อีคอมเมิร์ซทะลัก มธ.รังสิต ขอความร่วมมือบุคลากร งดสั่งของส่วนตัวมาส่งที่มหาวิทยาลัย

ความนิยมในการซื้อสินค้าผ่าน e-commerce ทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นมาก ใครที่ไปที่ทำการไปรษณีย์ในช่วงหลังคงเห็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ นำสินค้ามาส่งกันเป็นกระสอบๆ และการให้ส่งสินค้าไปยังสถานที่ทำงาน กำลังกลายเป็นปัญหาต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานพัสดุเช่นกัน

มธ.ศูนย์รังสิต ขอความร่วมมือไม่สั่งของส่วนตัวมาส่งที่มหาวิทยาลัย

ล่าสุดมีหนังสือเวียนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอความร่วมมือให้บุคลากรของมหาวิทยาลัย ไม่สั่งซื้อสินค้าผ่าน e-commerce แล้วส่งมายังที่อยู่ของมหาวิทยาลัย เพราะปริมาณพัสดุจาก e-commerce เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นภาระของเจ้าหน้าที่กองบริหาร

ทางกองบริหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระบุว่าเจ้าหน้าที่ในห้องรับ-ส่งหนังสือ ต้องคัดแยกสิ่งของ และลงทะเบียนรับสิ่งของทุกชิ้นที่ส่งแบบลงทะเบียนหรือ EMS จากนั้น ต้องกระจายสิ่งของไปส่งยังผู้สั่งซื้อในแต่ละส่วนงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งสิ่งของเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นของส่วนตัวทั้งสิ้น

ทางกองบริหาร จึงขอความร่วมมือให้บุคลากรของมหาวิทยาลัย แจ้งที่อยู่เป็นที่พักอาศัยส่วนตัวแทน ยกเว้นผู้ที่อาศัยในอาคารหอพักของมหาวิทยาลัยเท่านั้น

การรับพัสดุสินค้า ปัญหาหรือโอกาสธุรกิจ?

ปัญหานี้สะท้อนให้เห็นทั้งเรื่องความนิยมของการซื้อสินค้าออนไลน์ ที่กลายเป็นภาระให้กับหน่วยงานบริหารเอกสารและพัสดุ แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราก็จะเห็นว่าการสั่งสินค้าให้ไปส่งที่บ้าน ซึ่งช่วงกลางวันของวันธรรมดาก็มักจะไม่มีคนอยู่รับไปรษณีย์ เพราะผู้อาศัยออกไปทำงาน ถือเป็นข้อจำกัดของหนุ่มสาวออฟฟิศในยุคปัจจุบันเช่นกัน

ตรงนี้ถือเป็นโอกาสธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อย อย่างในต่างประเทศเอง Amazon.com ก็มีบริหาร Locker ตามที่สาธารณะต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าสั่งสินค้าไปส่งที่ Locker ที่สะดวก และส่งโค้ดปลดล็อค Locker ให้ทางอีเมล เมื่อลูกค้าไปถึง Locker ก็ใช้โค้ดนี้เปิดเพื่อรับสินค้าของตัวเองได้ทันที

นอกจากนี้ อีกโมเดลหนึ่งที่อาจไม่ไฮเทคเท่า คือบริการรับส่งไปรษณีย์เอกชนที่อยู่ตามแหล่งชุมชนหรือสถานที่สัญจรสะดวก อาจเปิดบริการรับพัสดุแทนลูกค้าที่ไม่สะดวกรับในช่วงกลางวัน โดยคิดค่าบริการรับพัสดุเป็นรายชิ้น ก็น่าจะเป็นอีกทางออกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาได้เช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา