รู้จักรถเมล์สีน้ำเงิน รถเมล์ไฟฟ้า จากภาษีคนสวิส แลกกับคาร์บอนเครดิตจากไทย

หลังจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนเริ่มรุนแรงมากขึ้น พลังงานสะอาดกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทุกคนมองหาโดยเฉพาะในภาคการคมนาคมที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มหาศาลจากการใช้น้ำมัน รถยนต์ไฟฟ้ามีบทบาทสำคัญขึ้นผ่านการที่รัฐบาลในหลายประเทศตั้งเป้าเพิ่มรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดการใช้รถยนต์น้ำมัน

เมื่อปีที่แล้ว คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติหรือบอร์ด EV ได้กำหนดนโยบาย 30@30 คือ ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์หรือ ZEV (Zero Emission Vehicle) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 เราจึงเริ่มเห็นรถยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนนมากขึ้น

การคมนาคมสาธารณะก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน หลายคนอาจเคยเห็นรถเมล์ไฟฟ้าสีน้ำเงินที่ดูแปลกตา แต่รู้หรือไม่ว่ารถเมล์ไฟฟ้าที่เราเห็นมาจากภาษีของคนสวิสเซอร์แลนด์ 

รถเมล์ไฟฟ้า จากภาษีคนสวิตเซอร์แลนด์

รถเมล์ไฟฟ้าสีน้ำเงินที่วิ่งอยู่ตามท้องถนนรอบกรุงเทพฯ มาจากโครงการ E-Bus Programme ที่ดำเนินการโดยบริษัทเอกชนอย่างบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด มหาชน โดยให้บริการตามเส้นทางที่กำหนดเฉพาะภายในกรุงเทพฯ เท่านั้น ส่วนสาเหตุที่เรายังไม่ค่อยคุ้นตากันเท่าไรก็เพราะว่าโครงการนี้เพิ่งจะริเริ่มเมื่อปีที่แล้วนี้เอง

เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเพิ่งจะมีมติเห็นชอบหนังสือการอนุญาต (Letter of Authorization: LoA) ให้ดำเนินโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชนเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ) หรือก็คือรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน

จุดประสงค์ของการใช้รถเมล์ไฟฟ้าในโครงการ E-Bus คือ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และลดมลภาวะจากรถเมล์ควันดำแบบเดิมที่ใช้น้ำมัน มีการตั้งเป้าว่าจะใช้รถเมล์ไฟฟ้าทดแทนรถเมล์ที่ใช้น้ำมันให้ได้ 100% 

นอกจากนี้ รัฐบาลคาดกว่าจะสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคันต่อปี เท่ากันว่าจะลดให้ได้อย่างน้อย 500,000 ตันภายในปี 2030 นับรวมเป็นระยะเวลา 10 ปี 

ปัจจุบัน ไทยยังไม่ได้ใช้รถเมล์ไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งสาธารณะหลักของประเทศเนื่องจากปัญหาการขาดโครงสร้างพื้นฐานและขีดความสามารถในการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าและการชาร์ตแบตเตอรี่ ในโครงการนี้ จึงเป็นโครงการแรกที่เริ่มผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าและจะมีการสร้างเครือข่ายสถานีชาร์ตด้วย

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของไทยส่วนหนึ่งมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงรถยนต์

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2022 ไทยและสวิตเซอร์แลนด์เพิ่งจะลงนามความตกลงเพื่อดำเนินกิจกรรมที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศภายใต้ความตกลงกรุงปารีสมาตรา 6 ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันลดคาร์บอนไดออกไซด์

โครงการ E-Bus จึงเป็นโครงการที่เกิดขึ้นภายใต้ของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2016 มาตรา 6 ผ่านมูลนิธิจากสวิตเซอร์แลนด์อย่าง KLiK (The Foundation for Climate Protection and Carbon Offset) เป็นผู้ดูแล โดยได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในต่างประเทศตามข้อตกลงปารีสมาตรา 6.2 ภายใต้กฎหมายว่าด้วยสภาพภูมิอากาศของสวิตเซอร์แลนด์

ภาษีของคนสวิตเซอร์แลนด์เปลี่ยนเป็นรถเมล์ไฟฟ้าได้อย่างไร ?

สวิตเซอร์แลนด์มีแผนการที่จะลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ภายในประเทศลง 30% ในปี 2023 และลดคาร์บอนไดออกไซด์ลง 20% ในต่างประเทศในช่วงเวลาเดียวกัน จึงได้มีการประกาศใช้กฎหมาย CO2 Act เพื่อปริมาณลดคาร์บอนไดออกไซด์

กฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์บังคับใช้ในหลายอุตสาหกรรม ข้อบังคับที่สำคัญข้อหนึ่ง คือ เมื่อคนสวิตเซอร์แลนด์เติมน้ำมันทุก 1 ลิตร จะมีการคิดภาษีหรือค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมรวมกับราคาน้ำมัน จากนั้นภาษีจะถูกบริจาคไปยังมูลนิธิ KLiK เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปสนับสนุนโครงการที่สวิตเซอร์แลนด์ทำในประเทศอื่น ๆ เพื่อช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น เท่ากับว่าเงินที่สนับสนุนโครงการ E-Bus ก็มาจากคนสวิตเซอร์แลนด์ทุกคนที่เติมน้ำมันรถยนต์

นอกจากนี้ ยังมียังมีภาษีจากการจำหน่ายตั๋วเครื่องบินด้วย ซึ่งรายได้นี้จะนำมาบริจาคให้มูลนิธิที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อนำเงินส่วนนี้ไปสนับสนุนโครงการทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรถยนต์ไฟฟ้าหรือการซื้อแผงโซลาร์เซลล์มาติดตามอาคาร

สวิตเซอร์แลนด์ได้อะไรกลับคืนจากการลงทุนกับรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ?

ไทยได้ใช้บริการรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งได้ประโยชน์จากการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่น PM 2.5 แล้วสวิตเซอร์แลนด์จะได้อะไรจากการเข้ามาลงทุนกับรถยนต์ไฟฟ้าให้ประเทศไทย

คำตอบ คือ คาร์บอนเครดิต

ข้อตกลงปารีส มาตรา 6 ระบุว่าพื่อส่งเสริมให้แต่ละประเทศร่วมมือกันเพื่อหาวิธีจัดการกับภาวะโลกร้อนโดยเฉพาะการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยแต่ละประเทศที่ลงนามในข้อตกลง จะต้องมีมาตรการสนับสนุนที่เรียกว่า  Nationally Determined Contributions หรือ NDC เพื่อกำหนดว่าจะทำอะไรเพื่อชะลอจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศบ้าง

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการนำกลไกตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อเพื่อจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 

คาร์บอนเครดิตการเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมที่สามารถลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จะได้รับ โดยคาร์บอนเครดิตจะมีค่าเท่ากับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงได้ 1 ตัน อุตสาหกรรมที่มีคาร์บอนเครดิตจะสามารถนำไปขายให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็นจะต้องดำเนินกระบวนการที่จำเป็นต้องปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม คาร์บอนเครดิตไม่ได้ถูกใช้ระหว่างอุตสาหกรรมใหญ่ในประเทศหนึ่ง ๆ เท่านั้น แต่ใช้ในระหว่างประเทศด้วย ตามปกติ ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์มากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาและลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ยากเพราะอุตสาหกรรมเติบโตมากกว่าและมีมูลค่ามากกว่า สิ่งที่ประเทศเหล่านี้จะทำตามความตกลงได้ คือ การไปลงทุนสนับสนุนให้ประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ แล้วประเทศที่ไปลงทุนก็จะได้คาร์บอนเครดิตไป

เช่นเดียวกับที่สวิตเซอร์แลนด์เข้ามาลงทุนกับโครงการ E-Bus ในไทยผ่านการดำเนินการของมูลนิธิ KLiK ตามกรอบการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ (ITMOs) ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงต้องอนุมัติหนังสือการอนุญาตหรือ LoA เพื่อมอบหมายต่อให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามเพื่อถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2021-2030 ให้แก่มูลนิธิ KLiK 

อ้างอิง – KLiK 1, KLiK 2, KLiK 3, รัฐบาลไทย 1, รัฐบาลไทย 2, NBC News

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา