ไปรู้จัก 4 สตาร์ทอัพไทย ที่ชนะในเวที dtac Accelerate batch 5 มาแบบสดๆ ร้อนๆ

ผ่านพ้นไปกับการเฟ้นหา Startup ไทยในโครงการบ่มเพาะของ dtac Accelerate batch 5 และวันนี้ก็ได้ทีมผู้ชนะเรียบร้อยแล้ว เราไปทำความรู้จักแต่ละทีมกันเลยดีกว่า

สำหรับรอบสุดท้ายนี้มีทีมสตาร์ทอัพที่ผ่านเข้ารอบมาทั้งหมด 12 ทีม โดยในวันคัดเลือกทีมผู้ชนะครั้งสุดท้ายหรือวัน Demo Day ทั้ง 12 จะขึ้นมา pitching บนเวที โดยมีเวลาทีมละ 5 นาที พร้อกับตอบคำถามกรรมการอีก 10 นาที

ส่วนเกณฑ์การให้คะแนนเป็นไปดังนี้
1. การเติบโตของธุรกิจ : ในช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตของธุรกิจมากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยๆ การเข้าร่วมกับ Dtac accelerate รอบนี้เป็นเวลากว่า 4 เดือน จะต้องเห็นผลบางประการบ้าง
2. สถานการณ์ของตลาด : ธุรกิจที่ทำตอบโจทย์ของตลาดหรือไม่ เพราะธุรกิจที่ดีไม่ใช่แค่ไอเดียและการจัดการเท่านั้น แต่คือจังหวะของการส่งธุรกิจที่ต้องตอบโจทย์ตลาดด้วย
3. ศักยภาพของทีมงาน : ข้อนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการประสบความสำเร็จของสตาร์ทอัพหรือธุรกิจใดๆ ทีมงานเบื้องหลังที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพคือหัวใจของการไปถึงจุดหมาย

ทีมไหนทำได้ตามนี้ โอกาสที่จะชนะก็มีสูง ส่วนการชนะในเวทีนี้ (ที่จริงจะมี 3 ทีมตามได้ที่ประกาศไว้) Dtac จะส่งผู้ชนะไปร่วมงานในสถานที่ต่างๆ เพื่ออัพเกรดธุรกิจของสตาร์ทอัพของตนเอง และนี่คือโฉมหน้าผู้ชนะทั้ง 3 ทีม

Indie Dish

Indie Dish สตาร์ทอัพรวมอาหารสุขภาพพร้อมส่ง

Indie Dish เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพผู้ชนะของ dtac Accelerate batch 5 โดยรางวัลคือ จะได้ไปเข้าร่วมกับ ทีม Google Developper Launchpad ที่สิงคโปร์เพื่อหาประสบการณ์และความรู้เพิ่มเติม

ส่วนตัวธุรกิจของ Indie Dish มีความน่าสนใจคือ เป็นแพลตฟอร์มรวมรายการอาหารสุขภาพทั้งข้าวกล่อง น้ำผลไม้ และอีกมากมายส่งไปบริการกันแบบ Delivery ส่งทั่วกรุงเทพและปริมณฑล และมีร้านค้าอยู่บนแอพพลิเคชั่นกว่า 70 ร้าน (รวบรวมมาจากร้านขายอาหารสุขภาพบนออนไลน์อยู่แล้ว แต่ Indie Dish เข้ามาช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น เพราะดูแลระบบหลังบ้านให้)

วิเคราะห์ดูแล้ว การตัดสินให้ Indie Dish เป็นหนึ่งในผู้ชนะในครั้งนี้น่าจะมาจากการเติบโตของธุรกิจที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงหลังอย่างมาก เพราะกระแสรักสุขภาพยังไม่ตก ตลาดยังไปต่อได้อีกไกล แถมทีมงานผู้ก่อตั้งแต่ละคนโปรไฟล์อลังการมาก บางคนเคยทำงานด้านดีไซน์ใน Starbucks กว่า 8 ปี และบางคนเคยทำงานที่ Amazon มากว่า 15 ปี

ส่วนใครที่สนใจสตาร์ทอัพรายนี้ไปดูกันได้ที่ Indie Dish ส่วนรายละเอียดเต็มๆ Brand Inside ได้สัมภาษณ์ Indie Dish แบบ Exclusive ไว้เรียบร้อยแล้ว ติดตามอ่านกันได้

Seekster

Seekster สตาร์ทอัพส่งบริการทำความสะอาดตามบ้าน

อีกหนึ่งผู้ชนะบนเวที dtac Accelerate batch 5 คือ Seekster สตาร์ทอัพที่ส่งแพลตฟอร์มบริการทำความสะอาดและซ่อมแซมบ้าน โมเดลธุรกิจคือรวบรวมแม่บ้านทำความสะอาดและช่างไว้กว่า 3,000 คน แล้วใครที่ต้องการใช้บริการก็เรียกผ่านแอพพลิเคชั่น แต่โดยส่วนใหญ่ทำการดีลแบบ B2B มากกว่า คือให้บริการกับองค์กรธุรกิจใหญ่ๆ ตอนนี้ถึงขั้นไปดีลกับ Ananda Group เพื่อส่งบริการตัวนี้ช่วยจัดการในโครงการต่างๆ ได้ ก็ถือว่าไม่ธรรมดาเลย

ส่วนรางวัลของทีมนี้คือการได้ไปเข้าร่วมงาน Web Summit ที่โปรตุเกส ส่วนใครที่สนใจบริการทำความสะอาดของสตาร์ทอัพไทยรายนี้ ลองเข้าไปดูหรือเข้าไปใช้บริการกันได้ที่ Seekster

Tourkrub

Tourkrub สตาร์ทอัพรวบรวมแพ็คเก็จทัวร์จากบริษัทต่างๆ

สตาร์ทอัพผู้ชนะรายนี้คือ แพลตฟอร์มรวบรวมแพ็คเก็จจากบริษัททัวร์ แล้วนำแพ็คเก็จเหล่านั้นมาขึ้นบนเว็บไซต์ให้ลูกค้าเลือก ไฮท์ไลท์คือลูกค้าจะสามารถเลือกทัวร์ได้อย่างหลากหลาย เพราะ Tourkrub บอกว่า 75% ของตลาดขายแพ็คเก็จทัวร์ถูกรวบรวมมาอยู่บนแพลตฟอร์มของเขาเองหมดแล้ว พร้อมทั้งบอกว่าจองแล้วไม่ถูกยกเลิกแน่นอน เนื่องจากมีการจัดการระบบอย่างดีเช็คประวัติย้อนหลังกว่า 5 ปี

Tourkrub วางแผนจะกระโดดเข้าไปเล่นในตลาดที่ใหญ่ขึ้น ด้วยการเตรียมขยายแพลตฟอร์มเพื่อลุยตลาดต่างประเทศ เสริมสร้างระบบให้ใหญ่ขึ้นเพื่อครองตลาดทัวร์ให้ได้ทั้งหมด เพราะเชื่อไทยจะกลายเป็น Hub ของภูมิภาคนี้ในการท่องเที่ยว อย่างตอนนี้หลายประเทศก็อยากใช้บริการของ Tourkrub มากขึ้น เช่น พม่าและลาว

ส่วนรางวัลของทีมนี้คือ ได้ไปร่วมงาน Digital Winner ที่สิงคโปร์ ส่วนใครสนใจสตาร์ทอัพรายนี้ก็ไปดูกันได้ที่ Tourkrub

อย่างไรก็ตาม 3 ทีมด้านบนได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการโดยดูผลงานจากการขึ้นมา pitching บนเวที แต่ในงานมีรางวัลพิเศษจากเมืองไทยประกันชีวิตที่ได้มอบให้กับ Ricult สตาร์ทอัพสาย Agritech รายเดียวในงานนี้

Ricult

Ricult สตาร์ทอัพสาย Agritech ได้รางวัลพิเศษจากเมืองไทยประกันชีวิต

แม้ว่าจะไม่ได้รางวัลจากในงานแบบตรงๆ แต่ Ricult ได้รางวัลจากเมืองไทยประกันชีวิต เป็นรางวัลพิเศษที่มอบให้กับทีมที่มองว่ามีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจในอนาคต จริงๆ ก็จะเห็นได้ว่า Ricult เป็นสตาร์ทอัพรายเดียวที่ทำเรื่องการเกษตร ช่วยเหลือเกษตรกร ด้วยการช่วยเพิ่มผลผลิตจากการใช้ Machine Learning มาวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ

ทำให้ตอนนี้เกษตรกรหลายรายที่เข้ามาใช้บริการของ Ricult แทบจะไม่ต้องฟังคำพยากรณ์ของกรมอุตุฯ เลยด้วยซ้ำ ส่วนรางวัลที่ได้คือ ไปเข้าร่วมงาน TechCrunch ที่ซานฟรานซิสโก ส่วนใครที่สนใจสตาร์ทอัพรายนี้ไปดูได้ที่ Ricult

แต่ตอนจบงาน ไม่หมดแค่นั้น เพราะทั้ง 12 ทีม ยังได้รางวัลพิเศษจาก อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย โดยแจก LINE Ads คือเป็นช่องทางที่สตาร์ทอัพทั้ง 12 รายนี้จะสามารถไปโฆษณาตัวเองผ่านช่องทางของ LINE เห็นว่ากันว่ามูลค่าของผลิตภัณฑ์ตัวนี้จะตกอยู่ที่หลักล้านบาท ก็ไม่แน่ว่ารายไหนที่ได้ไปอาจทำให้บริการส่งถึงผู้บริโภคมากขึ้นหรือมากกว่าทีมที่ชนะก็เป็นได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา