เสรีขายไฟฟ้าเติมรถ “กฟน.” เปิดช่อง และ EA คือเอกชนรายแรกที่ขยายสถานีจ่ายไฟทั่วประเทศพันแห่ง

รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) นั้นเป็นกระแสไปทั่วโลก และรัฐบาลไทยก็อยากให้มีรถประเภทนี้วิ่งในประเทศราว 1.2 ล้านคันในปี 2579 แต่สิ่งที่ทำเป็นที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ก็คือสถานีจ่ายไฟที่ต้องมีให้เยอะเหมือนปั๊มน้ำมัน

สถานีชาร์จไฟของ EA สามารถชำระเงินได้ด้วยบัตรเครดิต ผ่าน Application บน Smartphone

เสรีขายไฟฟ้า แค่เซ็น MOU กับกฟน.

ก่อนหน้านี้การจะขายไฟฟ้าให้กับผู้บริโภคโดยตรงนั้นถูกควบคุมเฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ที่เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ระบบการผลิตพลังงานความร้อน และไฟฟ้าร่วมกัน (Cogeneration) หรือการผลิตไฟฟ้า โดยใช้พลังงานนอกรูปแบบ กากหรือเศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิง แถมยังจำกัดเฉพาะการขายเฉพาะผู้บริโภคที่อยู่ใกล้เคียงเท่านั้น

แต่ถ้ายังเป็นอย่างนั้นอยู่ โอกาสที่ไทยจะตามกระแส EV เหมือนกับต่างประเทศก็คงยาก ดังนั้นการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จึงตัดสินใจเปิดช่องว่างให้กับผู้ที่สนใจทำสถานีจ่ายไฟฟ้าสำหรับ EV มาติดต่อ เพื่อทำให้การใช้งาน EV ในประเทศไทยเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางนโยบายเอาไว้

ชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เล่าให้ฟังว่า นอกจากการนำสายไฟฟ้าลงดิน ทางหน่วยงานยังเปิดให้บริษัทเอกชนเขามาร่วมพัฒนาสถานีจ่ายไฟฟ้าสำหรับ EV แต่ต้องทำการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) เสียก่อน เพื่อเปิดเผยข้อมูลทางธุรกิจให้แก่หน่วยงาน เพราะต้องนำไปวางแผนการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตอีกทอดหนึ่ง

สถานีชาร์จไฟที่ห้างสยามพารากอน // ภาพจาก Facebook Page ของ EA Anywhere

ปี 61 มี 1,000 สถานีในประเทศไทย

“ที่เราต้องให้มาเซ็น MOU เพราะต้องการให้ฝั่งเอกชนเปิดเผยแผนธุรกิจว่าจะขยายสถานีจ่ายไฟเยอะแค่ไหน ที่ใดบ้าง และเมื่อรู้ก็จะได้วางแผนซื้อไฟฟ้าจากฝ่ายผลิตถูก รวมถึงปรับปรุงอุปกรณ์ทั้งสายไฟ รวมถึงตัวหม้อแปลงที่ต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับตัวสถานีจ่ายไฟที่ตัวๆ หนึ่ง ก็กินไฟไม่ใช่น้อย ถ้าเราไม่รู้เกิดจ่ายไฟไม่พอ แล้วชาร์จไม่ได้ก็คงผิดที่เราอีก” ชัยยงค์ กล่าว

สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA เสริมว่า บริษัทเป็นเอกชนรายแรกที่ลงนาม MOU กับทางกฟน. เพื่อเตรียมขยายสถานีชาร์จไฟฟ้ารถยนต์ภายใต้ชื่อ EA Anywhere กว่า 1,000 สถานีภายในปี 2561 โดยเริ่มต้นทดลองในห้างสยามพารากอน กับสยามเซ็นเตอร์ก่อน และระหว่างนี้จะให้ชาร์จฟรีในระยะเวลา 3 ชม. จนถึงสิ้นเดือนต.ค. ถึงจะมีค่าใช้จ่าย

“ในเรื่องราคามันยังไม่ชัดเจน เพราะมันขึ้นอยู่กับสถานที่ที่เราไปให้บริการด้วย เช่นเบื้องต้นในสยามพารากอนน่าจะคิด 50 บาท/ชม. และภายในปีนี้น่าจะเห็น 100 สถานีในกรุงเทพ และปริมณฑลได้ ผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรทั้งห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และโครงการคอนโดมิเนียมต่างๆ ส่วนในต่างจังหวัดคงต้องรออีกระยะหนึ่ง และการขยายจะไปกับปั๊มน้ำมัน Susco ที่มีพื้นที่ในต่างจังหวัดอยู่แล้ว” สมโภชน์ กล่าว

ลงทุนผลิตแบตฯ Lithium ส่งออกอาเซียน

สำหรับการทำตลาด EA Anywhere บริษัทได้แต่งตั้งบริษัทลูก พลังงานมหานครมารับผิดชอบเรื่องนี้ และใช้งบลงทุนกว่า 600 ล้านบาทในการลงทุนโครงการนี้ คาดว่าจะคืนทุนใน 5-7 ปี โดยตัวสถานีชาร์จไฟฟ้ารถยนต์จะใช้หัวชาร์จแบบ Type 2 ใช้กับรถยนต์ได้กือบทุกรุ่นในตลาดไทยตอนนี้ และอนาคต ซึ่งช่วงแรกจะเป็นเทคโนโลยีการชาร์จแบบธรรมดา แต่หลังจากนี้จะมีตัว Quick Charge เพื่อทำให้ชาร์จเพียง 10-15 นาที ก็วิ่งได้ 200-250 กม.

ขณะเดียวกัน ทาง EA ยังเตรียมลงทุนกว่าแสนล้านบาทเพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ Lithium เน้นที่การส่งออกไปในอาเซียน และใช้เป็นตัวสำรองไฟเพื่อใช้กับสถานีชาร์จไฟของทางบริษัทเช่นกัน โดยตัวโรงงานคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2564 มีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 50,000 MWh ผ่านการนำเทคโนโลยีที่บริษัทไปลงทุนกับบริษัทสร้างแบตเตอรี่ในไต้หวันมาประยุกต์ใช้

สรุป

สถานีชาร์จไฟฟ้านั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นหากจะสนับสนุนให้ EV เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้นเชื่อว่าหลังจากนี้คงมีผู้ประกอบการที่ยอมเจ็บตัวในระยะแรก และมีสายป่านยาว ติดต่อการไฟฟ้าทั้งนครหลวง และภูมิภาค เพื่อขายไฟฟ้าให้กับผู้บริโภคได้โดยตรง แต่กว่าจะถึงจุดนั้น ผู้ที่สนใจทำธุรกิจนี้ก็คงดูรูปการณ์ของ EA ก่อน ว่าสามารถเดินหน้าเรื่องนี้ไปได้ขนาดไหน

อ้างอิงส่วนหนึ่งจาก EPPO

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา