ดอนเมืองโทลล์เวย์ รายได้ยังไม่ฟื้น เหตุผู้ใช้บริการน้อยกว่าช่วงก่อนโควิด-19 เกือบครึ่งหนึ่ง

บมจ. ทางยกระดับดอนเมือง หรือ ดอนเมืองโทลล์เวย์ แจ้งการใช้บริการไตรมาส 1 ปี 2565 เฉลี่ยที่ 68,100 คัน/วัน น้อยกว่าไตรมาสก่อนหน้านี้ที่มี 72,300 คัน/วัน และน้อยกว่าเกือบครึ่งเมื่อเทียบช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาด

นอกจากนี้จำนวนใช้บริการที่ลดลงยังส่งผลถึงรายได้ในไตรมาส 1 ปี 2565 เหลือ 355 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนทำได้ 385 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิทำได้ 144 ล้านบาท น้อยกว่า 156 ล้านบาทในไตรมาสก่อน

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ผู้บริโภคเริ่มกลับมาทำงานเหมือนปกติ สังเกตจากสภาพการจราจรที่ตัดขัดบ่อยครั้งมาตั้งแต่ต้นปี แล้วทำไม ดอนเมืองโทลล์เวย์ ถึงไม่เติบโตตามกระแสเปิดเมืองบ้างล่ะ?

ดอนเมืองโทลล์เวย์

ดอนเมืองโทลล์เวย์ โทษโควิด-19 และเศรษฐกิจซบ

อ้างอิงจากเอกสารการพบปะนักลงทุนของ ดอนเมืองโทลล์เวย์ พบว่า การที่รายได้ และจำนวนผู้ใช้บริการลดน้อยลงมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังสร้างปัญหาในการใช้ชีวิต และสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลถึงการลดลงของกำไรสุทธิเช่นกัน

ที่สำคัญตัวเลขข้างต้นยังน้อยกว่าไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ทำได้ 383 ล้านบาท ผ่านจำนวนรถยนต์ใช้งานเฉลี่ย 73,200 คัน/วัน และหากเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 หรือช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาดในประเทศไทย เวลานั้น ดอนเมืองโทลล์เวย์ ทำรายได้ 608 ล้านบาท ผ่านรถยนต์ใช้งานเฉลี่ย 1.12 แสนคัน/วัน

ทั้งนี้ ดอนเมืองโทลล์เวย์ เปิดเผยตัวเลขการใช้งานระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-20 พ.ค. 2565 เฉลี่ย 72,200 คัน/วัน เนื่องจากการเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติของคนวัยทำงาน รวมถึงการที่โรงเรียนต่าง ๆ เริ่มเปิดเรียน แต่ตัวเลขนี้ยังน้อยกว่าช่วงก่อนหน้าโรคโควิด-19 ระบาด

ดอนเมืองโทลล์เวย์

คิดใหม่ ทำใหม่ กระตุ้นยอดการใช้งานกลับมา

ในทางกลับกัน ดอนเมืองโทลล์เวย์ ไม่ได้รอให้สถานการณ์ต่าง ๆ กลับมาเป็นปกติ แต่ยังปรับปรุงการให้บริการ เช่น การลงทุนระบบบริหารจัดการจราจรใหม่, การเปิดรับชำระค่าบริการด้วยการแตะบัตรเครดิต, Easy Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และใช้ M-Pass ของกรมทางหลวง

ทั้งยังสร้างแพลตฟอร์มลูกค้าสัมพันธ์เพื่อให้ข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ใช้ทาง และจะทำ Tollway EV Way เส้นทางพิเศษสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อตอบโจทย์นโยบายการเปลี่ยนองค์กรไปสู่ Net Zero Emission ภายในปี 2608 อาจจะค่อนข้างนานเมื่อเทียบกับองค์กรอื่น ๆ ที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ปี 2593 เป็นอย่างช้า

เมื่อประกอบกับปัจจัยบวกหลังจากนี้ เช่น การลดความเข้มงวดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ การเปิดให้บริการของระบบขนส่งทางรางที่วิ่งคู่ขนานกับเส้นทางของ ดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วยสร้างโอกาสเพิ่มจำนวนรถยนต์ใช้บริการกลับมามากขึ้น

ดอนเมืองโทลล์เวย์

ราคาสูงทำผู้ใช้ต้องทำใจก่อนใช้บริการ

อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกข้างต้นอาจถูกหักออกด้วยปัจจัยลบสำคัญคือ ราคาค่าผ่านทาง เพราะเมื่อปี 2562 ทางบริษัทประกาศขึ้นราคาตามสัญญาสัมปทาน ทำให้ราคาช่วงดินแดง-ดอนเมืองเริ่มต้นที่ 80 บาท สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ เรียกว่าผู้ใช้บริการต้องทำใจก่อนขึ้นใช้เส้นทางพิเศษระยะทาง 21 กม. ก็ไม่แปลก

ที่น่าสนใจคือราคานี้จะใช้ตั้งแต่วันนที่ 22 ธ.ค. 2562-21 ธ.ค. 2567 และหลังจากนั้นจะปรับราคาขึ้นอีกครั้งตามสัญญาสัมปทาน โดยช่วงแรกที่เปิดให้บริการในปี 2532-2540 ดอนเมืองโทลล์เวย์ เคยคิดค่าบริการที่ 10-20 บาท ตามระยะทาง หรือระยะเวลา 30 กว่าปี ราคาค่าผ่านทางขึ้นมา 8 เท่า

เพื่อการเพิ่มโอกาสรายได้ ดอนเมืองโทลล์เวย์ เตรียมเข้าประมูลการทำโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ Intercity Motorway ที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 เช่น เส้นทางดอนเมืองโทลล์เวย์-บางปะอิน-เชียงราย, กาญจนาภิเษก-ปากท่อ และเส้นทางภูเก็ตระหว่างกะทู้-ป่าตอง ซึ่งทั้งหมดนี้จะทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2568

ดอนเมืองโทลล์เวย์

สรุป

จากข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ดอนเมืองโทลล์เวย์ ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะยอดผู้ใช้งานยังลดลง และต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดอีกมาก ยิ่งผสานกับค่าผ่านทางที่สูง ทำให้การตัดสินใจใช้งานของผู้ขับขี่ก็ยากกว่าเดิม และส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ขอขับข้างล่างดีกว่า

ก่อนหน้านี้ Brand Inside เคยรายงานว่า บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM เจ้าของทางด่วนในเมืองต่าง ๆ ก็อาการหนักไม่แพ้กัน

อ้างอิง // เอกสารพบปะนักลงทุนของดอนเมืองโทลล์เวย์, ดอนเมืองโทลล์เวย์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา