เกม E-Commerce ปีหน้าเตรียมเดือด JD.com-Amazon ยกทัพยึดไทย พร้อมเขี่ยรายย่อยตกขบวน

ตอนนี้ทุนต่างชาติอย่าง Alibaba เข้ามาทำตลาดไทยในนาม Lazada แล้ว และปีหน้ายักษ์ต่างชาติก็จะเข้ามาอีก ทั้งกลุ่ม JD.com รวมถึง Amazon.com ที่เพิ่งเข้าตลาดในสิงคโปร์เมื่อไม่นานมานี้ เล่นเอารายย่อยเหนื่อยแน่ๆ

ค้าออนไลน์รายย่อยอยู่ยากถ้าไม่ปรับตัว

อย่างที่รู้กันว่าเบอร์หนึ่งของ E-Commerce ในประเทศไทยอย่างไรก็คงไม่พ้น Lazada ที่เพิ่งถูก Alibaba ซื้อไปเมื่อปีก่อน และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็เพิ่งมี 11Street จากเกาหลีเข้ามาอีก รวมถึง Shopee ของกลุ่ม SEA (Garena เดิม) ที่เดินเกมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาด E-Commerce ในประเทศไทยตอนนี้เต็มไปด้วยยักษ์ใหญ่ต่างชาติ

ทอม ศรีวรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม aCommerce ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า ปีหน้าดีกรีการแข่งขันของ E-Commerce ในประเทศไทยจะหนักหน่วงกว่านี้อีก เพราะตามหน้าข่าวก็มีกลุ่มเซ็นทรัลที่จับมือกับ JD.com คู่แข่งของ Alibaba เพื่อเข้ามาทำตลาดไทยอย่างเป็นทางการ รวมถึงฝั่ง Amazon.com ก็จะเข้ามาอีก

ทอม ศรีวรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม aCommerce ประเทศไทย

“ผมได้ยินข่าวว่า ปีหน้า Amazon.com จะเข้ามาทำตลาดในไทยอย่างเป็นทางการ และจุดนี้ทำให้การแข่งขันของ E-Commerce มันเดือดขึ้นแน่ๆ รายย่อยถ้าไม่ปรับก็ลำบาก แต่มันก็มีแง่บวกบ้าง เพราะผู้ซื้อก็จะเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งการส่งที่เร็วขึ้น โปรโมชั่นลดราคาแรงกว่านี้อีก เหมือนที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา และยุโรป”

เหลือแค่ 5 ราย และ Niche คือคำตอบ

ในฐานะที่ aCommerce ทำงานกับแพลตฟอร์ม E-Commerce และแบรนด์ต่างๆ ในอาเซียนจำนวนมาก จึงเห็นว่า ผู้เล่นหลักในตลาดจริงๆ ควรจะมีแค่ 5 ราย ซึ่งหากมองปีหน้าในประเทศไทยทั้งหมดคงเป็นบริษัทต่างชาติ และกินส่วนแบ่งกว่า 90-95% ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีกนับสิบรายจะกินส่วนแบ่งราว 0.1-0.5% เท่านั้น

Konvy หนึ่งในเว็บไซต์ E-Commerce ที่จำหน่ายเฉพาะเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว

อย่างไรก็ตามผู้เล่นท้องถิ่นยังมีโอกาสรอดในตลาด หากเริ่มต้นเปลี่ยนตัวเองไปจำหน่ายสินค้าเพียงบางชนิด หรือ Niche Market แทน เพราะถ้าไปขายสินค้าหลากหลายเหมือน Lazada และ Amazon แค่ตัว Scale ในการทำตลาดก็ไม่สามารถสู้ได้ ที่สำคัญกลยุทธ์ดังกล่าวถูกพิสูจน์ในต่างประเทศแล้วว่าอยู่รอดได้จริง

สำหรับสินค้าที่น่าจับตามองในการประยุกต์สู่ Niche Market เช่นเครื่องสำอาง เพราะปัจจุบันผู้หญิงในประเทศไทยมีสัดส่วนมากกว่าผู้ชาย และด้วยชีวิตที่เร่งรีบทำให้การซื้อสินค้าผ่านออนไลน์น่าจะตอบโจทย์กว่า นอกจากนี้กลุ่มแม่และเด็กก็เป็นอีกกลุ่มสินค้าที่น่าสนใจ เนื่องจากแม่ต้องการความสะดวก และราคาที่เหมาะสม

Cross-Border จะบูมหากรัฐเอื้อภาษี

“อีกทิศทางที่น่าจับตามองคือ การขายสินค้าแบบ Cross-Border หรือการส่งสินค้าข้ามประเทศ ผ่านราคาที่เทียบเท่า หรือสูงกว่าการฝากเพื่อนหิ้วจากต่างประเทศเพียงเล็กน้อย แต่มันจะเกิดเร็วขึ้นหากรัฐไทยสนับสนุนเรื่องภาษี เช่นการลดอัตราการเก็บให้ต่ำลง เพื่อหยุดการลักลอบนำเข้าสินค้าเข้ามาโดยไม่สำแดง แถมรัฐยังได้ภาษีเหมือนเดิม”

นอกจากนี้เรื่อง Omni-Channel ก็เป็นอีกสัญญาณดีที่ทำให้กลุ่มค้าปลีกในประเทศไทยเริ่มขยับตัวไปสู่โลกออนไลน์ เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปมากขึ้น เพราะเมื่อตัวค้าปลีกมีช่องทางจำหน่ายที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว การนำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้ ก็ทำให้เข้าใจลูกค้า และสามารถจำหน่ายสินค้าได้มากกว่าเดิมด้วย

ซึ่งทาง aCommerce ก็เตรียมระบบต่างๆ ภายใต้แนวคิด Unified Commerce หรือการรวมถึง Platform ทุกอย่างเอาไว้ตั้งแต่ให้คำปรึกษา, การพัฒนาระบบ, การบริหารหน้าร้านออนไลน์ และการส่งสินค้า ทำให้ปัจจุบันเป็นเบอร์หนึ่งเรื่องบริการ E-Commerce ในอาเซียน ผ่านการทำตลาดทั้งหมด 4 ประเทศ โดยมีไทยเป็นสำนักงานใหญ่ และสร้างรายได้ 50% ของบริษัท

สรุป

หากไม่ปรับตัว E-Commerce ในประเทศไทยเหนื่อยแน่ อย่างที่เห็นว่าฝั่ง Ascend ก็เริ่มถอยการลงทุนทั้ง WeLoveShopping และ WeMall รวมถึงฝั่ง Tarad ที่เริ่มต้นมาก่อนก็ไม่ได้เข้ามามีบทบาทอะไรนัก ในทางกลับกันฝั่งยักษ์ใหญ่ทั้ง Platform และแบรนด์ยักษ์ใหญ่ ต่างมองช่องทางนี้ว่ายังไปได้ และใส่เงินเพิ่มจากปีก่อนถึง 200% ก็มีให้เห็นแล้ว ส่วนตัวจึงเชื่อว่าปีหน้า หรือไม่ช้าก็เร็ว ยักษ์จากต่างประเทศคงยึดหัวหาดในไทยไปทั้งหมด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา