายไอน์สไตน์คิดสูตรที่ขยายกรอบของนิวตันออกไป คำถามคือ กรอบของนิวตันมันผิดไหม มันก็ไม่ผิด การยิงโปรเจคไตล์ สูตรมันถูกเสมอ ว่าคุณยิงเท่านี้ มุม 45 องศา มันยิงได้ไกลสุด ยังไงก็ถูก มันไม่มีทางผิด แต่เศรษฐศาสตร์ เมื่อมี Bitcoin ขึ้นมา สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้มันอาจจะล่มสลายไป คุณก็ต้องหาคำอธิบายมันขึ้นมาใหม่ เพราะมันคือสังคมมนุษย์ มันมีการเปลี่ยนแปลง”

ฐิตารีย์ อุดมกิจธนสาร นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 4
ฐิตารีย์ อุดมกิจธนสาร นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 4

“เศรษฐศาสตร์ไม่ได้ตาย เพียงแต่ว่าคนอาจจะเข้าใจมุมมองของวิชานี้ผิดไป”

ฐิตารีย์ อุดมกิจธนสาร นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 4 ร่วมแสดงความคิดเห็นโดยบอกว่า วิชาเศรษฐศาสตร์ในสายตาของเธอไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงเรื่องของภาพใหญ่ในสังคมที่เป็นเศรษฐศาสตร์มหัพภาค ซึ่งสัมพันธ์กับสังคม การเมือง หรือเรื่องระหว่างประเทศเท่านั้น แต่อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ เศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวัน

“เวลาเราเดินเข้าไปในร้านกาแฟ เราอาจจะเคยสังเกตว่าน้ำเปล่าในร้านกาแฟมีราคาแพงกว่าน้ำเปล่าในร้านสะดวกซื้อ หลายคนอาจจะรู้สึกว่าตั้งราคาที่แพงขนาดนี้มาได้อย่างไร ใครจะซื้อ แต่ถ้าเราเรียนเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์จะสอนลึกลงไปอีกขั้นหนึ่งว่า จริงๆ แล้วตัวร้านรู้อยู่แล้วว่า การตั้งราคาแบบนี้เป็นราคาที่คนทั่วไปไม่ซื้อแน่นอน แต่เขาตั้งมาเพื่อ target คนกลุ่มหนึ่งที่จงใจเดินเข้าร้านกาแฟเพื่อซื้อน้ำเปล่า คนกลุ่มนี้ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความอ่อนไหวต่อราคาที่ต่ำมากๆ และมีแนวโน้มที่จะยอมซื้อสินค้าราคาแพง ซึ่งเมื่อทางร้านรู้อยู่แล้ว เขาก็สามารถทำกำไรได้จากคนกลุ่มนี้ จะเห็นได้ว่า เศรษฐศาสตร์ก็จะสอนเรื่องราวใกล้ตัวแบบนี้ด้วย”

นอกจากนั้น ฐิตารีย์ ยังมองว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ตายอย่างที่หลายคน พูด “วิชาเศรษฐศาสตร์มันสามารถนำไปต่อยอดอะไรได้กว้างมาก ส่วนตัวมองว่าเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ตาย เพียงแต่ว่าคนอาจจะเข้าใจมุมมองของวิชานี้ผิดไป บางคนก็ถามว่า จบไปแล้วจะไปเล่นหุ้นหรอ คือจริงๆ จะบอกว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ มันสามารถนำไปต่อยอดอะไรได้กว้างมาก และอยากจะบอกว่าจริงๆ คนที่เรียนเศรษฐศาสตร์ทุกคน ไม่ได้เล่นหุ้นเก่ง และคนที่เล่นหุ้นเก่งทุกคน ก็ไม่จำเป็นจะต้องเรียนเศรษฐศาสตร์”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา