ดีแทค ขอลงทุน 4G รองรับใช้งานให้ดีที่สุด ส่วน 5G เหมือนมาราธอน อีก 3-5 ปีค่อยวัดกัน

ขณะที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยกำลังแข่งขันกันเรื่อง 5G ทั้งในแง่การลงทุน และการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน แต่ dtac มองเรื่องนี้แตกต่างออกไป

5G คือเรื่องของมาราธอน อีก 3-5 ปีค่อยวัดกัน

ฮาว ริ เร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ dtac บอกว่า 5G เป็นเหมือนการแข่งขันวิ่งมาราธอน ไม่ได้วัดชัยชนะกันในปีนี้ อย่างน้อยต้องอีก 3-5 ปีข้างหน้า ขณะที่ปัจจุบัน dtac จะเน้นให้บริการตามความต้องการและประสบการณ์ของลูกค้า เน้นที่การเชื่อมต่อที่มีคุณภาพ และความเร็วอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพก่อน

“dtac ยังไม่มีการให้บริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ แต่ผู้บริโภคไม่ได้เน้นว่าต้องเป็น 4G หรือ 5G ขอให้บริการที่ดีเพียงพอกับความต้องการ ใช้งานได้จริงและครอบคลุมก็เพียงพอแล้ว”

ส่วนจำนวนลูกค้าที่ลดลงช่วงไตรมาส 2 ประมาณ 8-9 แสนราย ส่วนหนึ่งเพราะนักท่องเที่ยวที่หายไป ดีแทค มีลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวมากที่สุดในตลาดจึงได้รับผลกระทบ รวมถึงแรงงานต่างด้าวก็มีส่วนด้วย แต่มั่นใจว่าตัวเลขผู้ใช้ 19 ล้านราย เป็นตัวเลขที่การใช้งานแอคทีฟ

เน้นบริการในราคาที่เป็นมิตร รับเศรษฐกิจถดถอย

ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ dtac บอกว่า เป้าหมายสำคัญครึ่งปีหลัง 2563 ต้องมีบริการที่ดีในราคาที่จับต้องได้ มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังไม่ดีแน่นอน โดย GDP จะติดลบ 8% มีคนเสี่ยงตกงานประมาณ 8.3 ล้านคน จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2563 หายไป 80% เมื่อเทียบกับปี 2562 ความถี่ในการเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือ มากกว่า 36 เดือนแสดงให้เห็นถึงการรัดเข็มขัดการใช้เงินน้อยลง

เมื่อผู้ใช้งานมีการเคลื่อนย้ายไปต่างจังหวัดมากขึ้น dtac ได้เน้นพัฒนาโครงข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น โดยจากการสำรวจพบว่า พื้นที่ต่างจังหวัดมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับในกรุงเทพ ขณะที่ภาพรวมการใช้งานดาต้าต่อเดือนต่อผู้ใช้งาน ช่วง ม..​-มิ.. ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 44%

dtac ลงทุนต่อ เน้น Massive MIMO – 4G TDD

  • ขยายบริการคลื่น 2300 MHz ร่วมกับทีโอที โดยตั้งเป้าเพิ่มสถานีฐานบนเครือข่าย 4G-TDD เป็นจำนวนมากกว่า 2 หมื่นสถานีฐาน ภายในปี 2563
  • เร่งขยาย Massive MIMO ในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีกว่าเดิม 3 เท่า 
  • เดินหน้าติดตั้งสถานีฐาน 5G คลื่น 26 GHz และคลื่น 700 MHz (รอใบอนุญาตจาก กสทช.) สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เช่น กล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ และ Fixed Wireless Access (FWA) หรือบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงประจำที่
  • ติดตั้งคลื่น 700 MHz เพื่อครอบคลุมสัญญานในภูมิภาคสำคัญ

dtac เตรียมงบลงทุนปีนี้ 8,000 – 10,000 ล้านบาท สำหรับการขยายโครงข่าย Massive MIMO และ 4G TDD เพื่อรองรับผู้ใช้ทั่วไป ขณะที่การใช้งานคลื่น 700 MHz ที่จะมาทำ 5G อยู่ระหว่างรอใบอนุญาตจาก กสทช. สำหรับคลื่น 26 GHz ที่จะมาให้บริการ 5G จะเน้นผู้ใช้ระดับองค์กรก่อน ซึ่งจะตรงกับการใช้งานและช่วยผลักดัน 5G ได้ดีกว่า

ขณะที่ผู้ใช้ทั่วไป 4G ก็เพียงพอกับการใช้งานแล้ว การจะใช้ 5G ยังต้องรออุปกรณ์ (มือถือ, คอมพิวเตอร์ ฯลฯ) มารองรับการใช้งาน

Tight-Loose-Tight ปรับรูปแบบการทำงานใหม่ รับมือโควิด

ชารัด บอกว่า จากสถานการณ์โควิด dtac มีการปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์โดยที่ประสิทธิภาพการทำงานต้องไม่ลดลง โดยใช้แนวคิดแบบชัดเจน-ยืดหยุ่น-ชัดเจน (tight-loose-tight) คือ ต้องชัดเจนในเรื่องความคาดหวัง ยืดหยุ่นในวิธีการที่พนักงานใช้บรรลุเป้าหมาย และชัดเจนในเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบ

“dtac เชื่อว่าพนักงานมองหารูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เนื่องจากการทำงานลักษณะนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกมีอิสระในการตัดสินใจ อันจะช่วยเพิ่มประสิทธิผล และความพึงพอใจของพนักงาน”

บริษัทได้ นำระบบ Automation มาใช้ 100% เพื่อร่นระยะเวลาการทำงาน ป้องกันความผิดพลาด และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ซึ่งการปรับตัวครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อลดจำนวนคน แต่เพื่อให้คนมีเวลาว่างไปคิดงานสร้างสรรค์ และทำงานที่มีคุณค่ามากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

Freelance Writer ที่ Brand Inside สนใจเรื่องแบรนด์ การตลาด เทคนิคการทำงาน และการบริหารองค์กร ชอบงานสัมภาษณ์เป็นพิเศษ : )