เปิดวิธีกำจัดฝุ่นสไตล์สิงคโปร์ ใช้กฎหมายควบคุมมลพิษข้ามแดน จัดการกับแหล่งมลพิษทั้งในและนอกประเทศ

เปิดกฎหมาย Transboundary Haze Pollution Act กฎหมายจัดการมลภาวะข้ามแดนที่ทำให้สิงคโปร์จัดการฝุ่น PM 2.5 ได้อยู่หมัดแม้ต้องสุ่มเสี่ยงละเมิดอธิปไตยเพื่อนบ้าน

ใช้รถฉีดน้ำก็แล้ว ทำฝนเทียมเพื่อกำจัดฝุ่นก็แล้ว แต่รัฐบาลไทยก็ไม่สามารถกำจัดฝุ่น PM 2.5 ที่ลอยฟุ้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงได้ งานนี้รัฐบาลอาจจะต้องศึกษานโยบายของหลาย ๆ ประเทศและนำมาปรับใช้บ้าง

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้เป็นปัญหาของประเทศไทยแค่ที่เดียว แต่เกิดขึ้นในประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในเอเชีย สิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองเช่นเดียวกัน แต่สิงคโปร์กลับมีคุณภาพอากาศดี

สาเหตุที่สิงคโปร์มีคุณภาพอากาศสูงเป็นเพราะมีการบังคับใช้กฎหมาย Transboundary Haze Pollution Act หรือ THPA ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2014 เพื่อจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศข้ามแดน โดยกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลในการจัดการกับทั้งบริษัทและปัจเจกบุคคลทั้งในสิงคโปร์และประเทศอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศที่กระทบต่อคุณภาพอากาศของสิงคโปร์ได้โดยตรง

กฎหมายถูกเสนอต่อรัฐสภาของสิงคโปร์หลังจากเกิดปัญหาไฟป่าจากอินโดนีเซียในปี 2013 ซึ่งกระทบต่อคุณภาพอากาศของสิงคโปร์อย่างหนัก 

จากผลของกฎหมายฉบับนี้ หากองค์กรใดหรือบุคคลใดเผาป่าหรือพื้นที่ทางเกษตรจนเกิดมลภาวะที่กระทบต่อคุณภาพอากาศของสิงคโปร์จะต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินสูงสุด 100,000 ดอลลาร์หรือราว 3.5 ล้านบาทต่อวัน โดยมีเพดานค่าปรับสูงสุดอยู่ที่ 2 ล้านดอลลาร์หรือราว 70 ล้านบาท รวมทั้งยังมีโทษจำคุกอีกด้วยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการกระทำผิด โดยสิงคโปร์ใช้เกณฑ์วัดคุณภาพอากาศกำหนดให้ค่ามลภาวะสูงตั้งแต่ 101 ขึ้นไปเป็นเวลา 24 ชั่วโมงขึ้นไปถือว่าคุณภาพอากาศแย่

ค่าปรับที่คิดตามจำนวนวันที่ก่อให้เกิดมลพิษมีจุดประสงค์เพื่อให้แหล่งสร้างมลพิษควบคุมและดับไฟให้เร็วที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าปรับจำนวนมหาศาล

ส่วนกระบวนการทางกฎหมาย หากองค์การสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (NEA) ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย THPA ตรวจสอบแล้วพบว่ามีผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดแม้ว่าจะอยู่ในประเทศอื่น ก็สามารถสืบหาหลักฐานและเข้าไปตรวจสอบเองได้เลยโดยไม่ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ของประเทศนั้น ๆ รวมทั้งผู้ที่กระทำความผิดก็จะต้องมาขึ้นศาลในสิงคโปร์ซึ่งมีสิทธิตัดสินได้เลยตามกฎหมาย

แม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้จัดการกับต้นเหตุของการเผาพื้นที่การเกษตรได้ทั้งหมด แต่ก็ทำให้รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ระมัดระวังและให้ความสำคัญกับเรื่องมลภาวะมากขึ้น อย่างเช่น รัฐบาลอินโดนีเซียก้ได้ลงทุนกับระบบตรวจสอบไฟป่าและการเผาในที่โล่งของประชาชนเอง รวมทั้งยังมีพื้นที่ทดลองที่มีการใช้อุปกรณ์ตรวจสอบและควบคุมสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ด้วย

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก Transboundary Haze Pollution Act (THPA) ของสิงคโปร์หลายครั้ง อย่างกรณีเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมปี 2015 เป็นหนึ่งในครั้งที่มีการบันทึกคุณภาพอากาศที่แย่ที่สุดครั้งหนึ่งในสิงคโปร์ ในปีเดียวกันนี้ NEA ได้เข้าตรวจสอบบริษัทของอินโดนีเซีย 4 แห่ง คือ PT Bumi Andalas Permai, PT Bumi Mekar Hijau, PT Sebangun Bumi Andalas Woods Industries and PT Rimba Hutani Mas ซึ่งเป็นบริษัทซัพพลายเออร์และบริษัทลูกของบริษัทผู้ผลิตกระดาศที่ชื่อ Asia Pulp and Paper และมีออฟฟิศอยู่ในสิงคโปร์ ผลปรากฎว่าในปี 2021 ทั้ง 4 บริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายข้ามแดนอย่าง THPA อาจสุ่มเสี่ยงเรื่องอธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้านอยู่ด้วย อย่างกรณีอินโดนีเซียที่กำหนดว่าผู้ที่ทำผิดตามกฎหมายของสิงคโปร์จะยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิดตามทันทีในประเทศอินโดนีเซีย แต่จะต้องตรวจสอบและพิจารณาตามกฎหมายของอินโดนีเซียอีกทีก่อน ขณะที่ประเด็นเรื่องฝุ่นควันกับสิงคโปร์ ภาครัฐของอินโดนีเซียระบุว่าจะปฏิบัติตามกฎหมาย Asean Agreement on Transboundary Haze Pollution ที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ที่สิงคโปร์และอินโดนีเซียลงนามร่วมกันเป็นหลัก

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย ไทยยังไม่มีกฎหมายที่ตราขึ้นมาเพื่อควบคุมฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะ แต่มีการบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยมีกรมควบคุมมลพิษดูแลในส่วนนี้เป็นหลัก

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาในที่โล่งก็อย่างเช่นพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเผาในที่โล่งที่ไม่ใช่ไฟป่าอย่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ 2535

ส่วนมลภาวะที่เกิดจากการคมนาคมขนส่ง มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ที่มุ่งควบคุมการปล่อยควันจากท่อไอเสียของพาหนะบนท้องถนนเป็นหลัก หรือกฎหมายที่ควบคุมมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมก็อย่างเช่น พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เป็นต้น

ทั้งนี้ กฎหมายของไทยยังไม่ได้มีประสิทธิภาพมากนัก สังเกตจากการที่กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่ประสบกับปัญหาฝุ่นละอองและมีค่าฝุ่นมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอยู่ เป็นไปได้ว่ารัฐบาลอาจจะต้องบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งปล่อยมลภาวะให้เข้มงวดมากขึ้น หรืออาจจะต้องร่างกฎหมายใหม่เพื่อจัดการกับคุณภาพอากาศโดยเฉพาะแทนการฉีดน้ำหรือการขอความร่วมมือให้ประชาชนทำงานที่บ้านแทนเมื่อมีค่าฝุ่นสูงซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

อ้างอิง – WRI, The Straits Times, รัฐบาลไทย, UN

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา