[สรุป] กรมสรรพากรได้ข้อมูลภาษีดอกเบี้ยเงินฝากทุกคน ว่าแต่ฝากเงินอย่างไรไม่เสียภาษี

เมื่อกรมสรรพากรใจดีให้ประชาชนเลือกว่าจะส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้สรรพากรไหม? แต่ถ้าเลือกไม่ให้ข้อมูลต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากตั้งแต่บาทแรก

ว่าแต่ย้ายไปฝากเงินที่ไหนดี?

ไม่ว่าประชาชนยินยอมให้ส่งข้อมูลหรือไม่ กรมสรรพกรก็ได้ข้อมูลทั้งหมด

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร บอกว่า จากการหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย (TBA) สมาคมธนาคารนานาชาติ และมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมสังเกตการณ์ สรุปแนวทางนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้กรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ประชาชนได้สิทธิ์ยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก (จากเดิมที่ต้องไปเซ็นยินยอมให้ส่งข้อมูล) ส่วนใครที่ไม่ยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากรต้องแจ้งกับทางธนาคาร โดยธนาคารนั้นจะหักภาษีฯ ณ ที่จ่าย 15% ตั้งแต่บาทแรก ทำให้ถูกนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร ในรูปแบบ พ.ง.ด. 2 อยู่ดี

“เรื่องนี้มีแต่ Win-Win เพราะกรมสรรพากรได้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ แบงก์อำนวยความสะดวกไม่ต้องกรอกเอกสาร ผู้ฝากเงินไม่ต้องลืมสิทธิ์ที่ลดหย่อนภาษีฯ หลายคนกลัวเรื่องการส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร แต่ไม่ต้องกังวลหรอก เพราะสรรพากรมีข้อมูลมากกว่านี้เยอะ การส่งข้อมูลภาษีดอกเบี้ยเงินฝากเป็นส่วนหนึ่ง”

พัดชา พงศ์กีรติยุต ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ กรมสรรพากร บอกว่า สิ่งที่สรรพากรดูอย่างเดียวคือเงินได้ (รายได้)  และที่จริงสรรพากรมีข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากของประชาชนอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีข้อมูลธุรกรรมอื่นๆ

“ก่อนหน้านี้กรมสรรพากรให้เลือกว่าจะส่งข้อมูลเป็นกระดาษ หรืออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แล้วให้ส่งไปที่พื้นที่ และไม่ได้เอาข้อมูลท้องที่อื่นมารวมด้วย อาจไม่เป็นธรรมต่อบางคน เราเลยมองว่าต้องทำทั้งหมด ดังนั้นประกาศนี้คือเปลี่ยนวิธีส่งเท่านั้น”

แหล่งข่าวจากสมาคมธนาคารไทย บอกว่า การนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรรอบนี้ ลูกค้าที่ยินยอมให้ส่งข้อมูลไม่ต้องมาเซ็นเอกสารแสดงเจตจำนง แต่หาก พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลของไทยออกมาธนาคารต้องหาวิธีการใหม่เพื่อขอ Consent จากลูกค้าเพื่อนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรให้ถูกต้อง

ไม่เสียภาษีดอกเบี้ยฯ! เปิดบัญชีปลอดภาษี-ซื้อสลากออมสิน-สลากธ.ก.ส. ได้

อย่างไรก็ตามหากไม่ต้องการเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ได้แก่
1. ยินยอมให้ข้อมูลกับสรรพากร (กรณีดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาทต่อปี)
2. ใช้บัญชีเงินฝากปลอดภาษีประชาชน 1 คน (มีได้ 1 บัญชี) เช่น ฝากประจำ 24 เดือน ไม่เกินเดือนละ 25,000 บาท
3.การซื้อสลากออมสิน (ปีนี้เตรียมออกสลากชุดใหม่ยาว 1 ปี) หรือ สลากออมทรัพย์ธ.ก.ส. (วันที่ 17 พ.ค. 2562 เตรียมออกขายสลากฯ ชุดเกษตรกรมั่งคั่ง 4 ราคาหน่วยละ 100 บาท ฝาก 3 ปี รางวัลสูงสุด 15 ล้านบาท)
4. การลงทุนอื่นๆ (ซึ่งอาจจะเสียภาษีด้านอื่นๆ เช่น ซื้อบ้านเสียภาษีที่ดิน ลงทุนกองทุนรวม รายได้ที่เพิ่มขึ้นก็ไปรวมกับเกณฑ์ภาษีบุคคลธรรมดา ฯลฯ)

การที่กรมสรรพากรเปลี่ยนเกณฑ์ให้คนที่ไม่ยินยอมมาแสดงตัวกับธนาคาร และคนยินยอมส่งข้อมูลอยู่เฉยๆ ถือว่าขัดกับหลักการด้านข้อมูลส่วนบุคคลสากล เพราะเจ้าของข้อมูลควรรู้ตัวว่าข้อมูลถูกใช้อย่างไร ทั้งนี้ต้องรอดูนิยาม “ข้อมูลส่วนบุคคล” ในพ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล และ “ขอบเขตอำนาจของกรมสรรพากร” ว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร

สรุป

เมื่อหน้าที่ของสรรพากรคือการจัดเก้บภาษีให้ได้ตามที่วางไว้ ย่อมต้องทำงานให้เต็มที่ ส่วนเกณฑ์ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากล่าสุดที่ออกมาจะใช้กับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ รวมถึงดอกเบี้ยที่ได้จากบัญชีเงินฝากสกุลต่างประเทศ (FCD) แต่จะแยกกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ (ที่หักภาษี ณ ที่จ่ายอยู่แล้ว)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา